รีเซต

รู้ทัน! กลโกง “แชร์ออนไลน์-หลอกลงทุน-หลอกกู้เงิน” พร้อมวิธีทวงเงินคืนจากมิจฉาชีพ

รู้ทัน! กลโกง “แชร์ออนไลน์-หลอกลงทุน-หลอกกู้เงิน” พร้อมวิธีทวงเงินคืนจากมิจฉาชีพ
Ingonn
17 กันยายน 2564 ( 11:55 )
870
รู้ทัน! กลโกง “แชร์ออนไลน์-หลอกลงทุน-หลอกกู้เงิน” พร้อมวิธีทวงเงินคืนจากมิจฉาชีพ

ไหนว่าจะไม่หลอกกัน! ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นี้ มีหลายคนเริ่มได้รับ SMS แปลก ชวนร่วมลงทุน โอนเงินเข้าบัญชีแล้ว คุณคือผู้โชคดี ชวนแชร์ออนไลน์ แชร์ลูกโซ่ มากไปกว่านั้น สาวก iPhone เจอแชร์อัลบั้มภาพร่วมกันอีก ทุกวันนี้แทบจะไม่ใช่มิจฉาชีพแล้ว แทบจะสิงกันเข้ามาในชีวิตประจำวันแล้ว 

 

 

วันนี้ TrueID จึงได้รวบรวม กลเม็ด วิธีการจับทันว่า “เรากำลังโดนหลอก” ไม่ว่าจะเป็นลงทุน , แชร์ออนไลน์ , กู้เงิน , หลอกขายของ และอีกมากมายที่เราต้องรู้ ก่อนโดนหลอก หากโดนหลอกแล้วเราจะทวงเงินคืน หรือแจ้งความอย่างไรบ้าง

 

 

 

รูปแบบกลโกงมิจฉาชีพ


1.หลอกขออีเมล ชื่อบัญชี และรหัสผ่าน เพื่อยืนยันการใช้งานอีเมล


เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก สำหรับการขออีเมล หรือรหัสผ่านเพื่อยืนยันการใช้งานบัญชี แต่ถ้าหากจู่ๆ ก็มีการขอแบบนี้มาให้สังเกตว่า อาจเป็นมิจฉาชีพปลอมตัวมาได้ โดยมิจฉาชีพจะส่งอีเมลอ้างเป็นผู้ให้บริการบัญชีอีเมล หลอกขอชื่อบัญชีผู้ใช้งาน (email address) และรหัสผ่าน (password) เพื่อยืนยันการใช้งานอีเมล แล้วใช้รหัสผ่านที่ได้มาเข้าใช้งานบัญชีแทนเจ้าของ แล้วก็ส่งอีเมลไปหลอกเพื่อนของเจ้าของบัญชีอีกที ให้เพื่อนโอนเงินให้ 

 

 

ข้อสังเกต


มิจฉาชีพจะอ้างเป็นผู้ให้บริการบัญชีอีเมลแต่ชื่อบัญชีอีเมล (email address) ที่แสดง จะไม่ใช่ชื่อบัญชีอีเมลของผู้ให้บริการอีเมลจริง นอกจากนั้น ข้อความในอีเมลที่มิจฉาชีพส่งให้เหยื่อคนที่ 2 มักเป็นภาษาอังกฤษหรือเป็นภาษาไทยที่ไม่คุ้นเคย เช่น ใช้สรรพนามต่างจากที่เคยใช้สนทนากัน

 


วิธีสังเกตอีเมลปลอม

 

ภาพจาก ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน

 

 

2.หลอกเป็นคนอื่น แล้วโอนเงินหรือส่งของมาให้


เคยเจอตำนานรักแท้ หลอกโอนเงินไหม? นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เราแทบไม่รู้เลยว่าเป็นความรัก หรือหลอกลวง โดยมิจฉาชีพจะอ้างเป็นบุคคลต่าง ๆ แล้วหลอกเหยื่อว่าจะโอนเงิน หรือส่งของให้เหยื่อ เมื่อเหยื่อได้รับหลักฐานการโอนเงินหรือการส่งของ ก็มักหลงเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง 

 

 

ส่วนใหญ่หลอกลวงด้วยการตีสนิทเข้ามาจีบ (ใช้รูปโปรไฟล์ ชาวต่างชาติหน้าตาดี สวย เท่ห์ ) และหลอกว่าจะส่งของมาให้ จากนั้นจะมีผู้ร่วมขบวนการโทรมาติดต่อหลอกว่าเป็นพนักงานบริษัทขนส่งให้โอนค่าธรรมเนียม เพื่อดำเนินการนำพัสดุออกจากด่านศุลกากร โดยส่วนมากจะอ้างว่ามีเงินสดจำนวนมากอยู่ในพัสดุดังกล่าว

 

 

หลอกเป็นใครได้บ้าง


1.เป็นนักธุรกิจที่ต้องการสั่งซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก โดยส่งหลักฐานการโอนเงินจำนวนมากเพื่อจ่ายค่าสินค้ามาให้เหยื่อดู

 


2.เป็นผู้ที่ได้รับมรดกเป็นจำนวนมาก แต่ติดเงื่อนไขไม่สามารถรับเงินได้ด้วยตนเอง จึงขอให้เหยื่อรับเงินแทน

 


3.เป็นผู้ใจบุญที่ต้องการบริจาคเงินเป็นจำนวนมหาศาลให้มูลนิธิหรือองค์กรการกุศลต่าง ๆ เมื่อแจ้งว่าจะบริจาคเงินให้กับเหยื่อแล้ว จะส่งหลักฐานการโอนเงินปลอมมาให้เหยื่อดู

 


4.เป็นชาวต่างชาติที่ต้องการหารักแท้ โดยอ้างว่าพร้อมที่จะย้ายมาอยู่กับเหยื่อเพื่อสร้างครอบครัวร่วมกัน จึงโอนเงินทั้งหมดที่มีมาให้เหยื่อ หรืออาจหลอกเหยื่อว่าจะส่งของหรือเงินสดมาให้เหยื่อทางไปรษณีย์

 

 

แต่มิจฉาชีพที่อ้างเป็นคนอื่น จะหลอกว่าโอนเงินไม่ได้ให้เราโอนไปก่น เพราะว่า


1.ธนาคารแห่งประเทศไทยระงับการโอนเงินและขอตรวจสอบ

 


2.ธนาคารกลางของประเทศต้นทางระงับการโอนเงิน เพราะสงสัยว่าเป็นการฟอกเงิน

 


3.สหประชาชาติ หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ขอตรวจสอบ

 


4.กรมศุลกากรขอตรวจสอบของที่ส่งมาจากต่างประเทศ เพราะมีเงินสดบรรจุมาด้วย

 

 

ข้อสังเกต


มิจฉาชีพจะหลอกให้เหยื่อโอนเงินผ่านบริการโอนเงินที่มิจฉาชีพสามารถรับเงินได้โดยไม่ต้องมีเอกสารแสดงตน เพราะยากต่อการติดตามจากหน่วยงานราชการ หรือองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่ และส่วนใหญ่จะไม่ติดต่อกับประชาชนโดยตรง 

 


หากหน่วยราชการใดมีกิจต้องติดต่อกับประชาชน การแจ้งให้ประชาชนดำเนินการใด ๆ จะมีเอกสารหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร หากมีผู้แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่เหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีต้องมีการโอนเงินหรือชำระเงิน ควรตรวจสอบไปยังหน่วยงานนั้นโดยตรงก่อน โดยไม่ใช้อีเมลหรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ได้รับแจ้งมา

 

 

 

3.โฆษณาปล่อยเงินกู้นอกระบบ


อันนี้เราจะเจอกันบ่อยสุดๆ มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นผู้ให้บริการเงินกู้ ผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ หรือส่งอีเมลหาเหยื่อโดยตรงว่าให้บริการเงินกู้นอกระบบดอกเบี้ยต่ำ อนุมัติเงินเร็ว ไม่ต้องซื้อสินค้า ไม่ตรวจสอบเครดิตบูโร โดยให้ผู้เสียหาย โอนเงินค่าธรรมเนียม หรือค่าดอกเบี้ยงวดแรก หรือค่ามัดจำภายในเวลาที่กำหนด แต่พอจะติดต่อกลับผู้ให้กู้ ก็ไม่สามารถติดต่อได้อีกเลย

 


ข้อสังเกต


มิจฉาชีพมักโฆษณาว่าปล่อยกู้นอกระบบดอกเบี้ยต่ำเกินจริง (บางรายต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบ) และให้ติดต่อผ่านโทรศัพท์หรืออีเมลเท่านั้น แม้กระทั่งขั้นตอนการทำสัญญาเงินกู้ ผู้ขอกู้ก็จะไม่มีโอกาสได้เจอผู้ให้กู้เลย นอกจากนี้จะให้เหยื่อโอนเงินจ่ายดอกเบี้ยล่วงหน้าก่อนที่จะได้เงินกู้ซึ่งจะแตกต่างจากการกู้เงินทั่วไปที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยเมื่อได้รับเงินต้นไปแล้ว และมักจะเร่งการตัดสินใจโดยอ้างว่าจะทำให้ผู้ขอกู้ได้เงินกู้เร็วขึ้น

 

 


4.หลอกขายของ เพื่อโอนเงิน


มิจฉาชีพจะหลอกลวงขายสินค้าโดยมีเจตนาทุจริตที่จะไม่ขายสินค้าจริงๆ หรือไม่มีสินค้าอยู่จริง โดยนำภาพสินค้าของคนอื่นมาลงโพสต์เพื่อขายให้เหยื่อหลงเชื่อ หรือหลอกลวงขายสิ้นค้าที่ลงโพสต์ไว้ว่าเป็นของแท้แต่ส่งของเลียนแบบหรือของปลอมหรือคนละอย่างกับที่โพสต์ขาย

 

 

ข้อสังเกต


มิจฉาชีพมักประกาศขายสินค้าดีในราคาถูกกว่าท้องตลาดมาก ๆ และเร่งการตัดสินใจโดยอ้างว่ามีผู้ติดต่อขอซื้อหลายรายจึงขอให้เหยื่อโอนเงินค่ามัดจำผ่านบริการโอนเงินที่มิจฉาชีพสามารถรับเงินได้โดยไม่ต้องมีเอกสารแสดงตน เพราะยากต่อการติดตาม

 

 

 

ทวงเงินคืนจากมิจฉาชีพ


1.แคปหน้าจอทั้งหมดแล้วพรินท์ออกมา พร้อมกำกับภาพว่าแต่ละภาพคืออะไร โดยหลักฐานที่ต้องใช้ เช่น หน้าเว็บไซต์ที่ขายของ รูปโปรไฟล์ของร้านค้า ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เลขที่บัญชีของร้านค้า ข้อความแชท

 


2.นำหลักฐานทั้งหมดเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ (สน.ที่ได้โอนเงิน) ภายใน 3 เดือนตั้งแต่วันที่รู้ว่าถูกโกง และออกคำสั่ง “อายัดบัญชี”

 


3.ติดต่อธนาคารเพื่อทำการอายัดบัญชี ระงับการถอนเงินออกจากบัญชีที่โอนไปกับสถาบันการเงินที่ใช้บริการ โดยสถาบันการเงินจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน จึงจะสามารถคืนเงินได้

 


4.ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์ที่ซื้อของ ส่งหลักฐานใบแจ้งความและหลักฐานอื่น ๆ ให้ เช่น หมายเลขกระทู้ username เพื่อให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ตรวจสอบ IP Address

 

 


แจ้งความพวกมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน อย่างไรบ้าง


1.แจ้งความดำเนินคดีกับสถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ (โอนเงินที่ไหนให้ไปแจ้งความที่เขตนั้น) ภายในระยะเวลา 3 เดือน นับแต่วันที่คุณรู้ว่าโดนหลอก เช่น ถึงกำหนดส่งของแล้วไม่ส่ง ติดต่อไม่ได้ เป็นต้น

 

แจ้งความประสงค์กับพนักงานสอบสวนว่า “ ประสงค์ขอแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย” ไม่ใช่แค่ขอลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐาน

 

 

2. เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจรับแจ้งความแล้วจะดำเนินการดังนี้


2.1 ลงบันทึกประจำวันรับแจ้งความดำเนินคดี (สามารถขอคัดถ่ายสำเนาได้)


2.2 สอบปากคำผู้แจ้งให้ทราบถึงรายละเอียดพฤติการณ์ในคดี


2.3 ทำการออกหมายเรียก เจ้าของบัญชีที่ผู้เสียหายได้โอนเงินไปให้ มาให้ปากคำ ถ้าไม่มาตามหมายเรียก 2 ครั้ง เป็นเหตุตามกฎหมายเชื่อว่าจะหลบหนี


2.4 ตามข้อ 2.3 ตำรวจจะยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้ออกหมายจับ

 

 

3. การเตรียมเอกสาร


3.1 บัตรประชาชนของผู้แจ้ง/ผู้เสียหาย


3.2 หน้าประกาศ/ข้อความโฆษณาขายสินค้าในWeb Board , Page , facebook instagram,Line ที่โพสต์ขายสินค้าและทำให้หลงเชื่อ


3.3 หลักฐานการโอนเงิน เช่น สลิปโอนเงิน,statement,mobile banking


3.4 หลักฐานในการติดต่อซื้อขายสินค้า พูดคุยต่างๆ เช่น ข้อความแชท(chat) ที่สั่งซื้อสินค้า , หมายเลขโทรศัพท์ , ข้อความ(sms) , email address ,Line ,messenger facebook เป็นต้น


3.5 ข้อมูลผู้ขายสินค้าหรือผู้ร่วมขบวนการ เช่น ชื่อสกุล , หมายเลขบัญชีธนาคารที่โอนเงินไปให้ , หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ,ที่อยู่ เป็นต้น


3.6 หลักฐาน/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี

 

 

 

นอกจากนั้น หากมีผู้ชักชวนให้ร่วมลงทุน โดยอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนในอัตราที่สูง และไม่เน้นขายสินค้า แต่ชักชวนให้เข้ามาร่วมลงทุน หรือให้รายละเอียดไม่ครบถ้วนว่านำเงินที่ได้ไปทำอะไรและจะได้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงอย่างไร ต้องระวังและอย่าหลงเชื่อเด็ดขาด เพราะอาจเป็นธุรกิจ แชร์ลูกโซ่ได้ หากอยากทำธุรกิจ หรือลงทุนอะไรสักอย่าง สิ่งที่ห้ามลืมเลยก็คือการตรวจสอบข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน ก็จะเป็นการป้องกันตัวเองจากเหล่ามิจฉาชีพตัวร้ายได้

 

 

 


ข้อมูลจาก ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน , กองปราบปราม , FWD

 

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง