นาซา เผยแผนปกป้องโลกจาก 'พายุสุริยะ'
นาซามอบเงินทุนระยะยาว 5 ปี ให้ศูนย์พยากรณ์อากาศอวกาศในมหาวิทยาลันมิชิแกน พัฒนาระบบพยากรณ์ "พายุสุริยะ" ปกป้องโลกจากรังสีอันตราย
ปรากฏการณ์ปะทุของดวงอาทิตย์ หรือ พายุสุริยะ ที่ผ่านมา ได้ปล่อยมวลโคโรนาและพลังงานจำนวนมหาศาล ส่งผลกระทบต่อโลกแต่ยังไม่มากนัก เช่น สัญญาณโทรศัพท์และ GPS ขาดหายในช่วงสั้นๆ แต่ในช่วงหลังพบว่าพายุสุริยะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยดวงอาทิตย์ได้ปล่อยอนุภาคประจุขนาดเล็กที่เรียกว่า เอสอีพีเอส ซึ่งเป็นอิเล็กตรอนและโปรตรอน ซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเกือบแสง
เอสอีพีเอส สามารถพุ่งชนโลกและอาจทะลุชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดรังสีอันตรายถึงชีวิตได้ นาซามองว่าเป็นความเสี่ยงต่อทุกสิ่งในอวกาศ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อาจเจอสัญญาณรบกวน และเซ็นเซอร์อาจเสียหายได้ รวมถึงเหตุการณ์ที่รุนแรงเพียงครั้งเดียว สามารถเป็นอันตรายต่อชีวิตนักบินอวกาศได้ด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้น ยังกังวลว่า จะกลายเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการเดินทางในอวกาศในระยะยาว เนื่องจากเอสอีพีเอสสามารถทำลายดีเอ็นเอ และนำไปสู่โรคมะเร็งของนักบินอวกาศ เสี่ยงกระทบต่อภารกิจไปดาวอังคารและดาวอื่นในอนาคต
ข้อมูล ณ ตอนนี้ พบว่า ความเร็วของเอสอีพีเอส จะทำให้การปะทุของดวงอาทิตย์เข้าถึงวงโคจรโลกได้ภายในไม่กี่นาที ซึ่งหมายความว่ายากที่จะเตือนล่วงหน้า นาซาจึงมองว่าต้องเร่งหาทางออกด้วยการมอบทุนวิจัยระยะยาว 5 ปี มุ่งเน้นไปที่การพยากรณ์อากาศในอวกาศ ที่แม่นยำและทันท่วงทีเพื่อเตือนก่อนเกิดพายุสุริยะ
ศูนย์ดังกล่าวนี้ จะเริ่มโครงการที่มีชื่อว่า CLEAR รวบรวมนักดาราศาสตร์และนักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ตั้งแต่ผู้สังเกตการณ์ไปจนถึงหลักทฤษฎี โดยจะใช้แบบจำลองทางทฤษฎีของพื้นผิวดวงอาทิตย์ เพื่อคาดการณ์ความรุนแรงของพายุสุริยแบบเรียลไทม์
ภาพจาก รอยเตอร์