รีเซต

นักวิจัยจีนลุยเพาะ 'เมล็ดพันธุ์' จากสถานีอวกาศบนพื้นโลก

นักวิจัยจีนลุยเพาะ 'เมล็ดพันธุ์' จากสถานีอวกาศบนพื้นโลก
Xinhua
5 พฤษภาคม 2567 ( 19:42 )
28

  (แฟ้มภาพซินหัว : แคปซูลส่งกลับของยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมเสินโจว-17 (Shenzhou-17) ซึ่งบรรทุกทีมนักบินอวกาศสามนาย ได้แก่ ทังหงโป ถังเซิ่งเจี๋ย และเจียงซินหลิน ลงจอดบนจุดลงจอดตงเฟิง เขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางตอนเหนือของจีน วันที่ 30 เม.ย. 2024) 

ปักกิ่ง, 5 พ.ค. (ซินหัว) -- หลังจากยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมเสินโจว-17 (Shenzhou-17) กลับมาแตะพื้นโลกเมื่อวันอังคาร (30 เม.ย.) ที่ผ่านมา ตัวอย่างการทดลองทางวิทยาศาสตร์ชุดใหม่จากสถานีอวกาศของจีน ซึ่งรวมถึงเมล็ดพันธุ์สำหรับการทดลองเพาะพันธุ์บนอวกาศ ก็ถูกส่งกลับมายังโลกด้วยเช่นกัน 

รายงานระบุว่าเมล็ดพันธุ์พืชซึ่งเป็นอาหารปศุสัตว์ ได้แก่ถั่วอัลฟัลฟาและข้าวโอ๊ตจากสถาบันสัตวศาสตร์และเภสัชศาสตร์หลานโจว สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์การเกษตรจีน ผ่านการรับรังสีในอวกาศบนอุปกรณ์รับรังสีทางชีววิทยาในอวกาศของสถานีอวกาศจีนมาเป็นเวลา 11 เดือน

หลังจากทำการตรวจสอบเบื้องต้นที่ศูนย์เทคโนโลยีและวิศวกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์อวกาศ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เมล็ดพันธุ์ดังกล่าวถูกส่งต่อไปยังทีมวิจัยจากสถาบันสัตวศาสตร์และเภสัชศาสตร์หลานโจวเพื่อทำการวิจัยเชิงทดลอง

หยางหงซาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ประจำทีมวิจัยเผยว่าคณะนักวิจัยได้เริ่มทำการทดลองการงอกเมล็ด (seed germination) ของเมล็ดพันธุ์ดังกล่าว ก่อนจะดำเนินการทดลองเพาะพันธุ์บนพื้นดินต่อไปเพื่อให้ได้เมล็ดพืชกลายพันธุ์ที่ดีเยี่ยมและทำการเพาะปลูกพันธุ์พืชที่ใช้เป็นอาหารสัตว์แบบใหม่ที่มีผลผลผลิตสูงขึ้น คุณภาพดีขึ้น และความต้านทานก็มากขึ้นหยางคาดว่าผลการวิจัยจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรของจีน พร้อมสนับสนุนการพัฒนาด้านการเกษตรที่ยั่งยืนของประเทศให้แข็งแกร่ง

ทั้งนี้ ทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการเพาะปลูกถั่วอัลฟัลฟา 3 สายพันธุ์ใหม่และข้าวโอ๊ต 1 สายพันธุ์ใหม่ ผ่านการเพาะพันธุ์ด้วยการกลายพันธุ์บนอวกาศ ซึ่งสายพันธุ์เหล่านี้ได้รับการส่งเสริมและนำไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางในภาคการผลิต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง