รีเซต

ครบรอบ 54 ปี ภารกิจ Apollo 11 การเดินทางไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษย์

ครบรอบ 54 ปี ภารกิจ Apollo 11 การเดินทางไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษย์
TNN ช่อง16
20 กรกฎาคม 2566 ( 18:36 )
126
ครบรอบ 54 ปี ภารกิจ Apollo 11 การเดินทางไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษย์

20 กรกฎาคม 1969 วันนี้เมื่อ 54 ปีก่อน ภารกิจอะพอลโล 11 (Apollo 11) ภารกิจแรกที่มนุษย์ถูกส่งไปทำการเดินบนดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ในระหว่างการแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศช่วงสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ความสำเร็จครั้งสำคัญของนักบินอวกาศ 3 คน ประกอบด้วยนักบินอวกาศนีล อาร์มสตรอง ผู้บังคับการภารกิจ, บัซ อัลดริน นักบินยานลงจอดบนดวงจันทร์และไมเคิล คอลลินส์ นักบินยานบังคับการ รวมไปถึงทีมงานภาคพื้นบนโลกอีกหลายแสนคน



ป้าหมายของภารกิจอะพอลโล 11


เป้าหมายของภารกิจ คือ การสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์พร้อมกับเก็บตัวอย่างหินบนดวงจันทร์กลับมายังโลก การบันทึกภาพถ่ายมุมมองต่าง ๆ ของดวงจันทร์และถ่ายทอดสดกลับมาให้ผู้ชมบนโลกรับชมวินาทีประวัติศาสตร์ โดยใช้สถานีรับสัญญาณ Goldstone ในสหรัฐอเมริกาและสถานีรับสัญญาณ Honeysuckle Creek ในออสเตรเลีย เพื่อความต่อเนื่องของการถ่ายทอดสด โดยคาดว่ามีผู้รับชมพร้อมกันทั่วโลก 600 ล้านคน 


ภายหลังจากเหยียบผิวดวงจันทร์ นีล อาร์มสตรองรีบเก็บหินบนดวงจันทร์ใส่กระเป๋าบริเวณต้นขาขวาเพื่อรับประกันว่าหากเกิดข้อผิดพลาดและต้องรีบหนีขึ้นยานอวกาศ นาซาจะมีหินบนดวงจันทร์ติดตัวนักบินอวกาศกลับมาด้วย นอกจากนี้ในระหว่างการสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์นักบินอวกาศทั้งสองได้นำธงชาติสหรัฐอเมริกาไปปักไว้บนดวงจันทร์และธงผืนดังกล่าวยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน

 

จรวดและยานอวกาศ


จรวดที่ใช้ในภารกิจอะพอลโล 11 มีชื่อว่าจรวดแซทเทิร์น 5 (Saturn V) นับเป็นจรวดที่ทรงพลังมากที่สุดในยุคนั้น พัฒนาโดยความร่วมมือของนาซาและบริษัท Boeing, North American Aviation และบริษัท Douglas Aircraft ระบบคอมพิวเตอร์ในตัวจรวดพัฒนาโดยบริษัท IBM โครงสร้างจรวดมีความสูง 111 เมตร จรวดใช้เชื้อเพลิงเป็นน้ำมันก๊าดและออกซิเจนเหลว จรวดแบ่งการทำงานเป็น 3 ขั้นตอน


ยานอวกาศที่ใช้ภารกิจอะพอลโล 11 แบ่งออกเป็น 2 โมดูล คือ โมดูลยานบังคับการ (Apollo command and service module) ทำหน้าที่เป็นยานบังคับการที่อยู่อาศัยของนักบินอวกาศระหว่างเดินทางและใช้เดินทางผ่านชั้นบรรยากาศเพื่อกลับลงสู่พื้นโลก และโมดูลยานลงจอด (Apollo Lunar Module) ยานอวกาศในส่วนนี้มีความสำคัญต่อการลงจอดสามารถลงจอดบนดวงจันทร์และแยกตัวบินขึ้นจากพื้นผิวดวงจันทร์



มนุษย์คนแรกบนดวงจันทร์


นีล อาร์มสตรอง ในฐานะผู้บังคับการยานอวกาศในภารกิจอะพอลโล 11 ได้รับเลือกให้เป็นมนุษย์คนแรกที่เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ โดยถูกคัดเลือกจากความสามารถ ความฉลาดในการตัดสินใจเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับภารกิจในช่วงเวลาแห่งความเป็นและความตายได้อย่างถูกต้อง 


โดยก่อนหน้านี้นีล อาร์มสตรองได้เอาชีวิตรอดจากภารกิจที่ยากลำบากมาได้หลายครั้ง เช่น ภารกิจทดสอบต้นแบบยานอวกาศ Lunar Landing Research Vehicle 1 ระเบิดขณะทำการทดสอบ รวมไปถึงภารกิจ Gemini 8 ซึ่งเป็นการนำยานอวกาศเข้าเชื่อมต่อบนวงโคจรของโลกเป็นครั้งแรกและเกือบกลายเป็นโศกนาฏกรรมบนอวกาศ โดยนีล อาร์มสตรองได้แสดงความสามารถและการตัดสินใจที่ยอดเยี่ยม


นีล อาร์มสตรอง ไม่ค่อยออกสื่อและเปิดเผยชีวิตส่วนตัวมากนัก โดยทั่วไปเขามีนิสัยเป็นคนเงียบสงบ สุขุม มีความรอบคอบแต่มีความมั่นใจในตัวเองสูง ความรับผิดชอบต่อภารกิจ ภายหลังภารกิจอะพอล 11 และการเดินสายแนะนำตัวประเทศต่าง ๆ เขากลับไปใช้ชีวิตอย่างสงบและรักความเป็นส่วนตัว ครั้งหนึ่งเขาเคยไปตัดผมที่ร้านและถูกชายคนหนึ่งขโมยเส้นผมของเขาไปขาย กล่าวกันว่าเรื่องนี้ทำให้นีล อาร์มสตรองไม่พอใจเป็นอย่างมาก



เรื่องไม่ลับแต่คนไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับภารกิจอะพอลโล 11


สหรัฐอเมริกาเกือบพ่ายแพ้ในการแข่งขันไปดวงจันทร์ที่ดุเดือดระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต โดยทางสหภาพโซเวียตได้เตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ ทั้งยานอวกาศและการฝึกนักบินสำหรับการลงจอดบนดวงจันทร์เกือบสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามจรวด N1 ของสหภาพโซเวียตไม่ประสบความสำเร็จในการบินขึ้นจากโลกและล้มเหลวในการทดสอบหลายครั้ง รวมไปถึงงบประมาณที่เริ่มไม่เพียงพอทำให้กลายเป็นโอกาสของสหรัฐอเมริกาที่พัฒนาโครงการอะพอลโลไปอย่างรวดเร็วมากกว่า


นักคณิตศาสตร์ที่เป็นผู้คำนวณวิถีวงโคจรของยานอวกาศในภารกิจอะพอลโล 11 เป็นผู้หญิงชาวสหรัฐอเมริกาเชื้อสายแอปริกัน ชื่อว่า แคเทอรีน จอห์นสัน โดยใช้แรงโน้มถ่วงของโลกและดวงจันทร์เป็นเครื่องมือในการรับส่งยานอวกาศเดินทางกลับโลกอย่างปลอดภัยเรียกว่าวิถีวนกลับอิสระ (Free-return trajectory) โดยใช้พลังงานเชื้อเพลิงที่น้อยลง


นักบินอวกาศบัซ อัลดริน นักบินอวกาศคนแรกที่ฉี่บนดาวดวงอื่น ภารกิจต้องมาก่อนการเข้าห้องน้ำทำให้นักบินอวกาศบัซ อัลดริน ฉี่ใส่อุปกรณ์เครื่องเก็บน้ำปัสสาวะที่อยู่ในชุดอวกาศ ก่อนการก้าวลงจากยานอวกาศ อย่างไรก็ตามในระหว่างการก้าวลงจากยานเขากระโดดลงสูงเกินไปทำให้ท่อเก็บฉี่ในชุดอวกาศได้รับแรงกระแทกจนเกิดรอยรั่วออกมา ทำให้มีน้ำปัสสาวะหลุดออกมาจำนวนหนึ่งและเขาต้องทำภารกิจต่อไปแม้จะรู้ว่ามีน้ำปัสสาวะของตัวเองรั่วหลุดออกมาในชุดอวกาศ


นอกจากยานอวกาศบางส่วนที่จอดทิ้งเอาไว้บนดวงจันทร์นักบินอวกาศในภารกิจอะพอลโล 11 ยังได้ทำการติดตั้งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า Passive Seismic Experiment Package (PSEP) เพื่อใช้ติดตามการเคลื่อนตัวของพื้นผิวดวงจันทร์และองค์ประกอบอื่น ๆ ส่งข้อมูลกลับมายังโลก รวมไปถึงแผ่นกระจกสะท้อนแสงเลเซอร์ Lunar Laser Ranging experiments เพื่อวัดระยะห่างระหว่างโลกและดวงจันทร์โดยใช้แสงเลเซอร์ที่มีความแม่นยำสูงเพื่อยืนยันแนวคิดที่ว่าดวงจันทร์ถอยห่างออกจากโลกตลอดเวลา


ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ Wikipedia.org, NASA

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง