รีเซต

สวทช.นำร่องจัดตั้ง รง.ต้นแบบไบโอรีไฟเนอรีใน EECi

สวทช.นำร่องจัดตั้ง รง.ต้นแบบไบโอรีไฟเนอรีใน EECi
TNN ช่อง16
10 กรกฎาคม 2563 ( 18:03 )
189
สวทช.นำร่องจัดตั้ง รง.ต้นแบบไบโอรีไฟเนอรีใน EECi

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi) จัดการประชุม kick-off โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) สำหรับโครงการระบบครุภัณฑ์โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ซึ่งโครงการดังกล่าวฯ ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตให้เข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรมประจำปีงบประมาณ 2563 

การจัดตั้งโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรีในเขต EECi  เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมฐานชีวภาพของประเทศ ตามนโยบาย BCG Economy ของรัฐบาล ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ส่วน ประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยในมิติต่างๆ ทั้งในด้านความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสาธารณสุข ความมั่นคงทางพลังงาน หลักประกันการมีงานทำ และความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองความต้องการในแต่ละพื้นที่ไปสู่การเดินหน้าไปด้วยกัน

 ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  กล่าวว่า EECi เป็นแหล่งพัฒนางานวิจัยขยายผล หรือที่เรียกกันว่า Translational Research Hub และเป็นแหล่งปรับแปลงเทคโนโลยีชั้นสูงจากต่างประเทศ (Technology Localization) ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เพื่อปิดช่องว่างทางเทคโนโลยีของไทย ที่ด้านหนึ่งก็มีขีดความสามารถสร้างผลงานแล้วระดับหนึ่งในห้องปฏิบัติการ แต่ผลงานที่ได้ส่วนใหญ่ยังส่งไม่ถึงผู้ใช้ประโยชน์ แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของไทยที่จะช่วยเสริมความเข้มแข็งทางด้านอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery) ที่นำเอาผลิตผลทางการเกษตรมาผ่านกระบวนการทางเคมีชีวภาพ เป็น ชีวเคมีภัณฑ์ (Biochemicals) ที่สามารถทดแทนผลิตภัณฑ์ที่มาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมถึงวัตถุเจือปนในอาหาร (Food additives) และสารออกฤทธิ์ (Functional ingredients) ที่มีมูลค่าสูงที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและโภชนเภสัชภัณฑ์ (Nutraceuticals)  ซึ่งมีผลงานวิจัยอยู่มากในสหภาพยุโรป โดยใช้ผลผลิตทางการเกษตรของยุโรปเป็นวัตถุดิบ ซึ่งหากจะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในประเทศไทย ก็ต้องพัฒนาวิธีในการปรับแปลงเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีนี้ให้เข้ากับชีวมวลในไทย เช่น ฟางข้าว ชานอ้อย กากมัน หรือ ทะลายปาล์มให้ได้

 การจัดตั้งโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery Pilot Plant) ในเมืองนวัตกรรมชีวภาพ (BIOPOLIS) ภายใต้ EECi ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีของไทย และเป็นเทคโนโลยีมุ่งเป้าสำคัญของ EECi ซึ่งเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีเป็นการแปรรูปชีวมวลด้วยกระบวนการทางกายภาพ เคมี และ/หรือชีวภาพ เพื่อให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพประเภทต่างๆ ได้แก่ ชีวเคมีภัณฑ์  วัสดุชีวภาพ  อาหาร และสารออกฤทธิ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษเพื่อเป็นองค์ประกอบในอาหารเสริมสุขภาพ เครื่องสำอาง หรือ โภชนเภสัชภัณฑ์ โดยหลักสำคัญของอุตสาหกรรมคือการให้ความสำคัญกับระบบการผลิตที่ยั่งยืนซึ่งเกิดจากการนำวัสดุทางการเกษตร โดยใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline


ข่าวที่เกี่ยวข้อง