รีเซต

รัสเซียใช้โดรนพลีชีพอิหร่าน ปูพรมระเบิดหลายพื้นที่ในยูเครน

รัสเซียใช้โดรนพลีชีพอิหร่าน ปูพรมระเบิดหลายพื้นที่ในยูเครน
TNN ช่อง16
19 ตุลาคม 2565 ( 11:36 )
80

เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ถูกยกระดับไปสู่การโจมตีด้วยการใช้โดรนแบบพลีชีพ หรือยุทธวิธีแบบกามิกาเซ่ ของเครื่องบินโจมตีญีปุ่นในสมัยสงครามโลกที่ 2 โดยมีการใช้โดรนกับขีปนาวุธ ระเบิดปูพรมบริเวณเมืองซาโปริซเซีย (Zaporizhzhia) ในภาคใต้ของยูเครน เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยทางการยูเครน ยืนยันว่าเกิดการโจมตีเกิดขึ้นในช่วงเช้าวันเสาร์ ประมาณสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า มีทั้งการโจมตีด้วยขีปนาวุธ และโดรนพลีชีพเกิดขึ้น 

อนาโตลี เคอร์เทฟ รักษาการผู้ว่าการเมืองซาโปริซเชีย โพสต์ในแอปพลิเคชันเทเลแกรม (Telegram) เผยว่า "มีการโจมตีอย่างรุนแรงเกิดขึ้นในเมืองด้วยขีปนาวุธ C300 จำนวน 10 ลูก หรือมากกว่า และตามมาด้วยการใช้โดรนพลีชีพโจมตีตลอดคืน"

“ผลของการโจมตีด้วยอากาศยานไร้คนขับ ชาเฮด-136 (Shahed-136) ทำให้มีสิ่งปลูกสร้างในเมืองซาโปริซเชียจำนวนมากเสียหาย ทั้งยังเกิดไฟไหม้รุนแรง แต่ได้มีการเก็บกู้เหตุระเบิดเอาไว้แล้ว และยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต” 

นอกจากนี้ ขีปนาวุธของรัสเซียยังถูกยิงไปยังกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครนอีกด้วย 

โดรนพลีชีพ หรือ กามิกาเซ่โดรน เป็นการเลือกโจมตีทางอากาศที่มีประสิทธิภาพอีกวิธีหนึ่ง เนื่องจากผู้ใช้สามารถรอให้เป้าหมายที่ต้องการโจมตีปรากฏตัวออกมา และหากมีการยืนยันเป้าหมายก็จะสั่งการโจมตีได้ในทันที 

โดยคำว่ากามิกาเซ่ นั่นก็คือวิธีการโจมตีของเครื่องบินจากกองทัพญี่ปุ่นที่ใช้วิธีการบินเข้าพุ่งชนเป้าหมายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยวิธีดังกล่าวในอดีต จำเป็นต้องมีผู้ควบคุมยานพาหนะเหล่านั้น แต่แตกต่างกับปัจจุบันที่ผู้โจมตีไม่จำเป็นต้องสละชีพไปด้วย 

สำหรับโดรนที่ใช้ในการโจมตีล่าสุด คือโดรนจากตระกูลชาเฮด (Shahed) ซึ่งผลิตในอิหร่าน และนับตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา รัสเซียเริ่มใช้โดรนของอิหร่านมาเป็นโดรนพลีชีพ โดยโดรนชาเฮด สามารถบรรทุกขีปนาวุธน้ำหนักถึง 110 ปอนด์ (50 กิโลกรัม) ได้ ทั้งยังมีรายงานจากทางการสหรัฐฯ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ว่า โดรนเหล่านี้ถูกส่งมอบที่ฐานทัพอากาศคาชาน (Kashan) ทางตอนใต้ของกรุงเตหะราน อิหร่าน

ที่มาของรูปภาพ Iranian Army 


ขณะที่ชาติพันธมิตรของยูเครน เตรียมส่งมอบระบบป้องกันทางอากาศเพิ่มเติมให้ยูเครน จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการใช้โดรนโจมตีเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ล่าสุด มีข่าวจากรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของยูเครนปรากฏตัวในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เพื่อร้องขอระบบป้องกันภัยทางอากาศ ซึ่งเป็นความต้องการแบบเร่งด่วน

ด้านเยอรมนีได้จัดส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศ IRIS-T SLM ไปยังกรุงเคียฟตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มโจมตีกรุงเคียฟระลอกล่าสุด

สำหรับบริษัท Dielh Defense สัญชาติเยอรมนี ผู้ผลิตระบบ IRIS-T มีราคาวางจำหน่ายอยู่ที่ 140 ล้านยูโร (5,219,355,671 ล้านบาท) ต่อหนึ่งระบบ ซึ่งจะป้องกันภัยการโจมตีในระยะครอบคลุมที่สูงขึ้นไปบนอากาศ ให้กับเมืองขนาดเล็ก และกองกำลังขนาดกลางได้

ขณะเดียวกัน จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า ทำเนียบขาวจะพยายามเร่งรัดการส่งมอบระบบขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศ NASAMS (National Advanced Surface-to-Air Missile Systems) ให้ยูเครน โดยคาดว่าจะมีการจัดส่งไปเบื้องต้น 2 ระบบ ขณะที่อีก 6 ระบบ จะถูกจัดส่งให้เพิ่มเติมในภายหลัง โดยระบบ NASAMS ที่ผลิตโดยบริษัท Kongsberg Defence & Aerospace จากนอร์เวย์ ถูกใช้งานในระบบป้องกันภัยทางอากาศของชาติกลุ่มสมาชิกนาโต (NATO) อยู่บ่อยครั้ง

ด้านสหราชอาณาจักร ได้ยืนยันจะส่งระบบชีปนาวุธอากาศสู่อากาศ AMRAAM ที่ใช้ในเครื่องบินรบ ไปให้ยูเครน โดยระบบ AMRAAM สามารถใช้ร่วมกับระบบป้องกันภัยทางอากาศ NASAMS ของสหรัฐฯ ได้ ทั้งนี้ ชาติอื่น ๆ ในกลุ่มประเทศสมาชิกนาโต เช่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และแคนาดา ยังให้คำมั่นว่าจะส่งยุทโธปกรณ์ไปให้ยูเครนเพิ่มเติม เพื่อระดมยื่นมือช่วยป้องกันการโจมตีด้วยขีปนาวุธของรัสเซีย ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะลดการโจมตีลงแต่อย่างใด 

ที่มาของข้อมูล eurasiantimes.com

ที่มาของรูปภาพ Iranian Army

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง