บอกลาออฟฟิศซินโดรมเรื้อรัง ฟื้นฟูกล้ามเนื้อด้วย Redcord

นายแพทย์ธนวัฒน์ เพชรรัชตะชาติ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานาน มีพฤติกรรมที่ส่งผลต่อโครงสร้างของร่างกาย เช่น การนั่งหลังค่อม การใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน หรือการขาดความเคลื่อนไหวที่เหมาะสม ซึ่งนำไปสู่อาการปวดเรื้อรังได้ที่ บ่า ไหล่ หลัง และสะโพก แม้จะเป็นภาวะที่พบได้ทั่วไป แต่หากปล่อยให้เป็นเรื้อรังโดยไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว
ปัจจุบันมีการบำบัดด้วย Redcord (Neurac method) ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการรักษาออฟฟิศซินโดรมที่มีประสิทธิภาพ ผ่านระบบแขวนพยุงที่ช่วยให้ผู้ป่วยออกกำลังกายได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยเน้นฟื้นฟูกล้ามเนื้อให้กลับมาทำงานอย่างสมดุล ลดอาการปวดจากต้นเหตุ ทั้งยังช่วยป้องกันการบาดเจ็บซ้ำ การทำงานผิดปกติของระบบประสาทที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อบางส่วนอ่อนแรงหรือเกร็งตัวจนเสียสมดุล ซึ่งเป็นต้นเหตุของอาการปวดเรื้อรัง ข้อต่อเสื่อม และกระดูกสันหลังบาดเจ็บ การบำบัดนี้ออกแบบเฉพาะบุคคล ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดระหว่างทำ ช่วยลดระยะเวลารักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Redcord (Neurac method) เป็นเทคนิคการออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มมุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย พร้อมทั้งรองรับการฝึกได้ทั้งในรูปแบบที่ส่วนปลายของร่างกาย เช่น มือหรือเท้า ให้มีอิสระในการเคลื่อนไหว (Open kinetic chain exercise) และรูปแบบที่มีการจำกัดการเคลื่อนไหวของส่วนปลาย (Closed kinetic chain exercise) นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการเสริมการรับรู้ตำแหน่งของข้อต่อ (Proprioception) ส่งเสริมการทรงตัว และเพิ่มความทนทานของข้อต่อ รวมถึงกล้ามเนื้อบริเวณโดยรอบ
หนึ่งในจุดเด่นของ Redcord คือความสามารถในการลดอาการปวด และช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย โดยไม่กระตุ้นอาการปวดเพิ่มเติม จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงฟื้นฟูร่างกาย
ทั้งนี้ยังมีงานวิจัยสนับสนุนว่า การออกกำลังกายด้วยเทคนิค Redcord สามารถกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อได้มากกว่าการฝึกในท่าเดียวกันบนพื้น อีกทั้งยังสามารถเน้นกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
กลุ่มที่ควรเข้ารับการรักษาด้วย Redcord
กลุ่มที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังทั้งบริเวณคอ บ่า ไหล่ หลังส่วนล่าง สะโพก
กลุ่มที่ต้องการสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว
นักกีฬาที่มีอาการบาดเจ็บ
กลุ่มที่สูญเสียการทรงตัว เคลื่อนไหวได้ไม่คล่อง
ผู้ปวยกระดูกสันหลังคด (Scoliosis)
ผู้ป่วยหลังการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดกระดูกสันหลัง ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก เป็นต้น
กลุ่มที่มีท่าทางไม่ดี จากการทำงานซ้ำๆ เช่น พนักงาน Office เป็นต้น
ข้อดีของการออกกำลังกายด้วยเทคนิคสลิง Neurac Technique คือ สามารถเริ่มฝึกได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของอาการ แม้ยังมีอาการปวดหลงเหลืออยู่บ้าง เนื่องจากระบบของสลิงในเทคนิคนี้ช่วยพยุงกล้ามเนื้อให้ผ่อนคลายขณะฝึกในท่าต่าง ๆ จึงไม่กระตุ้นอาการปวดเพิ่มเติม แต่การออกกำลังกายประเภทนี้ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของนักกายภาพเท่านั้น เพื่อให้สามารถฝึกได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
ทั้งนี้ใครที่มีอาการปวดบาดเจ็บเรื้อรังควรปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการการรักษาที่เหมาะสมกับอาการบาดเจ็บของแต่ละบุคคล ก่อนจะลุกลามจนส่งผลกระทบต่อคุณภาพการใช้ชีวิต