รีเซต

สรุปข่าวล่าสุด "ซีเซียม-137" ชาวบ้านผวา-เฝ้าระวัง 3 กลุ่มเสี่ยง

สรุปข่าวล่าสุด "ซีเซียม-137" ชาวบ้านผวา-เฝ้าระวัง 3 กลุ่มเสี่ยง
TNN ช่อง16
21 มีนาคม 2566 ( 07:38 )
157
สรุปข่าวล่าสุด "ซีเซียม-137" ชาวบ้านผวา-เฝ้าระวัง 3 กลุ่มเสี่ยง

ผลตรวจคนงาน 70คน ไม่พบซีเซียม-137



นายแพทย์ สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 ระบุถึงผลการตรวจสุขภาพของคนงานในโรงหลอมเหล็กกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ที่ทำการหลอมวัตถุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ว่า หลังจากนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ติดตามสุขภาพคนงานทั้ง 70 ราย จึงได้ทำการตรวจสุขภาพและตรวจหาสารซีเซียม ด้วยเครื่องมือวัดสารกัมมันตภาพรังสีโดยเฉพาะ ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา และเสร็จสิ้นในช่วงเย็นวานนี้ เมื่อเวลา 16 นาฬิกา


ผลปรากฎไม่พบคนงานในโรงงานได้รับผลกระทบจากซีเซียม -137 ทั้งนี้จึงได้รายงานให้ทางกระทรวงสาธารณสุขทราบแล้ว ส่วนเรื่องการติดตามเฝ้าระวังผลกระทบของซีเซียมฯ ในสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่อาหาร ก็จะได้มีการสุ่มตรวจต่อไปในอนาคต 


ทั้งนี้ การที่ไม่พบสารซีเซียม -137 ในคนงานทั้ง 70 คนก็ทำให้สบายใจได้ส่วนหนึ่งแล้วว่า สารดังกล่าวไม่ได้หลุดรอดออกมาทำให้ใครได้รับผลกระทบ และจะมีการเฝ้าระวังต่อไปอีก 3 เดือน จะนำคนงานมาตรวจสุขภาพ ทั้งตรวจเลือด ตรวจปอด ต่อไป แต่ในระหว่างนี้หากมีใครเจ็บป่วยก็ให้รีบพบแพทย์ทันที ส่วนในระดับครอบครัวของคนงานก็จะได้มีการติดตามด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจว่า สารซีเซียม -137 มีอันตรายน้อยกว่า สารโคบอลต์ ที่เคยเกิดปัญหาเมื่อปี 2543



สธ. เฝ้าระวังอาการสัมผัสซีเซียม-137


ด้าน นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ย้ำว่า จะมีการเฝ้าระวังเชิงรุกใน 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกคือ กลุ่มมีอาการทางผิวหนังและเนื้อเยื่อ กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มอาการทั่วไป คลื่นไส้อาเจียน และ สาม กลุ่มอาการผิดปกติผิดสังเกต เช่น มีเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติจำนวนมาก 


ส่วนการขีดวงผู้ที่เกี่ยวข้อง จะมีการตีวงคล้ายเวลาเกิดโรคติดต่อ โรคระบาด ต้องตีวงใครเสี่ยงสูงสุด ต่ำสุด ส่วนจะกระจายแค่ไหน หลัก ๆ ต้องดู คนในโรงงานกับละแวกใกล้เคียง สัมผัสกี่คน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุด ต้องตรวจสุขภาพให้ครบทุกราย รวมถึงต้องบริเวณอำเภอนั้นๆ ให้ดูอาการตนเองมีอาการหรือไม่ และ ต้องดูในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ระยะที่รับสาร คนหนุ่มสาวเกิดอาการได้หมด ต้องเฝ้าระวังทุกคนที่อยู่ในพื้นที่เกี่ยวข้อง หรือคนมีโอกาสสัมผัส เด็ก ผู้สูงอายุ โดยคนเป็นโรคเรื้อรัง ร่างกายไม่ค่อยดี เวลารับสารต่างๆ อาจทำให้โรคเดิมกำเริบมากขึ้น แต่ย้ำว่าโรคนี้ เป็นได้ทุกคน ไม่ได้แปลว่าแข็งแรง แล้วไม่เกิดโรค การเฝ้าระวังต้องอาศัยความเข้มข้น อย่าคิดว่าตัวเองแข็งแรงสัมผัสแล้วจะไม่เป็นอะไร แต่ต้องจับตาดูคนกลุ่มเสี่ยงเปราะบางเป็นพิเศษ





ยืนยัน “ซีเซียม-137” ไม่ปนเปื้อนสู่ภายนอก




นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี  

 



นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี  เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตรวจพบสาร “ซีเซียม-137” บริเวณกระเป๋าบิ๊กแบ็ก ในโรงหลอม ที่ตำบลหาดนางแก้ว อำเภอกบินทร์บุรี 


โดยพบว่า “ซีเซียม-137” ถูกหลอมไปแล้ว เนื่องจากพบฝุ่นแดงที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี “ซีเซียม- 137” แต่ไม่พบผลิตภัณฑ์เหล็ก จึงได้สั่งการปิดพื้นที่ทันที 




ส่วนบริเวณที่พบการปนเปื้อนของสาร เป็นบริเวณที่จำกัด ถูกควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ยืนยันว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้ ไม่เกิดการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” สู่สิ่งแวดล้อม ไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบ 




ชาวบ้านในพื้นที่หวั่น "ซีเซียม137" รั่วไหล



นางจรูญ จตุกุล ชาวบ้านหมู่ที่ 10 ต.ลาดตะเคียน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า บ้านตนเอง อยู่ห่างจากโรงงานหลอมเหล็ก ที่นำซีเซียม 137 มาหลอม ประมาณ 200 เมตร ตอนนี้รู้สึกหวาดกลัว จะได้รับผลกระทบจากสารเคมีดังกล่าว เนื่องจากติดตามข่าวจากโซเซียลแล้วพบว่า บ้านตนอยู่ใกล้กับโรงหลอมมาก  เกรงว่าจะสูดดมอากาศปนเปื้อนเข้าไปโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากบ้านเรือนตั้งอยู่ใต้ลม 


ด้าน นายวินัย สระวิจิตร ชาวบ้านหมู่ 10 กล่าวว่า รู้สึกหวาดกลัวเพราะบ้านอยู่ไม่ห่างจากโรงงาน กลัวสารจะปนเปื้อน รั่วไหลออกมา  ซึ่งตอนนี้ได้แต่ติดตามข่าวสารจากต่างจังหวัด ว่า ผลกระทบ จะเป็นอย่างไรและจะดำเนินการต่อไปอย่างไร




จ่อเอาผิด! โรงงานไฟฟ้าไม่แจ้งเหตุทันที


พลตำรวจตรีวินัย นุชชา ผุู้บังคับการภูธรจังหวัดปราจีนบุรี  ชี้แจงถึงความคืบหน้าต้นตอที่วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 หายไปจากโรงงานไฟฟ้าก่อนที่จะพบในโรงงานหลอมเหล็ก ซึ่งมีการแจ้งความเมื่อ 10 มีนาคมที่ผ่านมา  ตำรวจได้สอบสวนผู้เกี่ยวข้องกว่า 10 ปากแล้วในโรงงานไฟฟ้าแต่ให้การไม่ทราบเรื่อง 


ส่วนกล้องวงจรปิดจุดที่วัสดุกัมมันตรังสีหลุดจากแท่นก็จับภาพไม่ได้  ซึ่งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับโรงไฟฟ้าที่ครอบครองซีเซียมที่หายไปแล้วไม่แจ้งเหตุโดยพลัน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ โทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ เนื่องจากหายไปช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่เพิ่งมาแจ้งหายเมื่อวันที่ 10 มีนาคม



รู้จัก "ซีเซียม-137" น่ากลัวอย่างไร



สารกัมมันตรังสีซีเซียม-137  ซึ่งเป็นอุปกรณ์วัดระดับขี้เถ้าในไซโล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว ความยาว 8 นิ้ว หนัก 25 กิโลกรัม   โดย ปกติแล้วจะถูกห่อหุ้มด้วยเหล็กอย่างดี ปลอดภัย     แต่ได้หายไปจากโรงไฟฟ้า  เมื่อ23 ก.พ. และทราบเรื่องเมื่อ 10 มี.ค. กระทั่งถูกโรงงานแห่งหนึ่ง หลอมเป็นฝุ่นแดงเมื่อวันที่  4-5 มี.ค.66   ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดการตัดหรือบีบอัดทำลายตัวห่อหุ้ม จะสามารถทำให้สารซีเซียมฟุ้งกระจายปนเปื้อนไปในอากาศ หรือละลายปนเปื้อนในน้ำได้

ทั้งนี้   ซีเซียม-137 มีค่าครึ่งชีวิต 30 ปี ดังนั้นจะใช้เวลาในธรรมชาติไม่ต่ำกว่า 100 ปีจึงจะสลายหมด แต่โรงไฟฟ้า  ติดตั้งเมื่อปี2538 ทำให้มีอายุใช้งานเหลืออีก2ปี 






ซีเซียม-137 เป็นป็นไอโซโทปที่ไม่เสถียร  กัมมันตรังสีของธาตุซีเซียม หากเกิดกลไกที่เรียกว่า Decay คือ นิวเคลียสของมันสลายตัว และ ปล่อยอนุภาครังสีเบต้า( Beta)ออกมา และมันจะสลายตัวอีก 1 ครั้ง โดยปล่อยรังสี Gamma ออกมา ซึ่งรังสีเบต้า  สามารถทะลุเสื้อผ้าเข้าผิวหนัง ส่งผลเนื้อเยื่อเสียหาย  นำไปสู่การเป็นมะเร็ง  แต่มันจะไม่ทะลุ วัสดุไม้หรือ พลาสติก และโลหะ ได้  ส่วนรังสีแกรมม่า( Gamma)  รุนแรงกว่าเพราะทะลุ ร่างกาย รถยนต์ หรือเข้าไปในบ้านเรือนได้  หากเราโดนจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวก่อมะเร็งเช่นกัน แต่สามารถป้องกันได้ด้วย โลหะหนา เช่นตะกั่ว-เหล็ก 




ด้าน  ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “หายนะแท่งซีเซียมถูกหลอมในโรงงานหลอมเหล็ก มีทั้งฝุ่นที่ปล่อยออกจากปล่องควัน ฝุ่นแดงในถุงกรองอากาศ ขี้เถ้าหนัก รวมทั้งฝุ่นในโรงงานคืออนุภาคซีเซียมที่ปล่อยรังสีแกมมาและเบตาออกมา คือสารสารก่อมะเร็ง ในอากาศ ในพืช ผัก ผลไม้ แหล่งน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน รัศมีอย่างน้อย 5 กม. ระยะยาวอาจมีคนป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ” 


ผู้เชี่ยวชาญแนะ  วิธีป้องกันซีเซียม-137 ในกรณีที่มีการสัมผัสปนเปื้อนเปื้อนรังสีแต่ยังไม่เข้าสู่ภายในร่างกาย สามารถลดการปนเปื้อนได้โดยการปัดออก เปลี่ยนเสื้อผ้า หรือล้างด้วยน้ำ และหลีกเลี่ยงการอุปโภคบริโภคสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณที่มีการปนเปื้อนของสารซีเซียม เพื่อป้องกันซีเซียมเข้าสู่ร่างกายและกระตุ้นการเกิดโรคมะเร็ง


ในกรณีที่ได้รับสารซีเซียม-137 ผ่านการบริโภควัตถุปนเปื้อน ร่างกายจะสามารถขับพิษออกมาได้เองตามธรรมชาติ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลด้วยเช่นกันว่าสามารถขับสารกัมมันตรังสีชนิดนี้ออกมาได้มากน้อยขนาดไหน โดยในทางการแพทย์สามารถตรวจสอบปริมาณและตำแหน่งของซีเซียมในร่างกายมนุษย์ได้ และยังมียาสำหรับช่วยให้จับตัวกับอนุภาคของสารกัมตรังสีดังกล่าวพร้อมขับออกจากร่างกาย


กรมวิทย์ ชี้เหตุซีเซียม ต่างกับเชอร์โนบิล


นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่วัตถุบรรจุกัมมันตรังสี "ซีเซียม-137" ว่า การได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากสารซีเซียม-137 จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสาร ระยะเวลาที่สัมผัส และวิธีการสัมผัส


หากถูกหลอมแล้ว จะขึ้นอยู่กับวิธีการหลอม หากใช้ความร้อนสูงมากสารก็จะสลายไป แต่ที่น่ากังวลคือ เศษฝุ่นที่มีซีเซียมติดอยู่ก็อาจกระจายออกไป ซึ่งต้องให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติตรวจวัดสารดังกล่าวในสิ่งแวดล้อม สำหรับความกังวลถึงการแถลงข่าว ที่ จ.ปราจีนบุรี พบฝุ่นในโรงงานหลอมเหล็กที่มีซีเซียมปนเปื้อนนั้น หากมีปริมาณโมเลกุลที่เล็กมากก็จะมีผลต่อร่างกายน้อยลง ซึ่งมีคนนำเหตุการณ์นี้ไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ภัยพิบัติเชอร์โนบิล กรณีนี้ยังต่างกันเยอะ



   

นายกฯ สั่งก.อุตฯ ติดตามเหตุซีเซียม



 ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ให้กระทรวงอุตสาหกรรมติดตาม กรณี “ซีเซียม 137” หาย ให้ ไปดูว่าหายไปเมื่อไหร่ ไปอยู่ไหนมาตั้งนาน เป็นหน้าที่ของหน่วยงานนั้นๆ ต้องรับผิดชอบ


ทั้งนี้  การสูญหายของกระบอกบรรจุสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ในประเทศไทย มีขึ้น หลังจากเกิดเหตุแคปซูลกัมมันตรังสี 'ซีเซียม-137' ของบริษัทริโอ ตินโต ผู้ประกอบการเหมืองขนาดใหญ่ระดับโลก ได้สูญหายในประเทศออสเตรเลียเมื่อเดือนมกราคม 2566 เนื่องจากตกจากรถบรรทุกขณะขนส่ง ทำให้ทางการออสเตรเลียต้องระดมกำลังค้นหาครั้งใหญ่และใช้อุปกรณ์พิเศษในการค้นหา เป็นเวลา 2 สัปดาห์ กระทั่งพบแคปซูลขนาดเล็กบรรจุสารซีเซียม-137 เมื่อ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา



ข่าวที่เกี่ยวข้อง