รีเซต

สกอตแลนด์เตรียมสร้างโรงงานกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ ที่จะทำหน้าที่แทนต้นไม้ 40 ล้านต้น

สกอตแลนด์เตรียมสร้างโรงงานกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ ที่จะทำหน้าที่แทนต้นไม้ 40 ล้านต้น
ข่าวสด
26 มิถุนายน 2564 ( 12:08 )
32
สกอตแลนด์เตรียมสร้างโรงงานกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ ที่จะทำหน้าที่แทนต้นไม้ 40 ล้านต้น

 

บริษัทอังฤษและแคนาดาเตรียมสร้างโรงงานดูดคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสกอตแลนด์

 

แผนดังกล่าวจะสามารถกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงหนึ่งล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนที่ปกติแล้วต้องใช้ต้นไม้ถึง 40 ล้านต้น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกสกัดออกจากอากาศแล้วจะถูกนำไปฝังไว้ใต้ก้นทะเลนอกชายฝั่งสกอตแลนด์

 

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญบางฝ่ายเตือนว่านี่ไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้

 

โครงการไดเร็คแอร์แคปเจอร์ (Direct Air Capture - DAC) หรือการดูดอากาศโดยตรง เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทสตอร์เรกกา (Storegga) จากสหราชอาณาจักรและบริษัทคาร์บอนเอ็นจิเนียริง (Carbon Engineering) ของแคนาดา

 

การประกาศเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. นับเป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบและกระบวนการด้านวิศวกรรมหลังจากที่ได้มีการศึกษาเรื่องความเป็นไปได้ของแผนนี้แล้ว และหากทุกอย่างเป็นไปตามเป้าก็จะเริ่มใช้งานได้ภายในปี 2026 และจะเป็นโรงงานไดเร็คแอร์แคปเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และเมื่อปรับตั้งค่าในขั้นตอนสุดท้ายแล้วก็อาจจะใหญ่ที่สุดในโลกด้วย

 

CARBON ENGINEERING
โรงงานนำร่องแล้วที่เขตสควีมมิช รัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดา สามารถดูดคาร์บอนไดออกไซด์ได้วันละ 1 ตัน

 

กระบวนการ

 

คาร์บอนเอ็นจิเนียริงเป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีนี้ หลังจากที่เคยมีโรงงานนำร่องแล้วที่เขตสควีมมิช รัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดา ซึ่งสามารถดูดคาร์บอนไดออกไซด์วันละ 1 ตันมาตั้งแต่ปี 2015

 

ระบบของโรงงานนี้คือมีพัดลมดูดอากาศ จากนั้นก็จะนำไปผสมเข้ากับส่วนผสมทางเคมีที่จะไปดึงคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ หลังจากขั้นตอนการกลั่นเพิ่มเติม ของเหลวจะกลายเป็นเม็ดแคลเซียมคาร์บอเนต และเมื่อเม็ดแคลเซียมคาร์บอเนตโดนความร้อนที่ 900 องศาเซลเซียส เม็ดดังกลาวก็จะสลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์เหลวและแคลเซียมออกไซด์

 

จากนั้น คาร์บอนไดออกไซด์เหลวจะถูกนำไปกลั่นจนน้ำที่เจือปนอยู่หมดไป หลังจากนั้นคาร์บอนไดออกไซด์นี้ก็จะถูกปั๊มลงใต้ก้นทะเลและฝังอยู่ที่นั่นเป็นการถาวร หรือจะนำไปขายเชิงพาณิชย์ หรือเอาไปทำเป็นน้ำมันก็ได้

 

ทำไมต้องมีโรงงานลักษณะนี้

 

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change - IPCC) บอกว่าโลกต้องพยายามไม่ให้อุณหภูมิสูงเกิน 1.2 องศาเซลเซียสก่อนสิ้นศตวรรษนี้ แต่อุณหภูมิโลกในปี 2020 นับเป็นปีที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมา

 

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบอกว่า ทศวรรษต่อไปนี้ โลกต้องลดการปล่อยคาร์บอนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นจากรถ ระบบทำความร้อนในบ้าน และแง่มุมอื่น ๆ ในชีวิต

 

CARBON ENGINEERING
ระบบของโรงงานนี้คือมีพัดลมดูดอากาศ จากนั้นก็จะนำไปผสมเข้ากับส่วนผสมทางเคมีที่จะไปดึงคาร์บอนไดออกไซด์ไว้

 

อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์บอกว่านอกจากนั้นแล้ว โลกต้องพยายามหาทางดูดก๊าซเรือนกระจกไว้ด้วยวิธีอื่นด้วย หากจะรักษาระดับอุณหภูมิไว้ไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

 

สตีฟ โอล์ดแฮม ประธานกรรมการบริหารของบริษัทคาร์บอนเอ็นจิเนียริง บอกว่า แม้จะใช้มาตรการอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นลดการปล่อยคาร์บอน ใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือพลังงานหมุนเวียน เราก็ต้องใช้เทคโนโลยีในการดูดคาร์บอนไดออกไซด์ร่วมด้วย

 

"ผมคิดว่าการดูดอากาศโดยตรงจะเป็นส่วนสำคัญของแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ของสหราชอาณาจักร ...สำหรับเราแล้ว โรงงานปกติจะสามารถกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละหนึ่งล้านตัน นั่นเท่ากับต้นไม้ 40 ล้านต้น"

 

ทั้งสองบริษัทที่ร่วมมือกันบอกว่าทิศตะวันออกเฉียงเหนือของสกอตแลนด์มีความได้เปรียบในการใช้เทคโนโลยีแบบนี้ นอกจากมีแหล่งพลังงานหมุนเวียนมากแล้ว ยังมีแรงงานที่มีทักษะจากอุตสาหกรรมน้ำมันในแถบทะเลเหนืออีกด้วย แต่ข้อได้เปรียบสำคัญที่สุดคือมีทำเลที่ดีที่จะสร้างท่อส่งคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดูดได้ไปฝังใต้ก้นทะเล

 

อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์บอกว่า หากมีการตั้งโรงงานแบบนี้อย่างกว้างขวาง จะส่งผลต่อการใช้พลังงาน น้ำ และที่ดิน มาก โดยรายงานฉบับหนึ่งจากปีที่แล้วบอกว่า ภายในปี 2050 ราคาพืชสวนจะสูงขึ้นมากกว่า 5 เท่าในพื้นที่บางแห่งในโลก

 

นอกจากนี้ บางคนยังกังวลว่า ถ้าสามารถใช้เทคโนโลยีนี้โดยใช้งบน้อยลงและคุ้มทุนมากขึ้น รัฐบาลจะเริ่มผ่อนผันเรื่องคำมั่นสัญญาที่จะลดการปล่อยคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลก

 

นักวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้บอกว่าจะเป็นการไม่ฉลาดหากคิดจะพึ่งพาแต่เทคโนโลยีนี้อย่างเดียว และละเลยมาตรการพื้นฐานอื่น ๆ ในการลดการใช้คาร์บอน แต่ควรจะใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กันไปด้วย

........

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง