รีเซต

ญี่ปุ่นเริ่มกำจัดเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ หลัง 13 ปี เหตุภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ

ญี่ปุ่นเริ่มกำจัดเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ หลัง 13 ปี เหตุภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ
TNN ช่อง16
11 กันยายน 2567 ( 15:55 )
34

เมื่อปี 2011 ประเทศญี่ปุ่นประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 9.0 ก่อให้เกิดสึนามิครั้งใหญ่ ส่งผลสืบเนื่องให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิเกิดความเสียหาย และสารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลออกมา ล่าสุดบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ คอมพานี หรือเทปโก (Tokyo Electric Power Company หรือ TEPCO) ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ได้เริ่มดำเนินการครั้งสำคัญเพื่อกำจัดเศษกัมมันตรังสีออกจากพื้นที่แล้ว


ทั้งนี้หลังจากเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2011 ระบบระบายความร้อนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะล้มเหลว เชื้อเพลิงที่หลอมละลายหยดลงมาจากแกนกลาง (Core) และเข้าผสมกับวัสดุภายในเครื่องปฏิกรณ์ เช่น เซอร์โคเนียม สเตนเลส สายไฟฟ้า ตะแกรงแตก คอนกรีตรอบ ๆ โครงสร้างรองรับและที่ฐานของภาชนะกักเก็บหลัก การที่เครื่องปฏิกรณ์เกิดหลอมละลาย ทำให้เกิดวัสดุที่มีลักษณะคล้ายลาวา มีปริมาณกัมมันตภาพรังสีสูง กระเซ็นไปในทุกทิศทาง ทำให้การทำความสะอาดทำได้ยาก


ใช้หุ่นยนต์ช่วยเหลือในการปฏิบัติภารกิจ

ในปฏิบัติการครั้งใหม่นี้ เรียกว่า “ปฏิบัติการสกัดนำร่อง (Pilot Extraction Operation)” โดยจะใช้หุ่นยนต์พิเศษเพื่อเข้ามาช่วยในภารกิจด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้มนุษย์สัมผัสกับสารกัมมันตภาพรังสีที่เข้มข้นมาก หุ่นยนต์ที่จะนำมาช่วยเป็นแขนหุ่นยนต์ที่ออกแบบมาให้ทำงานเหมือนคันเบ็ด ปลายแขนเป็นที่คีบโลหะที่มีลักษณะเหมือนกรงเล็บ สามารถยืดขยายออกไปได้ไกลประมาณ 22 เมตร ควบคุมการทำงานได้จากระยะไกล 


โดยส่วนที่เหมือนกรงเล็บจะยื่นเข้าไปในเครื่องปฏิกรณ์เพื่อสกัดเอาเศษซากกัมมันตภาพรังสีปริมาณ 0.1 ออนซ์ หรือประมาณ 3 กรัม จากนั้นหุ่นยนต์จะเคลื่อนตัวออกมา ปฏิบัติการนี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งเหตุผลที่ต้องใช้เวลานานขนาดนี้ ก็เพราะหุ่นยนต์ต้องมีการเคลื่อนไหวอย่างแม่นยำเพื่อหลีกเลี่ยงการชนสิ่งกีดขวาง 


เมื่อได้เศษซากกัมมันตภาพรังสีมาแล้ว จะถูกนำมาวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อกำหนดวิธีที่ดีที่สุดในการกำจัด จัดเก็บ และกำจัดเศษเชื้อเพลิงดังกล่าวต่อไป


ก่อนหน้านี้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 TEPCO ก็ได้ติดตั้งโดรน 2 ลำ และหุ่นยนต์รูปร่างคล้ายงู 1 ตัว เข้าไปในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับปฏิการครั้งนี้แล้ว โดยทั้งโดรนและหุ่นยนต์งู ใช้สำหรับนำทางและสำรวจภายในเครื่องปฏิกรณ์ที่มีความซับซ้อน


ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการจัดการปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ

นับตั้งแต่เกิดภัยพิบัติฟุกุชิมะเมื่อปี 2011 หน่วยงานญี่ปุ่นก็ได้พยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหา และในปี 2023 ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่าญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้เกิดความกังวลด้านสภาพแวดล้อมไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศจีนและประเทศรัสเซียที่ได้สั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลของญี่ปุ่น แม้ว่าโตเกียวจะยืนยันว่าการปล่อยน้ำเสียดังกล่าวนี้มีความปลอดภัย และการยืนยันนี้ได้รับการรับรองจากหน่วยงานปรมาณูแห่งสหประชาชาติ


นับว่าปฏิบัติการ Pilot Extraction Operation เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการรื้อถอนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีความซับซ้อน และส่งผลกระทบมาอย่างยาวนาน


ที่มาข้อมูล InterestingEngineering

ที่มารูปภาพ APvideoshub, TEPCO

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง