คนไทยป่วยจากมลพิษทางอากาศ 9.4 ล้านคน กทม. เร่งเครื่องแก้ PM2.5
วันนี้ ( 31 ต.ค. 67 )นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ข้อมูลล่าสุด ในระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ (HDC) พบว่าปี 2567 ทั้งประเทศมีผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศกว่า 9 ล้าน 4 แสนคน โดยสาเหตุมาจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ซึ่ง แหล่งที่มาของฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มาจากภาคการจราจรขนส่งทางบกเป็นหลักถึงร้อยละ 60 รองลงมาคือการเผาในที่โล่ง ปีนี้จึงได้เพิ่มมาตรการเข้มข้นขึ้น ในการรับมือฝุ่น โดยหากค่าฝุ่นระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 37.6-75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กทม. มีแผนจัดการ ได้แก่ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ War Room แจ้งเตือนประชาชน , พัฒนาแอปพลิเคชัน AirBKK ที่ปรับปรุงให้มีความละเอียดขึ้น พยากรณ์ล่วงหน้าได้แม่นยำขึ้น
การเพิ่มความถี่ในการตรวจต้นตอฝุ่นในภาคประชาชน , ควบคุมรถมลพิษสูงเข้าพื้นที่กรุงเทพชั้นในที่กำหนดเป็นเขตมลพิษต่ำ ( Low Emission Zone) // การเพิ่มมาตรการห้องเรียนสู้ฝุ่นครบ 437 โรงเรียนแจกหน้ากากอนามัยเชิงรุก ตลอดจนจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 50 เขต และเปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ 8 แห่ง อีกทั้งยังมีเครือข่าย Work from Home ที่มีบริษัทร่วมด้วย 100 บริษัท รวม 40,000 คน
ขณะที่วันนี้กรุงเทพมหานคร ได้รับมอบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) ประกอบด้วย รถบรรทุก 4 ล้อ และ รถกระบะ นำร่องโดยใช้ทดแทนเครื่องยนต์ดีเซล เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ซึ่งจะนำไปเป็นต้นแบบในการดัดแปลงรถในสังกัดกรุงเทพมหานคร รวมถึงเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนฝึกวิชาชีพกรุงเทพมหานคร ซึ่งอาจจะเป็นการสร้างอาชีพให้กับกลุ่มคนที่สนใจได้มีรายได้เพิ่มขึ้น สำหรับต้นการดัดแปลงรถไฟฟ้า เฉลี่ยต้นทุนอยู่ที่ 900,000 บาทต่อคัน ซึ่งเมื่อปรับเปลี่ยนเป็นไฟฟ้าแล้วจะช่วยลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ให้เป็นศูนย์ได้
ภาพจาก: AFP