รีเซต

วอน อย. ปรับเกณฑ์ 'ฉลากโภชนาการ' หวั่นกระทบส่งออก-แข่งขัน

วอน อย. ปรับเกณฑ์ 'ฉลากโภชนาการ' หวั่นกระทบส่งออก-แข่งขัน
TNN ช่อง16
10 มิถุนายน 2567 ( 18:58 )
62

ตัวแทนผู้ประกอบการบริษัทยักษ์ใหญ่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เช่น บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอลอุตสาหกรรม จำกัด, บจก. ซีโน่-แปซิฟิก เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์), บจก.ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย), บจก.ดีพีโอ (ไทยแลนด์), บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้งส์ จำกัด, บริษัท Fonterra, บริษัท Mars Wrigley และ Nestle (Thai) ได้เข้าพบหารือกับนายเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 เพื่อขอให้ทบทวนประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 445) พ.ศ. 2566 เรื่อง ฉลากโภชนาการ ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567


ตัวแทนผู้ประกอบการได้เสนอ 5 ประเด็นปัญหา ได้แก่ 1) การเพิ่มจำนวนสินค้าที่ใช้ "ฉลากร่วม" เพื่อลดต้นทุนและขยะ 2) ฉลากร่วมที่วางจำหน่ายข้ามประเทศจำเป็นต้องจัดทำตามความต้องการของประเทศคู่ค้า ซึ่งอาจแตกต่างจากรูปแบบของไทย 3) ผู้ผลิตไทยจะได้เปรียบในการแข่งขันหากสามารถจัดทำฉลากโภชนาการภาษาอื่นให้ตรงความต้องการของประเทศคู่ค้า 4) ข้อมูลในฉลากโภชนาการแม้ต่างรูปแบบ แต่ยังคงเป็นข้อเท็จจริงของสินค้า และ 5) การกำหนดให้ขอความเห็นชอบจาก อ.ย. สำหรับฉลากโภชนาการภาษาต่างประเทศจะสร้างภาระโดยไม่จำเป็น


ตัวแทนผู้ประกอบการชี้ว่า รูปแบบฉลากโภชนาการและวิธีคิดคำนวณสารอาหารแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ซึ่งโดยปกติแล้วแต่ละประเทศจะพิจารณาตรวจสอบเฉพาะฉลากโภชนาการของตน ดังนั้นการที่ อย. ต้องตรวจสอบฉลากภาษาต่างประเทศตามกฎหมายไทยจึงเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ และไม่มีประเทศใดเคยดำเนินการในลักษณะนี้ อีกทั้งยังอาจถูกมองว่าเป็นการกีดกันทางการค้าและกระทบต่อศักยภาพในการแข่งขันของเอกชนไทย


รองเลขาฯ อย. ให้ความเห็นว่านโยบายรัฐบาลเน้นให้ไทยเป็นครัวของโลก กฎระเบียบจึงควรส่งเสริมการส่งออกอาหาร รวมทั้งให้ความสำคัญกับการลดคาร์บอนซึ่งสอดคล้องกับการใช้ฉลากร่วม อย. จะนำข้อมูลจากการหารือไปใช้ในการแก้ไขปัญหาและทำงานร่วมกับผู้ประกอบการต่อไป เพื่อป้องกันการย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ


ภาพ TNN 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง