หอการค้าไทยชู‘แฮปปี้โมเดล’ ฟื้นท่องเที่ยว-กระจายรายได้
หมายเหตุ – เป็นส่วนหนึ่งจากสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 38 หัวข้อ “ไทยช่วยไทย คือ ไทยเท่” ในการประชุมใหญ่ประจำปี 2563 หอการค้าไทย โดยมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นเชิงปฏิบัติการ “ฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย Happy model : โมเดลอารมณ์ดีมีความสุข” เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน
กลินท์ สารสิน
ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
หอการค้าไทยมองว่า ทางรัฐบาลเอาข้อมูลล้าหลังมาใช้วางแผน เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่านำข้อมูลเก่าอย่างน้อย 2-3 เดือน มาวางแผนซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงหารือกับเลขาฯสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อดึงบริษัทขนาดใหญ่ที่มีข้อมูลจริงมาแลกเปลี่ยนร่วมกันทุก 2 เดือน เกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร ภาคธุรกิจหรือตลาดต้องการอะไร ขณะนี้ได้หารือร่วมกันมา 2 ครั้งแล้วกับ 7-8 บริษัทที่เป็นเรียลเซ็กเตอร์จริงๆ และตัวแทนภาครัฐ อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และนักวิเคราะห์ภาคเอกชน มาร่วมฟังและให้ความคิดเห็นด้วย เชื่อว่าจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะส่งผลให้ในอนาคตการวางแผนดำเนินโครงการต่างๆ น่าจะเป็นแบบแผนที่ดีและเห็นผลลัพธ์ที่ดีมากขึ้น
สำหรับแบบแผนของ “ไทยเท่” คือการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการให้แก่พื้นที่แต่ละจังหวัด ด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์จากวัฒนธรรมท้องถิ่นของไทย จะเห็นได้ว่าห่วงโซ่มูลค่าของภาคการท่องเที่ยว ตั้งแต่ขั้นตอนการจองโรงแรม การเดินทาง การเลือกซื้อสินค้า รายได้ปี 2562 รวมได้ 3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 2 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ 1 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวไทย เมื่อตรวจสอบข้อมูลการกระจายรายได้ด้านการท่องเที่ยว พบว่าที่ได้รับความนิยมที่สุด คือใช้เงินสำหรับห้องพัก 25% ช้อปปิ้ง 24% อาหารและเครื่องดื่ม 21% เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รายได้ที่เคยได้รับจากต่างประเทศก็หายไปทั้งหมด หอการค้าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงนำเรื่องนี้มาหาทางออกว่า จะทำอย่างไรเพื่อฟื้นเศรษฐกิจในส่วนนี้
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ปี 2562 มีนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้ามาท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ประมาณ 3.6 ล้านคนครั้งรายได้ประมาณ 4.1 หมื่นล้านบาท จ้างงานกว่า 9 หมื่นคน ส่วนการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 12.5 ล้านคนครั้ง รายได้ประมาณ 4.09 แสนล้านบาท จ้างงานกว่า 5.3 แสนคน
จึงเป็นที่มาของการจัดทำแฮปปี้โมเดล หรือโมเดลอารมณ์ดีมีความสุข ที่จะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น ประกอบด้วย 4 ข้อสำคัญ คือ 1.กินดี อาหาร อร่อย สะอาด มีประโยชน์ อาหารของท้องถิ่นและสมุนไพร มีประโยชน์ ปลอดสารพิษ 2.อยู่ดี ที่พักได้มาตรฐาน ดูแลสิ่งแวดล้อม รวมถึงขยะน้ำเสียและสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมไวไฟ กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพกายและใจ เช่น นวด/สปา ของท้องถิ่น และนั่งสมาธิ เป็นต้น 3.ออกกำลังกายดี เล่นกีฬา และร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น ปั่นจักรยาน วิ่ง เดิน ว่ายน้ำ ดำน้ำปีนเขา และมวยไทย เป็นต้น และ 4.แบ่งปันสิ่งดีๆ แบ่งปันความรู้ทั้ง 2 ทาง ท้องถิ่นแนะนำสินค้าและสถานที่อันซีน ทำกิจกรรมกับชุมชน อาสาสมัครเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน เช่น ปลูกป่า สอนหนังสือเด็ก และอาบน้ำช้าง เป็นต้น ที่สำคัญแต่ละจังหวัดต้องมีเรื่องราว เพื่อสร้างให้ประชาชนอยากมาท่องเที่ยว อีกเรื่องสำคัญ คือ การรักษามาตรฐานที่ดี
ความสำคัญของแต่ละข้อ คือ การกระจายรายได้สู่คนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการนำสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอท็อป) มาขายทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ส่วนเรื่องของที่พัก ในอนาคตจะมีคนสูงอายุเพิ่มมากขึ้นดังนั้น สถานที่ท่องเที่ยวหรือที่พักต่างๆ ต้องสร้างราวจับ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกเตรียมไว้ด้วย และไม่ลืมที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกเรื่องอินเตอร์เน็ต ไวไฟ สำหรับกลุ่มคนที่ต้องการเปลี่ยนสถานที่การทำงาน หากผู้ประกอบการหรือชุมชนสามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ จะยิ่งสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวอยากเดินทางเข้าไปยังสถานที่นั้นๆ เพิ่มมากขึ้น
ส่วนเรื่องการออกกำลังกายดี แต่ละจังหวัดอาจหาพื้นที่เด่นๆ ของแต่ละจังหวัด ในการจัดอีเวนต์เพื่อสุขภาพระดับโลกได้ รวมถึงต้องดูแลเรื่องความปลอดภัย ส่วนในเรื่องของการแบ่งปันสิ่งดีๆ เป็นหน้าที่ของคนท้องถิ่นที่จะเป็นไกด์ทัวร์ให้กับนักท่องเที่ยว ไปเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ ที่สวยไม่แพ้สถานที่ท่องเที่ยวหลักแต่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวมากนัก อย่างไรก็ตาม ทั้ง 4 ข้อดังกล่าว มีกลุ่มเป้าหมาย คือ นักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศที่รักสุขภาพ ซึ่งสามารถท่องเที่ยวได้ทุกจังหวัดในประเทศไทย แต่ถ้าเป็นกลุ่มท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ หรือผู้ป่วยจะเที่ยวได้เฉพาะหัวเมืองใหญ่เท่านั้น เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา เป็นต้น
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อน Happy Model โมเดลอารมณ์ดี มีความสุข ประกอบด้วย 1.สร้างความเข้าใจ ในการใช้คำจำกัดความของ 4 ด้านดังกล่าว 2.กำหนดแนวทางพร้อมผลักดันให้เกิดการปฏิบัติจริงในพื้นที่3.ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากร ให้มีความพร้อม 4.รวบรวมคอนเทนต์เชื่อมโยงดิจิทัลแพลตฟอร์ม 5.ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว อาทิ แอพพลิเคชั่น ทักทาย (TAGTHAi) ของภาคเอกชน เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลและนักท่องเที่ยวสามารถสร้างทริปท่องเที่ยวของตนเองได้ตามความต้องการ เป็นต้น โดยวัตถุประสงค์ของโมเดลนี้ ต้องการให้นักท่องเที่ยวสุขภาพกาย สุขภาพใจดีขึ้น ส่วนประโยชน์ที่ประชาชนแต่ละพื้นที่จะได้รับ คือ การสร้างงาน และกระจายรายได้เพื่อช่วยเหลือท้องถิ่น ชุมชน รวมทั้งสร้างมาตรฐานเพื่อความยั่งยืนอีกด้วย
ธนวรรธน์ พลวิชัย
อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ทำการสำรวจและเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคตลอด 20 ปี เห็นได้ว่าสถานการณ์ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในตลอด 20 ปี โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ประเทศไทยมีสถานการณ์ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงชัดเจน เริ่มลดลงช่วงเดือนมกราคม 2563 ที่เริ่มมีสถานการณ์โควิด และเดือนเมษายน 2563 ตกต่ำสุดในรอบ 20 ปีหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศจากสถานการณ์โควิด-19
จากตัวเลขและเงื่อนไขแบบเดียวกัน จึงทำให้ทุกประเทศทั่วโลกบอกว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกตกลงพร้อมกันครั้งแรกในรอบ 100 ปี การทำงานที่บ้านกลายเป็นวิถีปกติแบบใหม่ (นิวนอร์มอล) ทั่วโลก ทุกคนชะลอการใช้จ่าย การบริโภค ธุรกิจที่มีความเข้มแข็งกลับขาดทุน และฐานะทางการเงินอ่อนแอ ต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูกิจการ แต่ทั้งโลกประคับประคองโดยใช้แนวทางของสาธารณสุขเป็นแกนนำ ด้วยทฤษฎีล็อกดาวน์ 40 วันเพื่อให้ตัวเลขการแพร่ระบาดโควิด-19 คลาย อาทิ ไทย หรือทฤษฎีที่ปล่อยให้ติดเชื้อเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน อาทิ ยุโรป สหรัฐอเมริกา กลับต้องเจอการระบาดโควิด-19 รอบสอง
สถานการณ์ของไทยดีขึ้นหลังจากที่คลายล็อกดาวน์ โดยความเชื่อมั่นเริ่มดีขึ้น เดือนพฤษภาคม-สิงหาคมที่คลายล็อกดาวน์ระยะที่ 5-6 กิจรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเป็นปกติมากขึ้น และความเชื่อมั่นเริ่มฟื้นตัวแม้จะทรงตัวระดับต่ำ จนเดือนกันยายน-ตุลาคมสินค้าเกษตรหลายตัวปรับราคาขึ้นสูง บางตัวราคาสูงสุดรอบ 5 ปี อาทิ ข้าว ด้วยเหตุผลนี้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจึงปรับตัวดีขึ้นในเดือนตุลาคม แต่มีสะดุดเล็กน้อยเดือนกันยายน เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง
ส่วนเดือนตุลาคม สถานการณ์ทางการเมืองคลายลง เนื่องจากมีการเปิดประชุมรัฐสภา ทำให้ผู้บริโภคเห็นว่าการเมืองไม่มีผลกระทบในเชิงลบ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการช้อปดีมีคืน ที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างดี รัฐบาลจึงขยายต่อโครงการคนละครึ่งเฟส 2 ต่อเนื่องไปเดือนมกราคม 2564 รวมทั้งเงินจากการเลือกตั้งท้องถิ่น ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น โดยมีกระแสเงินสดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 4/2563 ประมาณ 1-1.5 แสนล้านบาท
ดังนั้น ในไตรมาส 4/2563 จะฟื้นตัวดีกว่าไตรมาสที่ผ่านมาแน่นอน และจะดีขึ้นเรื่อยๆ เป็นลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นในอนาคตดีขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน ที่เริ่มคลายล็อกดาวน์ จากการสอบถามนักธุรกิจทั่วประเทศปรากฏว่าสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าสถานการณ์ทางการเมือง ดังนั้น ถ้าสถานการณ์ทางการเมืองไทยคลี่คลาย เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวยิ่งดีขึ้น
สิ่งที่สำคัญคือ วัคซีนที่ผลิตออกมาแล้วสำเร็จในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งไทยกำลังจะผลิต เป็นสัญญาณที่จะทำให้ภาคการท่องเที่ยวและบริการกลับมา ซึ่งทางหอการค้าไทยมองว่าการจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ คือภาคท่องเที่ยวและบริการ ดังนั้น ต้องเตรียมการรับการท่องเที่ยวกลับมาช่วงครึ่งปีหลังอย่างไร โดยผ่าน Happy Model โมเดลอารมณ์ดี มีความสุข