รีเซต

หุ่นยนต์ พี่สาว และแฟนให้เช่า : ธุรกิจแห่งความเหงาเฟื่องฟูได้อย่างไร

หุ่นยนต์ พี่สาว และแฟนให้เช่า : ธุรกิจแห่งความเหงาเฟื่องฟูได้อย่างไร
TNN ช่อง16
2 พฤศจิกายน 2563 ( 22:38 )
290

ปี 2020 เรียกได้ว่าเป็นปีแห่งความเหงาอย่างแท้จริงเลยก็ว่าได้ เพราะตั้งแต่สถานการณ์โควิดเป็นต้นมา เราต่างก็ต้องเจอกับการกักตัวอยู่บ้านกันทั่วโลก โดดเดี่ยวเดียวดายอยู่อย่างเหงา ๆ ในบ้าน และความรู้สึกโดดเดี่ยวนี้เองก็เป็นเรื่องปกติของสังคมที่มีประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นธุรกิจที่หันมาจับแนวทางที่เล่นกับความเหงาของคนก็โตขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน

เพราะเรื่องของความโดดเดี่ยวนั้นไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ จากสถิติของอเมริกาพบว่าอัตราของความโดดเดี่ยวของประชากรเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวภายในระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมานี้ ในปี 2018 พบว่าคนชรากว่า 200,000 คนไม่ได้พูดคุยกับสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนเลยร่วมเดือน และจากรายงานของทางรัฐบาลสหรัฐฯ กว่า 75% ของผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์รายงานถึงยอดการพบผู้ป่วยที่อยู่อย่างสันโดษประมาณ 1-5 คนในแต่ละวันเลยทีเดียว


โควิดเป็นโรคที่น่ากลัวและฆ่าผู้คนไปมากมาย แต่ใครเล่าจะรู้ว่าความเหงาก็ฆ่าคนได้เช่นกัน มีรายงานของ Health Resources and Services Administration study พบว่าความรู้สึกอ้างว้างนั้นสามารถทำลายสุขภาพของเราได้เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน และผู้สูงอายุที่ต้องทนกับความอ้างว้างเป็นเวลานานนั้นจะมีโอกาสเสียชีวิตสูงขึ้น 45% เมื่อเทียบกับคนอื่น

นั่นจึงเกิดเป็นคำถามที่ว่า แล้วเราจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร? ทางแก้ส่วนใหญ่ที่พบได้ทั้งจากทางรัฐและเอกชนจึงหนีไม่พ้นการนำเอาเทคโลยีมาเป็นฐานพัฒนาหุ่นยนต์และโลกเสมือนจริงต่าง ๆ เพื่อเป็นเพื่อนแก้เหงาและคลี่คลายสถานการณ์วิกฤตนี้


ตัวอย่างเช่นบริษัทในประเทศอิสราเอล “Intuit Robotics” ได้เริ่มทดลองหุ่นยนต์ชื่อว่า “ElliQ” ซึ่งมีสโลแกนน่ารัก ๆ ว่า ““the sidekick for happier ageing” มีหน้าตาคล้ายโคมไฟบนโต๊ะ โดยเธอจะมีหน้าที่คอยเตือนเจ้าของให้ดื่มน้ำหรือทานยาให้ตรงเวลา หรือกระตุ้นให้คุณเล่นเกมเพื่อพัฒนาสมอง หรือโดยทั่วไปก็จะคอยขับกล่อมเสียงเพลงคลายเหงาให้นั่นเอง

ทางฝั่งของประเทศญี่ปุ่นที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีอัตราประชากรเข้าสู่สังคมสูงอายุเร็วที่สุดในโลก โดยมากกว่าหนึ่งในสี่ของประชากรมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 65 ปีหรือมากกว่านั้น และอาจจะพุ่งสูงขึ้น 40% ภายในปี 2050 ที่จะถึงนี้ สถิติดังกล่าวส่งผลกระทบให้เกิดธุรกิจมากมายที่เกี่ยวข้อง เช่นการขายประกันให้กับเจ้าของพื้นที่เช่า โดยเสนอที่จะดูแลผู้เช่าที่เสียชีวิตในพื้นที่ของตนและแม้กระทั่งจ่ายค่าเช่าที่ค้างไว้หลายเดือน


นอกจากนี้หากพูดถึงไอดอลจากประเทศญี่ปุ่นที่เป็นเพื่อนคลายเหงาใจของใครหลาย ๆ คนก็คงมีชื่อของ “ฮัตสึเนะ มิกุ” อยู่ในนั้น ถึงแม้ว่าเธอจะไม่ใช่คนจริง ๆ เป็นเพียงภาพเสมือนที่สร้างขึ้นแต่ความฮิตของเธอนั้นเรียกได้ว่าเทียบชั้นระดับเล่นคอนเสิร์ตเปิดโชว์ให้กับเลดี้กาก้ามาแล้ว มิกุถือว่าเป็นหนึ่งในไอดอลที่บรรดาซาลารี่มังหรือหนุ่มนักธุรกิจในญี่ปุ่นหลายคนหลงใหล และถึงขั้นมีกรณีที่แต่งงานกันอย่างจริงจังกับมิกุมาแล้วด้วย 



อีกตัวอย่างที่อาจจะไม่ได้โรแมนติกเท่า ขอแนะนำให้รู้จักกับ “Paro” หุ่นยนต์แมวน้ำตัวขาวนุ่มนิ่มที่สามารถตอบสนองกับผู้ใช้งานได้ โดยมีเซนเซอร์รับสัมผัส แสง การได้ยิน อุณหภูมิ และท่าทาง แถมยังเลียนแบบเสียงลูกแมวน้ำได้อีกด้วย ไอเดียสุดบรรเจิดของประเทศญี่ปุ่นยังทำให้มีอุปกรณ์และเครื่องมือคลายเหงาต่าง ๆ อีกมากมาย ทั้งเคสมือถือที่แนบมือคนมาให้เราได้จับ หมอนที่พิมพ์ลายตัวการ์ตูนที่เราชอบให้นอนกอดเป็นเพื่อน หรือเก้าอี้นั่งที่มีตุ๊กตาคอยโอบกอดเรา 



ในญี่ปุ่นยังมีภาวะความโดดเดี่ยวที่เรียกว่า “hikikomori” ซึ่งเป็นชื่อเรียกของกลุ่มเพศชายเป็นส่วนใหญ่ โดยพวกเขาจะตัดขาดตัวเองจากสังคมอย่างสิ้นเชิงและไม่ยอมที่จะออกไปไหนนอกบ้านโดยเด็ดขาด ซึ่งพบกรณีนี้มากถึง 600,000-1,000,000 คนเลยทีเดียว จึงมีธุรกิจที่เรียกว่า “พี่สาวให้เช่า” ซึ่งเป็นการส่งผู้หญิงที่ได้รับการฝึกฝนมาเพื่อเข้าเยี่ยม และคิดราคาประมาณ 250 ดอลลาร์หรือเกือบ 7,000 บาทต่อสัปดาห์ พี่สาวเหล่านี้มีหน้าที่ช่วยเกลี้ยกล่อมให้พวกเขาออกมาจากห้องนอนของตัวเองและกลับเข้าสู่สังคมได้นั่นเอง

ในประเทศจีนก็มีกรณีคล้ายกัน แต่เป็นบริการ “แฟนหนุ่มให้เช่า” ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากอันมีสาเหตุมาจากค่านิยมความเป็นหญิงโสดที่ไม่ได้รับการยอมรับ ถึงแม้บริการนี้จะไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การบรรเทาความเหงา แต่ออกจะเป็นการช่วยให้ผู้หญิงเหล่านี้ไม่ต้องเจอกับสารพัดคำถามจากครอบครัวมากกว่า


เรื่องของเทคโลยีหุ่นยนต์และการบริการเหล่านี้อาจจะฟังดูห่างไกล แต่ยังมีอีกหลายตัวอย่างที่ทำให้เห็นถึงธุรกิจที่จะเติบโตขึ้นจากปัญหาความเหงา เช่นตัวอย่างของพอดแคสต์สุดโด่งดัง “Sleep With Me podcast” ของ “Drew Ackerman” ทำยอดคนฟังสูงสุดได้กว่า 2.3 ล้านคนด้วยการเล่าเรื่องนิทานก่อนนอนให้ฟัง ถึงแม้ว่าความตั้งใจตอนแรกจะตั้งใจสร้างเพื่อกลุ่มคนที่นอนไม่หลับ แต่เขากลับพบว่าคนฟังมากจากกลุ่มคนเหงาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ


ในขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญก็เชื่อว่าความเหงาไม่ใช่สิ่งที่จะรักษาให้หายได้ แต่ความเหงาคือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเรากำลังขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่เราต้องการต่างหาก โดย Jeremy Nobel สมาชิกของ Harvard Medical School faculty กล่าวว่าเขาเชื่อว่าเทคโนโลยีนั้นสามารถช่วยเราคลายเหงาได้ แต่สิ่งที่น่ากลัวคือเมื่อคนเริ่มใช้เทคโนโลยีมาแทนที่สังคมมนุษย์จริง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น เช่นในอนาคตอาจจะมีคุณย่าคุณยายที่รอหลานกลับมาหา แต่หลานกลับคิดว่าแค่ส่งหุ่นยนต์คลายเหงาไปก็น่าจะพอแล้ว เป็นต้น

เพราะความเหงาที่ระบาดไปทั่วโลกทำให้เราได้เห็นโอกาสช่องทางธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะมาช่วยเหลือเรา แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นดาบสองคมที่เมื่อผู้คนหันไปพึ่งเทคโนโลยีหรือธุรกิจเหล่านี้มากเกินไป ก็อาจจะนำไปสู่ปัญหาการแยกตัวและความโดดเดี่ยวที่ทวีคูณขึ้นกว่าเดิม เพราะถึงอย่างไรแล้วสิ่งที่เราต้องการจากมนุษย์ที่หุ่นยนต์ไม่อาจให้ได้ อาจจะเป็น “หัวใจ” และอ้อมกอดอุ่น ๆ จากใครสักคนให้คลายเหงา

ขอบคุณข้อมูลจาก

เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง