“น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี” โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “ฟุกุชิมะ”ปลอดภัย?
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ผลิตน้ำที่ปนเปื้อนโดยเฉลี่ยวันละ 100 ลูกบาศก์เมตร ในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ย. 2565 ซึ่งเป็นปริมาณที่ผสมผสานของน้ำใต้ดิน น้ำทะแล และน้ำฝนที่ซึมลงในพื้นที่ รวมถึงน้ำที่ใช้สำหรับการหล่อทำความเย็น โดยน้ำเหล่านี้ได้รับการกรองเพื่อขจัดนิวไคลด์กัมมันตรังสีต่างๆ และย้ายไปเก็บไว้ในถังสำหรับเก็บกัก เพื่อเตรียมปล่อยลงสู่มหาสมุทร ผ่านอุโมงค์ใต้ทะเลซึ่งมีความยาวก 1 กิโลเมตร และมีความกว้าง 2 เมตร 50 เซนติเมตร ขณะที่หลายประเทศทั้งสหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และรัสเซีย รวมทั้งประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ต่างคัดค้านเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยและเกรงจะกระทบต่อระบบนิวเวศน์ทางทะเล และอาชีพประมง ซึ่งมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของสัตว์น้ำหลากหลายชนิด
“ญี่ปุ่นไม่ควรใช้รายงานการตรวจสอบจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ( IAEA ) เป็น “บัตรผ่าน” หรือ “ไฟเขียว” ให้ทิ้งน้ำปนเปื้อนและเรียกร้องให้ระงับการตัดสินใจครั้งนี้ “ เป็นท่าทีล่าสุดจาก อู๋ เจียงเฮ่า เอกอัครราชทูตจีนประจำญี่ปุ่น
“เกาหลีใต้ได้ห้ามการนำเข้าอาหารทะเลจาก 8 จังหวัดที่อยู่ใกล้จังหวัดฟุกุชิมะ เพราะกังวลเรื่องปริมาณรังสีปนเปื้อน ตั้งแต่ปี 2556 และจะไม่ยกเลิกคำสั่งนี้เพราะคำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน “
เกาหลีใต้ก็เป็นหนึ่งประเทศที่แสดงออกชัดเจนในเรื่องนี้ พร้อมออกมาตรการ 100 วันคุมเข้มการนำเข้าอาหารทะเลและมีบทลงโทษ ตั้งแต่ปรับหลัก 2 แสน - 2 ล้านและจำคุกสูงถึง 7 ปี หากไม่แสดงหลักฐานหรือมีการปลอมแปลงแหล่งที่มา นอกจากนี้ ชาวเกาหลีใต้ยังแห่กักตุน “เกลือทะเล” จนทำให้รัฐบาลต้องสำรองเกลือมากถึง 400 ตัน
ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการ IAEA ระบุว่า แผนปล่อยน้ำนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยโลก และจะสร้างผลกระทบทางด้านกัมมันตภาพรังสีต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมเพียงเล็กน้อย “รายงานของ IAEAไม่ได้เป็นการรับรองแผนการของญี่ปุ่น และการตัดสินใจทิ้งน้ำเป็นการตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่นเอง” IAEA ใช้เวลา 2 ปี ในการจัดทำรายงานตรวจสอบความปลอดภัย น้ำที่บำบัดแล้วจะถูกนำไปเจือจางเพื่อลดระดับทริเทียมลดลงให้เหลือ 1 ใน 7 ตามมาตรฐานสำหรับน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก โดยโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกใช้กระบวนการที่คล้ายคลึงกันนี้ในการกำจัดน้ำเสียที่มีไอโซโทปและนิวไคลด์กัมมันตภาพรังสีในระดับความเข้มข้นต่ำ ด้านกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่น ระบุก่อนหน้านี้ว่า น้ำจะถูกกรองเพื่อกำจัดไอโซโทปส่วนใหญ่ออก โดยใช้เทคโนโลยีการบำบัดน้ำที่เรียกว่า “เอแอลพีเอส” (ALPS) แต่ยังคงมีร่องรอยของทริเทียม (tritium) ซึ่งเป็นไอโซโทป 1 ใน 3 ชนิดของอะตอมไฮโดรเจนที่แยกออกจากน้ำได้ยาก แต่ไม่เป็นอันตรายเมื่อมีปริมาณน้อย