รีเซต

จีนให้คำมั่นเดินหน้าส่งเสริม 'ความรอบรู้เชิงวิทยาศาสตร์' ในหมู่ประชาชน

จีนให้คำมั่นเดินหน้าส่งเสริม 'ความรอบรู้เชิงวิทยาศาสตร์' ในหมู่ประชาชน
Xinhua
27 มิถุนายน 2564 ( 11:02 )
69

 

ปักกิ่ง, 27 มิ.ย. (ซินหัว) -- เร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรีจีนได้ประกาศแผนใหม่เพื่อส่งเสริมความรอบรู้เชิงวิทยาศาสตร์ของประชาชน โดยระบุว่าจีนมีการพัฒนาที่สำคัญในประเด็นนี้ และให้คำมั่นที่จะส่งเสริมความก้าวหน้าต่อไป

 

 

แผนปฏิบัติงานด้านความรอบรู้เชิงวิทยาศาสตร์ของประชาชนช่วงปี 2021-2035 ของจีนระบุว่า ภายในปี 2025 สัดส่วนของประชากรจีนที่มีความรอบรู้เชิงวิทยาศาสตร์จะทะลุร้อยละ 15 โดยจะเห็นได้ชัดถึงความคืบหน้าของจีนในการกระจายความรู้เชิงวิทยาศาสตร์แก่คนทุกภูมิภาคและทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ

 

 

จากนั้น ภายในปี 2035 สัดส่วนดังกล่าวจะแตะร้อยละ 25 โดยจะเห็นได้ชัดถึงความแตกต่างระหว่างประชาชนในเมืองกับชนบทที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ

 

 

ความรอบรู้เชิงวิทยาศาสตร์ หมายถึงจิตวิญญาณที่ใฝ่รู้ด้านวิทยาศาสตร์ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์กับการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา

 

 

จีนได้พัฒนาการศึกษาและฝึกอบรมด้านวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ให้เป็นที่นิยม และเพิ่มการลงทุนในประเด็นนี้ โดยในปี 2020 มีสัดส่วนประชากรจีนที่มีความรอบรู้เชิงวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นแตะที่ร้อยละ 10.56

 

 

แผนดังกล่าวระบุว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จีนจะลงแรงครั้งใหญ่ด้วยการดำเนินโครงการสำคัญ 5 โครงการใน 5 สาขา ได้แก่ การส่งเสริมทรัพยากรทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นที่นิยม การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ยอดนิยม (popular-science) โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ยอดนิยม การส่งเสริมความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ยอดนิยมของประชาชนระดับรากหญ้า และการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างประเทศ

แผนใหม่ยังจัดลำดับประชาชนออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ วัยรุ่น เกษตรกร แรงงานอุตสาหกรรม ผู้สูงอายุ และผู้ได้รับการฝึกฝนเฉพาะด้านให้เป็นแนวหน้าในการดำเนินงานและข้าราชการ

ทั้งนี้ แผนระบุว่าภารกิจหลักในการปรับปรุงความรอบรู้เชิงวิทยาศาสตร์ของวัยรุ่นอยู่ที่การยกระดับความรอบรู้เชิงวิทยาศาสตร์ของครูอาจารย์ โดยจีนให้คำมั่นที่จะพัฒนาความรู้ดังกล่าวในหมู่ครูระดับประถมศึกษา ด้วยการอำนวยความสะดวกแก่ครูในการเข้าถึงความรู้และทักษะการสอนใหม่ๆ ตลอดจนบ่มเพาะครูวิทยาศาสตร์ในพื้นที่ชนบท

ส่วนการปรับปรุงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของผู้สูงอายุนั้น จะมีการจัดบริการฝึกอบรมผู้สูงอายุเกี่ยวกับการใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ บนอุปกรณ์อัจฉริยะ และการเสนอบริการสุขภาพทางสังคมที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น

ในปี 2020 จีนมีประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปถึง 264 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.7 ของประชากรทั้งหมด และมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2035 ตัวเลขดังกล่าวจะทะลุ 400 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง