เปิดความอันตราย "โอไมครอน" โควิดสายพันธุ์ใหม่ ไทยพร้อมรับมือหรือยัง?
"โอไมครอน" โควิดสายพันธุ์ใหม่ ที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง พร้อมผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด B.1.1.529 เนื่องจากได้มีการวิเคราะห์ว่า อาจจะเป็นสายพันธุ์โควิด-19 ที่อันตรายที่สุด แพร่เชื้อรวดเร็วที่สุด แม้ยังไม่สามารถระบุอาการโควิดโอไมครอนได้ชัดเจนขณะนี้ แต่ความไวของการติดเชื้อนั้น ทำให้หลายประเทศออกมาตรการห้ามประเทศแถบแอฟริกาใต้เข้าราชอาณาจักร เพื่อสกัดโควิดโอไมครอน
วันนี้ TrueID จึงมาสรุปข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวกับ "โอไมครอน" โควิดสายพันธุ์ใหม่ ที่เราต้องเตรียมรับมือให้พร้อม ก่อนจะเข้ามาถึงประเทศไทย พร้อมเปิดความอันตรายที่นักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ ขนานนามให้เป็น โควิดที่อันตรายที่สุด
รู้จักโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน"
- มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “B.1.1.529” ชื่อสามัญว่า “โอไมครอน” (Omicron)
- มีการกลายพันธุ์ไปกว่า 50 ตำแหน่ง และมี 32 ตำแหน่งกลายพันธุ์บนหนามโปรตีน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ ที่จะจับกับเซลล์มนุษย์และเข้าไปทำอันตราย
- มีการกลายพันธุ์ที่เอนไซม์ที่ทำหน้าที่ให้ติดเชื้อ (Furin Cleavage Site) ถึง 2 จุด คือจุด P681H แบบที่พบในสายพันธุ์อัลฟา มิว แกมมาและ B.1.1.318 และจุด N679K เหมือน C.1.2 ไวรัสกลายพันธุ์ในแอฟริกา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่พบการกลายพันธุ์ 2 จุดในเชื้อตัวเดียว
- พบครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ประเทศบอตสวานา จากนั้นได้ตรวจพบอีก 74 รายในประเทศแอฟริกาใต้ตรวจพบ 2 รายเป็นผู้เดินทางเข้าประเทศฮ่องกงซึ่งบางรายที่ตรวจพบสายพันธุ์ดังกล่าวได้รับวัคซีนครบแล้ว
- องค์การอนามัยโลกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล หรือ Variants of Concern ตัวล่าสุด
- สาธารณสุขของแอฟริกาใต้ ระบุว่า โอไมครอน เกิดขึ้นมาจาก "คนไข้คนหนึ่ง" ที่ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสในร่างกายของตัวเองได้ จนทำให้มันเกิดการกลายพันธุ์ขึ้น
- วิธีการตรวจด้วยด้วย RT- PCR ไม่ว่าจะเป็นทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกยังคงตรวจหาเชื้อโอไมครอนได้และมีความเป็นได้น้อยมาก เพียง 2 ใน 400 เท่านั้นที่ชุดน้ำยาตรวจจะหาเชื้อโอไมครอนไม่เจอ
โควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" อันตรายแค่ไหน?
- สายพันธุ์นี้เสี่ยงทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ ทำให้คนที่ติดโควิดและหายแล้ว กลับมาป่วยอีกได้
- เชื้อที่แพร่ได้รวดเร็ว เนื่องจากมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งมากกว่าสายพันธุ์เดลต้า 2 เท่า
- อาจจะหลบภูมิคุ้มกันที่ได้มาจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดพอสมควร
- มีแนวโน้มว่าวัคซีนที่มีในปัจจุบันทุกชนิดจะด้อยประสิทธิภาพ หรือป้องกันไม่ได้เลย
- เชื้อตัวนี้อาจจะเกิดการกลายพันธุ์ซ้ำซ้อนระหว่างการติดเชื้อเรื้อรังในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
โควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" แพร่เร็วกว่าเดลต้า
ไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ B.1.1.529 "โอไมครอน" ตรวจพบว่ามีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งหนามมากถึง 32 ตำแหน่ง ในขณะที่ไวรัสสายพันธุ์เดลต้า กลายพันธุ์ที่ส่วนหนามเพียง 9 ตำแหน่ง ทำให้ไวรัสสายพันธุ์ใหม่โอไมครอนมีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมที่ตำแหน่งหนามมากกว่าเดลต้าถึง 3.5 เท่า
อาการโควิด "โอไมครอน"
แพทย์หญิงแองเจลีค คุตซี ประธานสมาคมการแพทย์แห่งแอฟริกาใต้ ระบุว่า มีอาการที่ไม่รุนแรงนัก โดยมีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย และปวดศีรษะเป็นเวลา 2 วัน แต่ไม่ได้สูญเสียการรับกลิ่นและรส รวมถึงระดับออกซิเจนในร่างกายไม่ได้ลดลงมาก ซึ่งแตกต่างจากผู้ป่วยด้วยเชื้อโควิดเดลต้า
18 ประเทศ/พื้นที่ ยืนยันพบเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน
1. บอตสวานา 2. เอสวาตินี 3. เลโซโท 4. มาลาวี 5. โมซัมบิก 6. นามิเบีย 7. แอฟริกาใต้ 8. ซิมบับเว 9. อิตาลี 10. เยอรมนี 11. เนเธอร์แลนด์ 12. อังกฤษ 13. เบลเยียม 14. สาธารณรัฐเช็ก 15. เดนมาร์ก 16. ฮ่องกง 17. อิสราเอล 18. ออสเตรเลีย
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทางระบาดวิทยา ลักษณะการระบาด ความรุนแรงของโรค ความเร็วการแพร่กระจายเชื้อ หรือความสามารถหลบเลี่ยงวัคซีนและยา ของสายพันธุ์โอไมครอน ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน เพราะเป็นสายพันธุ์ใหม่ ที่ทั่วโลกกำลังร่วมกันจับตา แต่สิ่งที่น่ากังวล การกลายพันธุ์ ที่ทำให้เชื้อสามารถแพร่ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นกว่าสายพันธุ์อื่นๆ
ไทยเตรียมรับมือโควิด "โอไมครอน" อย่างไร
1.ไม่อนุญาตให้ผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยง 8 ประเทศในทวีปแอฟริกา ได้แก่ สาธารณรัฐบอตสวานา , ราชอาณาจักรเอสวาตินี , ราชอาณาจักรเลโซโท , สาธารณรัฐมาลาวี , สาธารณรัฐโมซัมบิก , สาธารณรัฐนามิเบีย , สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ และสาธารณรัฐซิมบับเว เข้าประเทศ ตั้งแต่วันนี้ (27 พฤศจิกายน) เป็นต้นไป
ส่วนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางก่อนหน้านี้ จะให้กักตัว 14 วันทุกราย ไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมนอกห้องพัก และตรวจทางห้องปฏิบัติการ 3 ครั้ง คือ วันที่ 0 -1 , 5-6 และ 12-13 หากไม่พบเชื้อจึงอนุญาตให้ออกมาได้ นอกจากนี้ ยังจับตาประเทศอื่นๆ ที่อาจตรวจพบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์นี้ได้
2.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กำลังพัฒนาน้ำยาตรวจเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอน คาดว่า 2-3 สัปดาห์จะแล้วเสร็จ และะจะร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในการตรวจสอบชุดตรวจATK ต่อสายพันธุ์โอไมครอนต่อไป
3.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ขอความร่วมมือเร่งเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเร็วที่สุด
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ โพสต์ผ่านเฟสบุ๊ก ระบุว่าสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นถ้าหลบหลีกภูมิต้านทาน ก็จะทำให้ลดประสิทธิภาพของวัคซีนลง แต่ไม่ใช่ว่าวัคซีนจะไม่ได้ประสิทธิภาพเลย เช่นวัคซีนเคยได้ประสิทธิภาพ 90% สายพันธุ์ใหม่อาจจะลดลงมาเหลือ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการฉีดวัคซีนก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องทำ ให้ได้มากที่สุด และทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปควรได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันการป่วยและเสียชีวิต เพราะเรารู้อยู่แล้วว่า ไวรัสนี้ไม่หมดไปอย่างแน่นอน ถ้าทุกคนมีภูมิต้านทาน ถึงแม้จะเป็นบางส่วนก็จะลดความรุนแรงของโรคลง ลดการป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิต จะทำให้มองดูว่าการติดเชื้อนี้เหมือนกับโรคทางเดินหายใจทั่วไป
เพราะฉะนั้นยังจำเป็นต้องป้องกันตนเองอย่างต่อเนื่อง เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เมื่อมีอาการสงสัยให้รีบตรวจหาเชื้อ
ข้อมูลจาก กรมประชาสัมพันธ์ , ศูนย์ข้อมูลCOVID-19 , TNN World , ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย
ข่าวเกี่ยวข้อง :
- โอไมครอนเข้าไทยแล้ว! รับมือกับสายพันธุ์อันตราย ด้วยวิธีนี้
- ต้นตอแพร่เชื้อโควิด-19 มาจากไหน? หมอมนูญ เผยข้อมูลนักวิทย์สหรัฐฯล่าสุด
- หมอธีระ เผยงานวิจัยล่าสุด ปัจจัยที่มีผลต่อการกลายพันธุ์ "โอไมครอน"
- โอไมครอน! "หมอธีระวัฒน์" แนะจับตา 3 ประเด็นสำคัญฉีดวัคซีนครบแล้วยังติดได้
- หมอโอภาส เปิดไทม์ไลน์ โอไมครอนรายแรก ชี้ ผู้สัมผัสน้อย ยัน วัคซีนยังกันตายได้ ดีกว่าไม่ฉีด
- นายกฯ ยัน! ยังไม่เปลี่ยนนโยบาย หลังพบผู้ติดเชื้อ "โอไมครอน" รายแรก
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
กดเลย >> community แห่งความบันเทิง
ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี