รีเซต

เพิ่มโอกาส "รอดชีวิต" ควบรวม 1669 - 191 ลดขั้นตอนแจ้งเหตุ

เพิ่มโอกาส "รอดชีวิต" ควบรวม 1669 - 191 ลดขั้นตอนแจ้งเหตุ
TNN ช่อง16
3 ตุลาคม 2566 ( 10:29 )
131

นาทีทองเพิ่มโอกาส "รอดชีวิต" ควบรวม 1669 - 191 ลดขั้นตอนแจ้งเหตุ 


เรืออากาศเอก นายแพทย์ อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. กล่าวถึงความคืบหน้า การยุบรวมหมายเลขฉุกเฉิน 1669 ไปใช้หมายเลขฉุกเฉิน 191 เบอร์เดียว ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่มีความคืบหน้าแล้ว ทั้งระบบการทำงานและงบประมาณ ราว 7,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบในส่วนของกองทุน กสทช.


เลขาธิการ สพฉ. ระบุว่า หากใช้หมายเลข 191  เบอร์เดียว  191 จะช่วยคัดกรองก่อน หากเป็นการแจ้ง เหตุด่วนเหตุร้าย ก็จะเป็นหน้าที่ของตำรวจ แต่หากเป็นเรื่องฉุกเฉินทางการแพทย์ ก็จะส่งต่อมาที่ 1669 ที่มีการประสานงานทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศเหมือนเดิม


นอกจากนี้ ระบบเดิมยังเป็นลักษณะของอนาล็อก คือ รับสาย แจ้งเหตุ ระบุสถานที่ และสอบถามอาการ 


แต่ระบบใหม่ จะเป็นดิจิทัล ที่สามารถตรวจสอบพิกัดได้จากการโทรเข้ามา ช่วยให้หน่วยงานของตำรวจ หน่วยงานทางการแพทย์ และหน่วยงานภายใต้กระทรวงมหาดไทย ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น




สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 

 



 ลดขั้นตอนแจ้งเหตุ เพิ่มโอกาส "รอดชีวิต" ? 


สำหรับคำถามต่อเนื่อง คือ อาการป่วยฉุกเฉินบางอย่างต้องการความรวดเร็วในการช่วยเหลือมาก การที่ต้องส่งต่อหมายเลขเป็นทอด ๆ จะทำให้การช่วยเหลือทันเวลาหรือไม่ 


ร.อ.นพ.อัจฉริยะ ระบุว่า  เป้าหมายสำคัญคือ ต้องไม่ช้า ทั้งหมดต้องต่อให้ได้ภายใน 2 นาที ทั้งหมดต้องเชื่อมต่อกัน


ข้อมูลปี 2560-2564 พบว่าใน 5 ปี มีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ร้อยละ 36.48 ได้รับปฏิบัติการฉุกเฉินภายใน 8 นาที


• เมื่อแยกรายปี พบว่า ร้อยละผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่ได้รับ ปฏิบัติการฉุกเฉินภายใน 8 นาที มีแนวโน้มลดลง (ร้อยละ 40.0, 37.61, 37.27, 36.53 และ 33.12 ในปี 2560-2564 ตามลำดับ)

• เมื่อพิจารณาจากจำนวนพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (89,586 ครั้ง,95,621 ครั้ง, 105,737 ครั้ง, 118,279 ครั้ง, และ 128,797 ครั้ง ในปี 2560-2564 ตามลำดับ) 


ข้อมูลจากงานวิจัย พบว่า 1 ในปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการรอดชีวิตคือ เวลาจากรับแจ้งเหตุจนถึงที่เกิดเหตุ น้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 นาที (Response time ≤ 10 minutes) มีโอกาสรอดชีวิตจนถึงโรงพยาบาลมากกว่ากลุ่มที่

เวลาจากรับแจ้งเหตุจนถึงที่เกิดเหตุที่มากกว่า 10 นาที 1.26 เท่า(Odds ratio = 1.26)


สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 

 

 




สถิติโทรสายด่วนฉุกเฉิน 1669 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 6 ล้านครั้ง


นายแพทย์ อัจฉริยะ แพงมา ระบุว่า  “ตอนนี้มีคนโทร 1669 ปีละประมาณ 6 ล้านครั้ง ส่วนการโทรสายด่วน 191 ปีละประมาณ 5 ล้านครั้ง การเข้าถึงบริการของประชาชนในการออกปฏิบัติการฉุกเฉินปีละ 1.8 ล้านครั้ง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ระยะเวลาการออกหน่วยไปช่วยเหลือนั้นลดลงเรื่อยๆ ที่น่ากลัวคือ อัตราการเสียชีวิตก่อนเจ้าหน้าที่ไปถึงเพิ่มขึ้น นี่เป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าจะจัดบริการอย่างไรให้เพียงพอกับความต้องการประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” 


ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560-2564) ช่องทางที่มีการแจ้งเหตุมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ


1. หมายเลขโทรศัพท์ 1669 (first call) (จำนวน ร้อยละมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ยกเว้นในปี 2564 ที่ จำนวนร้อยละลดลง)

2. ผ่านวิทยุสื่อสาร (จำนวนร้อยละมีแนวโน้มลดลง)

3. ผ่านทางหมายเลข 1669 (Second call) (จำนวนร้อยละมีแนวโน้มลดลง ยกเว้นในปี 2564 ที่ จำนวนร้อยละเพิ่มขึ้น)



การออกปฏิบัติการฉุกเฉินสะสมในปี 2560-2564 พบว่า


• การออกปฏิบัติการฉุกเฉินทางบก มากที่สุด คือ 8,641,587 ครั้ง โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ยกเว้นในปี 2563 ที่มีจำนวนลดลง

• รองลงมาคือ ทางน้ำ 6,241 ครั้ง โดยมีจำนวน เพิ่มขึ้นในแต่ละปี

• และทางอากาศ จำนวน 319 ครั้ง โดยมีจำนวน เพิ่มขึ้นในแต่ละปี จาก 32 ครั้งในปี 2560 เพิ่ม เป็น 95 ครั้งในปี 2564 



เปิดสถิติอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 5 อันดับแรก ผ่านสายด่วน 1669 



สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 

 


สำหรับสถิติการโทรแจ้งเหตุและขอรับบริการจากสายด่วน 1669 พบว่า 5 อันดับแรกอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่โทรขอความช่วยเหลือมากสุด คือ


1. ผู้ป่วยฉุกเฉินจากอุบัติเหตุยานยนต์

2. ผู้ป่วยอัมพาตเรื้อรัง อ่อนแรง

3. ปวดท้อง-หลัง-เชิงกรานอย่างรุนแรง

4. พลัดตกหกล้ม อุบัติเหตุอื่นๆ

5. หายใจติดขัด หายใจลำบาก




ข้อควรรู้ก่อนโทรแจ้งสายด่วน 1669  นั้น  มีหลักสำคัญอยู่  9 ข้อ คือ


1.เมื่อพบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินให้ตั้งสติและโทรแจ้งสายด่วน 1669 

2.ให้ข้อมูลว่าเกิดเหตุอะไรมีผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บในลักษณะใด 

3. บอกสถานที่เกิดเหตุเส้นทางจุดเกิดเหตุให้ชัดเจน 

4. บอกเพศ ช่วงอายุ อาการจำนวนผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ 

5. บอกระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วย 

6. บอกความเสี่ยงที่อาจเกิดซ้ำ เช่นอยู่กลางถนนหรือรถติดแก๊ส 

7. บอกชื่อผู้แจ้งเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ 

8.ช่วยเหลือเบื้องต้นตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่  

9.รอทีมกู้ชีพมารับผู้ป่วยเพื่อนำส่งโรงพยาบาล



สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 

 



หลังจากนี้ คงต้องจับตาดูว่า การควบรวมสายด่วนการแจ้งเหตุ  1669 กับ 191 เซ็ตระบบออกมาแล้วจะเป็นอย่างไร และจะสามารถลดระยะเวลาการแจ้งเหตุลงได้หรือไม่ เพราะนี่คือ การเปลี่ยนแปลง ที่อาจหมายถึงการ "รอดชีวิต" 



ภาพ : สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง