MIT เปิดตัว “สติกเกอร์อัลตราซาวด์” แปะทิ้งไว้ เห็นภาพได้ง่ายขึ้น
ปัจจุบันแม้เราจะมีอุปกรณ์อัลตราซาวด์แบบพกพา แต่เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญก็ยังคงต้องคอยถืออุปกรณ์ตรวจเป็นเวลานาน ทีมวิศวกรจากเอ็มไอที จึงได้ออกแบบสติกเกอร์อัลตราซาวด์ขนาดเล็ก ที่สามารถแปะติดบนผิวหนังและส่งภาพอัลตราซาวได้ ช่วยให้ใช้งานได้ง่ายมากขึ้น
โดยตัวสติกเกอร์อัลตราซาวด์ที่พัฒนาขึ้นนี้ มีขนาดเล็กประมาณ 2 ตารางเซนติเมตร และหนาเพียง 3 มิลลิเมตรเท่านั้น หรือเทียบกับแสตมป์หนึ่งดวง ชั้นล่างสุดของสติกเกอร์ ทำมาจาก Elastomer หรือพอลิเมอร์ที่มีคุณสมบัติยืดหยุ่น จำนวน 2 ชั้น ซึ่งออกแบบมาให้ยึดติดกับผิวหนังได้ดี และป้องกันการคายน้ำได้
ชั้นกลาง จะเป็นไฮโดรเจลแข็ง หรือ Solid Hydrogel ซึ่งนักวิจัยกล่าวว่า เมื่อมันมีความชุ่มชื้นสูง ก็จะมีคุณสมบัติทำให้คลื่นเสียงแทรกซึมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ภาพอวัยวะภายในที่มีความละเอียดสูงได้
และชั้นบนสุด จะยึดติดกับตัว Transducer หรือตัวแปลงพลังงาน ที่ทีมวิศวกรออกแบบและประดิษฐ์ขึ้น นอกจากนี้ตัวสติกเกอร์ยังมีชั้นกาวที่ยืดหยุ่น เกาะผิวหนังได้ดีโดยที่ไม่เลื่อนหลุด ทำให้สามารถเก็บภาพตำแหน่งที่ต้องการได้อย่างชัดเจนและแม่นยำอีกด้วย ซึ่งทีมวิจัยก็ได้ทำการทดสอบใช้งาน ด้วยการแปะสติกเกอร์อัลตราซาวด์ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี พบว่าสติกเกอร์สามารถแปะติดอยู่กับผิวหนัง และให้ภาพโครงสร้างพื้นฐานของร่างกายได้นานถึง 48 ชั่วโมง
สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Science อย่างไรก็ตามตัวต้นแบบที่กำลังพัฒนาอยู่นี้ ยังคงต้องอาศัยการเชื่อมต่ออุปกรณ์แปลคลื่นอัลตราซาวด์เข้ากับสติกเกอร์ เพื่อแปลผล แต่ต่อไป ทีมจะพัฒนาให้มันสามารถทำงานแบบไร้สาย ดังนั้นเราอาจจะสามารถแปะสติกเกอร์กลับบ้าน แล้วส่งข้อมูลให้แพทย์ได้ตลอดเวลา รวมถึงอาจจะหาซื้ออุปกรณ์นี้ตามร้านขายยาได้ง่ายขึ้นด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก