รีเซต

เด็กไทยคว้าแชมป์แข่งเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศของ NASA บนสถานีอวกาศนานาชาติ

เด็กไทยคว้าแชมป์แข่งเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศของ NASA บนสถานีอวกาศนานาชาติ
TNN ช่อง16
13 พฤศจิกายน 2567 ( 10:08 )
9
เด็กไทยคว้าแชมป์แข่งเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศของ NASA บนสถานีอวกาศนานาชาติ

เยาวชนตัวแทนประเทศไทย ‘ทีมแอสโทรนัต" จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คว้ารางวัลชนะเลิศ จากการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศแอสโตรบี (Astrobee) ของนาซา (NASA) ที่ปฏิบัติงานอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ในโครงการคิโบะ โรบอต โปรแกรมมิง ชาเลนจ์ ครั้งที่ 5 (The 5th Kibo Robot Programming Challenge) ณ ประเทศญี่ปุ่น


รายละเอียดการแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศของ NASA

โครงการคิโบะ โรบอต โปรแกรมมิง ชาเลนจ์ ครั้งที่ 5 จัดขึ้นเพื่อให้ตัวแทนเยาวชนจาก 12 ชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ รวมถึงไทย ได้เข้าร่วมการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์แอสโตรบี (Astrobee) ของ NASA ให้ปฏิบัติภารกิจซ่อมแซมสถานีอวกาศจริงจากอวกาศ โดยมีนักบินอวกาศนาซา เจเน็ต เอปส์ (Janet Epps) ทำหน้าที่ควบคุมการแข่งขันอยู่บนห้องทดลองคิโบะโมดูล สถานีอวกาศนานาชาติ


โดยทีมแอสโทรนัตที่เป็นตัวแทนประเทศไทย ประกอบด้วยสมาชิก 4 คน ได้แก่ นายธรรญธร ไชยกายุต ชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า นายชิษณุพงศ์ ประทีปพงศ์ ชั้นปีที่ 1 สาขากายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล นายชยพล เดชศร ชั้นปีที่ 1 สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล และนายสิรวิชญ์ แพร่วิศวกิจ ชั้นปีที่ 1 สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี


ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมแอสโทรนัต จากประเทศไทย สามารถคว้ารางวัลอันดับ 1 มาครอง ด้วยคะแนน 253.09 คะแนน ส่วนรางวัลอันดับ 2 ตกเป็นของทีมจากฟิลิปปินส์ ด้วยคะแนน 250.88 คะแนน และรางวัลอันดับ 3 เป็นของตัวแทนจากบังคลาเทศ โดยมีคะแนนอยู่ที่ 153.92 คะแนน


ความสำเร็จสู่ประสบการณ์ด้านอวกาศ

นายธรรญธร ไชยกายุต นักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า หัวหน้าทีมแอสโทรนัต กล่าวถึงความรู้สึกหลังทราบผลการแข่งขันว่า "พวกเรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่คว้าชัยชนะครั้งนี้มาได้ ต้องขอบคุณความตั้งใจและความพยายามของทุกคนในทีม แม้จะเจออุปสรรคจากสภาพแวดล้อมจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ แต่เราก็เตรียมตัวรับมือไว้ล่วงหน้า ทำให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี แถมยังทำเวลาได้ยอดเยี่ยมอีกด้วย การได้นำโค้ดที่เราพัฒนาไปใช้จริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ เป็นประสบการณ์ล้ำค่าที่จะนำไปปรับใช้และต่อยอดต่อไปในอนาคตได้อย่างแน่นอน"


นอกจากการแข่งขันแล้ว ทีมแอสโตรนัตยังได้เยี่ยมชมองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นที่เมืองสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น เห็นการทำงานของห้องควบคุมปฏิบัติการ (Mission Control Room) ที่คอยติดต่อสื่อสารกับสถานีอวกาศนานาชาติ ได้เห็นศูนย์ฝึกนักบินอวกาศ (Astronaut Training Center) พร้อมแลกเปลี่ยนความคิด และประสบการณ์ทำงานจากทีมเยาวชนประเทศอื่น ๆ เช่น ทีมญี่ปุ่น และทีมจากเนปาล ทำให้ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลงานซึ่งกันและกัน 


ในการเข้าร่วมการแข่งขัน ทีมแอสโทรนัตได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง จากบริษัท เดลว์ แอโรสเปซ จำกัด และ บริษัท 168 ลัคกี้เทรด จำกัด และผู้ท่ีสนใจรับชมการแข่งขันย้อนหลัง สามารถติดตามได้ที่ YouTube ช่อง JAXA และติดตามข่าวความเคลื่อนไหวโครงการกิจกรรมวิทยาศาสตร์อวกาศสำหรับเยาวชนได้ที่เว็บไซต์ และแฟนเพจ NSTDA SPACE Education


ข้อมูลและภาพจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง