รีเซต

‘หอการค้า’เผยหลังคลายล็อกดาวน์ เฟส 3 คาดสร้างเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 1-2 แสนล้านบาท

‘หอการค้า’เผยหลังคลายล็อกดาวน์ เฟส 3 คาดสร้างเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 1-2 แสนล้านบาท
มติชน
12 มิถุนายน 2563 ( 11:18 )
84

‘หอการค้า’ เผยหลังคลายล็อกดาวน์ เฟส 3 คาดสร้างเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 1-2 แสนล้านบาท

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะทำงานกลุ่มมาตรการสำหรับการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ ภายใต้คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยว่า หอการค้าไทยฯ ได้มีส่วนร่วมกับ ศบค. ในการสนับสนุนมาตรการหยุดยั้งการแพร่กระจายของโควิด-19 และได้มีข้อเสนอของภาคเอกชนในหลายประเด็นตั้งแต่เริ่มต้น อาทิ มาตรการสำหรับการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ และมาตรการสำหรัการเปลี่ยนผ่านเบื้องต้นในการปรับพฤติกรรมของประชาชน การเตรียมความพร้อมการเปิดสถานประกอบการภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ข้อปฏิบัติพื้นฐานที่ทุกสถานประกอบการต้องปฏิบัติและคู่มือสำหรับสถานประกอบการ มาตรการเพื่อช่วยเหลือธุรกิจ และผู้ประกอบการ การส่งเสริมการทำงานจากที่บ้าน (เวิร์คฟอร์มโฮม) การจัดทำระบบเพื่อช่วยเหลือผู้ตกงาน และการศึกษาแนวทางการปรับตัวของธุรกิจในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง

 

สำหรับ มาตรการผ่อนปรน (คลายล็อกดาวน์) ระยะที่ 3 จะทำให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งหอการค้าไทยฯ ประเมินว่าหลังคลายล็อกดาวน์ ระยะที่ 3 สำหรับกิจการและกิจกรรมในกลุ่มสีเหลืองซึ่งมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระดับปานกลางถึงสูง ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 1-2 แสนล้านบาท และตั้งแต่มีการคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 1 ในกลุ่มสีขาวหรือความเสี่ยงต่ำ และมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 และ ระยะที่ 2 ในกลุ่มสีเขียวหรือความเสี่ยงปานกลาง วันที่ 17 พฤษภาคม 2563 ส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ 2 แสนล้านบาท และจากการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ณ เดือนพฤษภาคม 2563 ของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประเมินว่าตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศไทยจะติดลบ 3-5% ซึ่งเป็นระดับดีกว่าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่าจะติดลบ 6.7% เนื่องจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ มีมาตรการเยียวยาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

 

นายกลินท์  กล่าวว่า ในวันนี้ (12 มิ.ย.) ทาง ศบค. จะมีการประกาศมาตรการผ่อนปรน ระยะที่ 4 ให้กิจการและกิจกรรมอีกหลายประเภทกลับมาดำเนินธุรกิจได้ภายใต้มาตรการที่ภาครัฐกำหนดเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ให้ประชาชน และเศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้ และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเปิดประเทศและการฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งต้องดูเปรียบเทียบประเทศอื่นๆ รวมถึงกำหนดกระบวนการที่ชัดเจนในการจะอนุญาตให้ชาวต่างชาติ ทั้งนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวเข้าประเทศในอนาคต เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนไทยว่าจะไม่เกิดการแพร่ระบาดระลอก 2 จากการให้คนต่างชาติเข้าประเทศ  รวมทั้งมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่จะมีออกมา เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังนี้ รัฐบาลจะต้องดูแลในเรื่องของผู้ว่างงาน และแผนการพัฒนาประเทศ รวมถึงการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามเป้าหมาย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ หลังจาก พ.ร.ก. กู้เงิน ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

 

“งานสัมมนาออนไลน์ในครั้งนี้จะทำให้ผู้ประกอบการต่างๆ ได้เข้าใจถึงความสำคัญที่จะต้องมีการปรับตัว ยกระดับมาตรฐาน เพื่อประโยชน์ทั้งเจ้าของธุรกิจและลูกค้า  เพราะที่ผ่านมาการเปิดเมืองหรือการผ่อนคลายต่างๆ  ได้มีการทยอยปรับให้เหมาะสมตามลักษณะของสถานประกอบการและลูกค้า โดยปัจจุบันจะเห็นบรรยากาศ การปรับตัวเพื่อประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดในรูปแบบต่างๆ อาทิ การเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจผ่านระบบดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสใหม่ๆ ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการทำงาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และสร้างสรรค์บริการต่างๆ ที่น่าสนใจ เป็นต้น” นายกลินท์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง