รีเซต

ซีไอเอ็มบีไทย ปรับคาดการณ์จีดีพีปีนี้ โต 1.1% เชื่อปีหน้ากำลังซื้อระดับล่างกลับมา

ซีไอเอ็มบีไทย ปรับคาดการณ์จีดีพีปีนี้ โต 1.1% เชื่อปีหน้ากำลังซื้อระดับล่างกลับมา
มติชน
25 พฤศจิกายน 2564 ( 20:08 )
80
ซีไอเอ็มบีไทย ปรับคาดการณ์จีดีพีปีนี้ โต 1.1% เชื่อปีหน้ากำลังซื้อระดับล่างกลับมา

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 จาก 0.4% เป็น 1.1% และปี 2565 จาก 3.2% เป็น 3.8% รับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาสสามที่ดีกว่าคาด จากปัญหาภาวะอุปทานชะงักงันในโรงงานที่ไม่รุนแรงและกำลังคลี่คลาย และการควบคุมการระบาดโควิดในประเทศที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมรับโอกาสทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นหลังการเปิดเมืองและเปิดรับการท่องเที่ยว

 

เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะฟื้นตัวได้ดีกว่าปีนี้ต้องอาศัย 3 ปัจจัยสนับสนุนรับเสือหมอบ ปัจจัยแรก คือการส่งออก ที่คาดว่าจะเติบโตได้ 4.7% หลังจากที่พลเมืองในหลายประเทศได้รับการฉีดวัคซีน มีการเปิดเมือง กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มเร่งขึ้นอีกครั้ง แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำ ส่วนภาคการผลิตของไทยไม่ได้มีปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงันรุนแรง สามารถบริหารจัดการแรงงานที่ติดเชื้อโควิดและคัดแยกแรงงานกลุ่มเสี่ยงไม่ให้กระทบแรงงานส่วนใหญ่ได้ดี กำลังการผลิตเร่งขึ้นได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งภาคอุปสงค์และอุปทานด้านการส่งออกของไทยในปีหน้า

 

ปัจจัยที่สอง คือการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาราว 5.1 ล้านคน นับว่าฟื้นตัวดีขึ้นหลังการเปิดประเทศและลดข้อจำกัดด้านการกักตัวของนักท่องเที่ยว คาดว่าส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากกลุ่มประเทศที่เปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัวเช่นกัน เพื่อลดความยุ่งยากหากนักท่องเที่ยวต้องกักตัวหลังเดินทางกลับจากไทย ดังนั้น การเข้ามาของนักท่องเที่ยวช่วงครึ่งปีหลังจะเร่งให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวชัดเจนและกระจายตัวได้ดีขึ้น

 

ปัจจัยที่สาม คือกำลังซื้อระดับกลาง-บน ที่เริ่มเห็นสัญญาณการใช้จ่ายหลังเปิดเมือง การที่ไทยไม่มีปัญหาการว่างงานสูง แต่คนระมัดระวังการใช้จ่ายเพราะขาดความเชื่อมั่นในความมั่นคงของงาน ดังนั้น เมื่อมีการเปิดเมือง กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มคึกคัก คนจะเริ่มจับจ่ายใช้สอย และนำเงินออมออกมาใช้มากขึ้น กลุ่มที่จะฟื้นตัวได้เร็วได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ร้านอาหาร โรงแรมและกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชื่อว่าหลังมีการกระจายวัคซีนที่ดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มมากขึ้น กำลังซื้อระดับกลาง-ล่างจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรปีหน้ายังอยู่ระดับสูงและปริมาณน้ำที่มากกว่าปีนี้น่าจะสนับสนุนผลผลิตให้มากขึ้นและทำให้รายได้ภาคเกษตรสูงขึ้นปีหน้า

 

อย่างไรก็ตามก็มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะสะดุดจาก 3 ปัจจัยเสี่ยงระวังภัยเสือร้ายต่อไปนี้ ปัจจัยแรก คือการระบาดของโควิดรอบใหม่ ทั้งในไทยและประเทศคู่ค้าสำคัญ ที่จะกระทบกำลังซื้อของคนในประเทศ การส่งออกและการท่องเที่ยว แม้ไทยและอีกหลายประเทศจะไม่ล็อกดาวน์ แต่จะกระทบความเชื่อมั่น การบริโภค และกระทบห่วงโซ่อุปทานให้ภาคการผลิตหยุดชะงักได้

 

ปัจจัยที่สอง คือสงครามการค้า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนยังคงดำเนินต่อไปในปี 2565 ถ้าปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้น บรรยากาศการค้าโลกรวมทั้งความต้องการสินค้าจากไทยไปจีนและอาเซียนจะได้รับผลกระทบดังเช่นในอดีต แม้ไทยจะยังสามารถส่งออกสินค้าไปสหรัฐได้ดี แต่ก็ไม่น่าจะชดเชยการส่งออกที่ลดลงในภูมิภาคได้

 

ปัจจัยที่สาม คือปัญหาเงินเฟ้อ หรือค่าครองชีพของคนไทยที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมัน อาหารสด และต้นทุนภาคการผลิตอื่นๆ แม้เงินเฟ้อปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ราว 1.9% และราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยที่ 67 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่หากเกิดปัญหาอุปทานชะงักงันในภาคการผลิตในจีน หรือราคาวัตถุดิบอื่นๆ พุ่งขึ้นเร็ว อัตราเงินเฟ้อของไทยอาจเร่งขึ้นได้อีก ซึ่งราคาสินค้าที่สูงจะกระทบกำลังซื้อของคนรายได้น้อยมากกว่าคนรายได้สูง แนวทางแก้ปัญหาเงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่มาตรการทางการคลังด้วยการลดค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อย แต่ไม่น่าจะเป็นการหว่านแหด้วยการลดราคาสินค้าหรือใช้เงินรัฐในการอุดหนุนทุกอย่าง เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจฟื้น กำลังซื้อคนระดับกลาง-บนดีขึ้น รัฐบาลน่าจะสามารถเยียวยาเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง