รัฐ-เอกชน จับมือลงทุน 2 หมื่นล้าน บูมเมืองนวัตกรรมอีอีซีไอ
นายเจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เปิดเผยว่า ขณะนี้ EECi ได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ โดยเบื้องต้นโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมเปิดให้บริการ EECi คือ สำนักงานใหญ่ โรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ ซึ่งจะเป็นศูนย์ทดสอบการปลูกพืชสมุนไพร และพืชสำคัญต่างๆ เพื่อให้ทำเกิดสารออกฤิทธิ์ที่มีประสิทธิภาพสูง
และศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน ซึ่งเป็นศูนย์สาธิตด้านอุตสาหกรรมอัจฉริยะ พัฒนาแพลตฟอร์มที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิต ผู้พัฒนาระบบ (SI) นวัตกร นักวิจัย ตลอดจนนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่จัดเตรียมไว้ทั้งในรูปแบบการสาธิต การเรียนรู้ และการทดลองปฏิบัติจริง
หลังจากนั้นทุกปีจะมีโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆเกิดขึ้น ตามแผนพัฒนา ปี 2566 อาทิเช่น โรงเรือนฟิโนมิกซ์ เพื่อศึกษาพืชแต่ละชนิดตอบสนองภาวะแวดล้อม ที่ต่างกันอย่างไร ทั้งภาวะอากาศ แสง ความชื้น ทำให้ได้สูตรปลูก ส่วนปี 2567 จะมีสนามทดสอบรถยนต์ไร้คนขับ โรงงานผลิตต้นแบบไบโอรีไฟนอรี และ โรงงานผลิตพืช และ ในปี 2568 จะมีสนามทดสอบดิจิทัลสำหรับยานยนต์ อัตโนมัติ และระบบ
ทั้งนี้ EECi เป็นหนึ่งในเครื่องมือสร้างความเชื่อมั่นจากกลุ่มนักลงทุนไทยและต่างประเทศในการเข้ามาลงทุนในอีอีซี โดยจะมีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อรองรับการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม New S Curve และการเกษตรสมัยใหม่
สำหรับการลงทุนใน EECi นั้นที่ผ่านมา สวทช. มีการลงทุนแล้วภายใต้งบประมาณราว 6 พันล้านบาท ส่วน กลุ่ม ปตท. มีการลงทุนภายใต้งบประมาณ ราว 3 พันล้านบาท และจะมีภาครัฐ และเอกชน เข้ามาลงทุนเพิ่มอีก 1.1 หมื่นล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับเอกชนต่างประเทศที่สนใจเข้ามาลงทุนใน EECi อยู่หลายแห่ง ขณะเดียวกันหอการค้าหลายประเทศ ทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ได้นำคณะกลุ่มนักลงทุนเดินทางเข้ามาเยี่ยมชม EECi ต่อเนื่อง
ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE
ที่มาภาพ : TNN