รีเซต

เตือนภัย เมื่อ “มิจฉาชีพ” ใช้กลลวง หลอกลงทุน ปลอมเป็นตำรวจ ข่มขู่เหยื่อ

เตือนภัย เมื่อ “มิจฉาชีพ” ใช้กลลวง หลอกลงทุน ปลอมเป็นตำรวจ ข่มขู่เหยื่อ
TNN ช่อง16
14 มกราคม 2568 ( 12:48 )
16

ปัจจุบันอาชญากรรมบนโลกออนไลน์ โดยมิจฉาชีพเหลานี้ใช้เทคโนโลยีเพื่อหลอกเหยื่อให้หลงกลแล้วได้เงินมาแบบง่ายๆ  เป็นภัยร้ายใกล้ตัวเพียงแค่ปลายนิ้ว เพียงแค่เปิดคอมพิวเตอร์หรือใช้งานอินเทอร์เน็ต ก็อาจจะตกเป็นเหยื่อจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้โดยไม่รู้ตัว


ในช่วงวันที่ 6 – 12 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้รายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส โดยนางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง ได้เปิดเผยรานละเอียด ตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ ไว้ดังนี้


ตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์


คดีที่ 1 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 

มูลค่าความเสียหาย 10,693,723 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook ชักชวนทำงานหารายได้พิเศษ เป็นการกดถูกใจเพจเพื่อรับค่าตอบแทน จากนั้นจึงเพิ่มเพื่อนทาง Line และทำตามขั้นตอนที่มิจฉาชีพแนะนำ เมื่อต้องการถอนเงินได้รับเงินจริง ต่อมามิจฉาชีพได้มีการชักชวนให้ทำกิจกรรมโอนเงินเพื่อรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป แต่เมื่อต้องการจะถอนเงิน มิจฉาชีพแจ้งว่ายังโอนไม่ครบตามกติกา จึงโอนเงินไปจนครบแล้วก็ยังไม่สามารถถอนเงินได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก 


คดีที่ 2 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 

มูลค่าความเสียหาย 3,247,521 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณาเชิญชวนเทรดหุ้นผ่านช่องทาง Facebook ผู้เสียหายสนใจจึงเพิ่มเพื่อนทาง Line เพื่อสอบถามรายละเอียด ต่อมามีการดึงเข้า Group Line และให้ติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อเทรดหุ้น ในช่วงแรกสามารถถอนเงินจากระบบได้ ผู้เสียหายจึงโอนเงินเพิ่มและเทรดหุ้นได้จำนวนมากขึ้นแต่ไม่สามารถถอนเงินได้ มิจฉาชีพอ้างว่ายังเทรดหุ้นไม่ครบตามระยะเวลาที่กำหนด ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก 


คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 

มูลค่าความเสียหาย 3,161,275 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณาเชิญชวนเทรดหุ้นผ่านช่องทาง Facebook ผู้เสียหายสนใจจึงเพิ่มเพื่อนทาง Line เพื่อสอบถามรายละเอียด มิจฉาชีพแนะนำและสอนขั้นตอนวิธีการเทรดหุ้นต่างๆ ให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงโอนเงินเพื่อเริ่มเทรดหุ้น แต่ไม่สามารถถอนเงินได้ มิจฉาชีพอ้างว่ายังเทรดไม่ถึงยอดที่สามารถถอนได้ ผู้เสียหายจึงโอนเงินเทรดหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่สามารถถอนเงินได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก 


คดีที่ 4 คดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) 

มูลค่าความเสียหาย 1,700,000 บาท ทั้งนี้ ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แจ้งว่าผู้เสียหายทำการขายบัญชีม้า โดยให้บุคคลอื่นทำการเปิดบัญชีเป็นความผิดกฎหมายอาญา แจ้งขอตรวจสอบเส้นทางการเงินในบัญชี หากไม่ให้ความร่วมมือจะมีความผิดตามกฎหมาย โดยให้โอนเงินทั้งหมดในบัญชีแล้วส่งหลักฐานการโอนให้ทาง Line หากตรวจสอบแล้วไม่พบการกระทำความผิดจะโอนเงินคืนให้พร้อมเงินชดเชยค่าเสียหายต่างๆ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงให้ความร่วมมือและโอนเงินไป ภายหลังการโอนเงินเสร็จไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก


คดีที่ 5 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ 

มูลค่าความเสียหาย 1,399,857 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างติดต่อจาก Flash Express แจ้งว่าพัสดุของตนเสียหาย จะทำการชดเชยค่าเสียหายให้ จากนั้นให้เพิ่มเพื่อนทาง Line และส่ง Link ให้สแกน QR Code ทำตามขั้นตอนจนถึงการสแกนใบหน้า พบว่าเงินถูกโอนออกจากบัญชีทั้งหมด ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 20,202,376 บาท


ตัวเลขสถิติผลการดำเนินงาน


ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 10 มกราคม 2568 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงาน ดังนี้


1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,375,908 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,149 สาย

2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 469,810 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,186 บัญชี

3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 143,854 บัญชี คิด เป็นร้อยละ 30.62 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 111,947 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 23.83 (3) หลอกลวงลงทุน 68,776 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.64 (4) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 43,861 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 9.34 (5) หลอกลวงให้กู้เงิน 35,342 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.52 (และคดีอื่นๆ 66,030 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.05) 


วิธีการหลอกลวงผู้เสียหาย


จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพ ใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหาย ด้วยการหลอกให้ลงทุนเพื่อหารายได้พิเศษ ติดตั้งแอปพลิเคชัน หรือพบโฆษณาหลอกลวงเชิญชวนเทรดหุ้น ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย คือ Facebook และเพิ่มเพื่อนทาง Line รวมทั้งหลอกลวงผู้เสียหาย ผ่านทางโทรศัพท์ อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจข่มขู่ ผู้เสียหายเกี่ยวกับการขายบัญชีม้า 


ทั้งนี้ขอย้ำว่า การลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ และความปลอดภัย ต่อการถูกหลอกลวง ด้านกรณีการลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง 


ตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนให้ข้อมูลส่วนบุคคล 


ดังนั้นขอให้สอบถามรายละเอียดให้แน่ชัดก่อนให้ข้อมูลส่วนบุคคล และทำการเพิ่มเพื่อนหรือดำเนินการใดๆ ในโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ ควรตรวจสอบการลงทุนในธุรกิจต่างๆ อย่างรอบคอบ และติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง 


อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ 


กระทรวง ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง



ภาพจาก AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง