เชื่อมั่นผู้บริโภค-ธุรกิจ พ.ย.ดีดตัวสูงสุด 7 เดือน รับเปิดประเทศ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษา ศูนยพ์ยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และ ความเชื่อมั่นหอการค้าไทย(ภาคธุรกิจ) เดือนพฤศจิกายน 2564 พบว่า ความเชื่อมั่นทั้งภาคประชาชนและผู้ประกอบการผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ทำให้ความเชื่อมั่นทุกรายงานปรับตัวสูงสุดในรอบ 7-8 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 เนื่องจาก ศบค. ผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์ เปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีความเสี่ยงต่ำบินเข้ามาไทยโดยไม่ต้องกักตัว ทยอยปรับลดพื้นที่ควบคุม ยกเลิกการเคอร์ฟิว เพื่อให้ธุรกิจและประชาชนสามารถดำเนินชีวิตและประกอบธุรกิจได้ใกล้เคียงปกติ ลดผลกระทบด้านเศรฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ส่งผลเชิงบวกต่อการจับจ่ายใช้สอยและท่องเที่ยเที่ยวเพิ่มขึ้น รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่โอมิครอน แต่ความตื่นตระหนกน้อยกว่าครั้งก่อน เพราะความเชื่อมั่นต่อการฉีดวัคซีนในอัตราสูงขึ้น และยังไม่การระบุถึงการเสียชีวิตจากไวรัสกลายพันธุ์ รวมถึงบรรยากาศเข้าเทศกาลปีใหม่ทำให้ประชาชนผ่อนคลายมากขึ้น
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 38.8 41.4 และ 54.5 ตามลำดับ จากเดือนตุลาคม อยู่ที่ 37.8 40.3 และ 53.5 ตามลำดับ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ( CCI) ดีขึ้นจากระดับ 43.9 เป็น 44.9 ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อการลงทุน ใช้จ่าย ท่องเที่ยว รวมถึงความสุขต่อการใช้ชีวิตดีขึ้น ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ดีขึ้นจาก 31.8 เป็น 33.7
“ทิศทางความเชื่อมั่นของภาคประชาชนและผู้ประกอบการ จากนี้มีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง ผลจากการฉีดวัคซีนในประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ คลายล็อกดาวน์ การเปิดประเทศ มาตรการกระตุ้นภาครัฐ ได้ส่งผลเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง และทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้ จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ 1.0- 1.5% ตอนนี้ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการคาดหวังว่ารัฐบาลจะเพิ่มเติมมาตรการกระตุ้นใช้จ่าย เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ช้อปดีมีคืน และของขวัญปีใหม่ของแต่ละหน่วยงานที่จะลดค่าใชจ่ายและกระตุ้นเดินทางท่องเที่ยวปลายปีถึงปีใหม่ ซึ่งจะมีเงินเข้าระบบได้ทันปลายปีนี้กว่า 2-3 แสนล้านบาท จะช่วยส่งให้เศรษฐกิจไทยปีหน้า ขยายตัวในกรอบ 3.5-4.5% ค่ากลาง 4.2% ซึ่งประเมินจากเศรษฐกิจครึ่งปีแรก2565 ขยายตัวเฉลี่ย 3.5% และ ครึ่งปีหลังขยายตัวเฉลี่ย 4.6% บนปัจจัยการส่งออกโตเกิน 5% จำนวนนักท่องเที่ยวเกิน 2 แสนคนต่อเดือน มีเม็ดเงินรวมอัดเข้าระบบเศรษฐกิจ 1-1.5 ล้านล้านบาท และไวรัสกลายพันธุ์ไม่ได้รุนแรงจนถึงขั้นล็อกดาวน์และปิดประเทศ” นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเสนอรัฐต่อภาครัฐที่ควรเร่งและดำเนินการต่อเนื่องถึงครึ่งปี 2565 คือ 1.การกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวของประเทศให้กลับมาคึกคักในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวสิ้นปี 2.เตรียมมาตรการรับมือและแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ หากไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์โอไมครอนระบาด 3.เร่งการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านการใช้จ่ายของประชาชนภายในประเทศ และส่งเสริมให้ประชาชนเดินทาง ออกต่างจังหวัดในรูปแบบที่ปลอดภัยช่วงเทศกาล 4.ต้องการให้รัฐดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการเปิดกิจการและมีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นจากมาตรการสาธารณสุข และ 5.ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดกิจการมาอย่างยาวนาน