เปิดประวัติ กะเหรี่ยง KNU
จากประเด็นกองทัพพม่า ทิ้งระเบิดโจมตี หมู่บ้านกะเหรี่ยง ชาวบ้านดับเกลื่อนกว่า 30 ราย แหล่งข่าวระดับสูง เผยเหตุบุกกดดันเคเอ็นยู เพื่อเปิดทางส่งเสบียง เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา หลายคนสงสัยว่า "กะเหรี่ยง KNU"คือใคร ทำไมกองทัพพม่าถึงได้โจมตีกลุ่มนี้หลายระลอก และยืดเยื้อเป็นระยะเวลานาน วันนี้ trueID จะมาเปิดความเป็นมาว่ามีเรื่องราวเป็นอย่างไร
กะเหรี่ยง KNU คือใคร?
สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ กะเหรี่ยงเคเอ็นยู (The Karen National Union: KNU) คือ กลุ่มติดอาวุธชาวกะเหรี่ยงในพม่าที่ทำการสู้รบกับรัฐบาลพม่าตามแนวชายแดนไทย ในบริเวณอาณาเขตของพื้นที่ที่เรียกเป็นภาษากะเหรี่ยงว่า "กอซูเล" (Kawthoolei) ฝ่ายเคเอ็นยูได้สู้รบกับพม่ามานานเกินกึ่งศตวรรษมาแล้ว นับตั้งแต่ พ.ศ. 2491 โดยร่วมกับกองกำลังย่อยที่มีชื่อว่า กะเหรี่ยงเคเอ็นแอลเอ (Karen National Liberation Army - KNLA)
ผู้นำกะเหรี่ยงKNU
สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงอยู่ภายใต้การปกครองของนายพลโบเมียะมานานกว่า 30 ปีซึ่งได้ตั้งตนเป็นประธานาธิบดีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2519 - พ.ศ. 2543 (นายพลโบเมียะถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ในโรงพยาบาลในประเทศไทย) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงสามารถเลี้ยงตนเองโดยการควบคุมตลาดมืดที่ทำการค้าชายแดนกับประเทศไทย ซึ่งขณะนี้นำโดย Saw Mutu Say Poe
เหตุการณ์สำคัญ
หลังจากการลุกฮือต่อต้านเผด็จการของประชาชนชาวพม่าที่เรียกว่า "เหตุการณ์ 8888 ทมิฬ" ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2531 และได้ล้มเหลวยุติลงด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลเมื่อเดือนกันยายนปีเดียวกัน หลังเหตุการณ์นี้ รัฐบาลพม่าได้หันไปขอความช่วยเหลือจากจีน มีการให้สัมปทานทางการค้าหลายอย่างแก่จีนเพื่อแลกเปลี่ยนกับอาวุธจำนวนมากทำให้กองทัพพม่ามีขนาดใหญ่และเข้มแข็งจากเดิมเป็นอันมาก และในช่วงนี้รัฐบาลพม่าก็ได้เริ่มเปิดการเจรจากับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงที่ต่อสู้กับรัฐบาลและเปิดโอกาสให้มีการเจรจาเพื่อให้เข้ามาร่วมมือกับรัฐบาลหรือมิเช่นนั้นจะต้องถูกทำลายลงทั้งหมด แต่ฝ่ายกะเหรี่ยงไม่ยอม
เกิดความแตกแยกในกลุ่ม
กองกำลังของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงอ่อนแอลงมากจากการปราบปรามของฝ่ายรัฐบาลและได้เสียกองบัญชาการที่ "มาเนอพลอ" ใกล้กับชายแดนไทยเมื่อ พ.ศ. 2537 รวมทั้งการยอมเข้าร่วมมือกับรัฐบาลกองกำลังย่อยส่วนหนึ่งของกะเหรี่ยงเคเอ็นแอลเอที่เป็นกะเหรี่ยงฝ่ายนับถือพุทธที่เรียกตนเองว่า กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตยฝ่ายพุทธ (Democratic Karen Buddhist Army - DKBA) กองกำลังกลุ่มนี้ได้รับมอบอาณาเขตพื้นที่ส่วนหนึ่งให้ปกครองตนเองเป็นการแลกเปลี่ยนที่ยอมร่วมมือกับรัฐบาล กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธนี้เองที่มีส่วนสำคัญช่วยรัฐบาลทหารพม่ายึดกองบัญชาการเคเอ็นยูที่มาเนอพลอได้ เหตุผลที่กะเหรี่ยงกลุ่มนี้อ้างในการเข้ากับฝ่ายรัฐบาลคือการถูกเอาเปรียบ เหลื่อมล้ำและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกะเหรี่ยงฝ่ายเคเอ็นยูซึ่งนับถือศาสนาคริสต์
ยุทธวิธีในการรบ
สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงกับกะเหรี่ยงเคเอ็นแอลเอยังคงร่วมกันต่อสู้กับรัฐบาลพม่าต่อไป โดยจัดตั้งกองกำลังเป็นหน่วยทหารกองโจรขนาดเล็กหลบซ่อนอยู่ตามแนวชายแดนไทยโดยใช้วิธีตั้งค่ายแบบชั่วคราวที่เคลื่อนย้ายหนีได้สะดวก มีการประทะกันประปรายโดยตลอดมาจนถึงปัจจุบัน แม้กองทัพฝ่ายรัฐบาลจะมีขีดความสามารถที่จะกวาดล้างกองกำลังกะเหรี่ยงได้เป็นผลสำเร็จ แต่ก็จะเสียกำลัง ยุทธโปกรณ์และงบประมาณไปมาก ซึ่งอาจทำให้กองทัพพม่าโดยรวมอ่อนแอลง ฝ่ายรัฐบาลทหารพม่าจึงยังคงปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไปก่อน
การสู้รบของชาวกะเหรี่ยงนับเป็นการสู้รบเพื่ออิสรภาพที่ยาวนานที่สุดในโลก คือนานมากถึง 59 ปี
กลุ่มย่อยอื่นๆ
- กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง KNLA คือหน่วยงานทางทหารของกะเหรี่ยง KNU เกิดขึ้นในปี 2492 หลังจากที่รัฐบาลเมียนมาปราบปรามกลุ่มผู้ต่อต้านด้วยความรุนแรง ชาวกะเหรี่ยงจึงรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มเพื่อสู้กับรัฐบาลและเรียกร้องเอกราช แม้ในตอนแรกกองทัพกะเหรี่ยงจะมีชัยชนะในภาคเหนือของเมียนมา และเข้ายึดครองมัณฑะเลย์ได้ แต่เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนเพียงพอ ภายหลังจึงต้องถอนกำลังกลับไปยังภาคตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังคงต่อสู้เพื่อเอกราชของกะเหรี่ยงต่อไปโดยมีฐานที่มั่นอยู่ใกล้กับชายแดนไทย
- องค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNDO) เป็นกองกำลังติดอาวุธอีกกลุ่มหนึ่งของกะเหรี่ยง KNU ควบคู่กับ KNLA ซึ่งเริ่มต่อสู้กับรัฐบาลตั้งแต่ปี 2490 ในฐานะกองกำลังติดอาวุธของกะเหรี่ยง KNU ก่อนที่จะมีการตั้ง KNLA เป็นกองกำลังติดอาวุธอย่างเป็นทางการ
- ก๊อด อาร์มี่ (God's Army) เป็นกองกำลังติดอาวุธหัวรุนแรงที่นับถือศาสนาคริสต์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกะเหรี่ยง KNU ก่อตั้งขึนในปี 2540 นำโดยจอห์นนี่ และลูเทอร์ พี่น้องฝาแฝดซึ่งมีอายุเพียง 10 ปี ปฏิบัติการในลักษณะกองโจรโดยมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในประเทศไทยถึง 2 ครั้งในระยะเวลาห่างกันเพียงไม่กี่เดือน คือเหตุการณ์บุกยึดสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคม 2542 และเหตุการณ์บุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรีในเดือนมกราคม 2543
- กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตยฝ่ายพุทธ (DKBA) นำโดย พระภิกษุ U Thuzana เป็นกลุ่มของชาวกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาพุทธซึ่งแยกตัวออกมาจากกะเหรี่ยง KNU เมื่อปี 2538 เนื่องจากความขัดแย้งทางศาสนาโดยมองว่าพวกเขาถูกเอาเปรียบ เหลื่อมล้ำ และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากชาวกะเหรี่ยง KNU ที่นับถือศาสนาคริสต์
ความสัมพันธ์กับไทย
กะเหรี่ยงอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาช้านาน คนกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ระหว่างพรมแดนไทย-พม่ามาประมาณ 600-700 ปีมาแล้ว ระหว่างปี 2509-12 สถาบันวิจัยชาวเขาพบว่ากะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในประเทศพม่า ก่อนที่พม่าจะครอบครองดินแดนแถบนี้
สำหรับประเทศไทย มีหลักฐานว่ากะเหรี่ยงอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา หนังสือ “ไทยรบพม่า” โดยกล่าวถึงแม่ทัพของสมเด็จพระนเรศวรที่เป็นกะเหรี่ยงชื่อ สิน ภูมิโลกาเพชร หากจะถามหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือในหนังสือ “คำให้การชาวกรุงเก่า” ที่เขียนถึงการส่งส่วยของกระเหรี่ยงเมืองศรีสวัสดิ์ (อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ในปัจจุบัน) ที่ส่งมาเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเป็นประจำ
ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา พม่าเข้ายึดครองเมืองหงสาวดี กะเหรี่ยงหลายกลุ่มอพยพตามมอญเข้ามาสู่ประเทศไทย นับเป็นการอพยพครั้งแรกที่มีหลักฐาน โดยให้กะเหรี่ยงอพยพอยู่ที่ ลำห้วยตะเพินคี่ สุพรรณบุรี, ลำห้วยคอกควาย อุทัยธานี, อำเภอสังขละบุรี และอำเภอศรีสวัสดิ์ กาญจนบุรี, เพชรบุรี, ราชบุรี, ประจวบคีรีขันธ์ และอยุธยา
การลงหลักปักฐานในเมืองไทย
ในรัชกาลที่ 1 หัวหน้าชุมชนกะเหรี่ยงติดต่อกับเจ้าเมืองกาญจนบุรี แสดงขอตั้งรกรากและสวามิภักดิ์ต่อสยาม โดยได้รับการอนุญาตให้อาศัยอยู่ที่เมืองสังขละบุรี เขตติดต่อด่านเจดีย์สามองค์ พ.ศ. 2365 กะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวก็ช่วยขับไล่ทหารพม่าที่มาลาดตระเวนในพื้นที่
ความสัมพันธ์ไทย-กะเหรี่ยง ในช่วงรัชกาลที่ 1-3 ปรากฎอยู่ในงานศิลปะต่างๆ เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่เขียนสมัยรัชกาลที่ 1 มีภาพกะเหรี่ยงถือหน้าไม้อยู่ตามซอกเขา, ภาพเขียนที่วัดพระเชตุพนฯ และวัดบางขุนเทียนซึ่งเขียนขึ้นในรัชกาลที่ 2-3
เมื่อสงครามระหว่างไทย-สยาม ลดลงและสิ้นสุดลงประมาณ พ.ศ. 2396 กระเหรี่ยงที่เคยช่วยป้องกันชายแดนด้านนี้ กะเหรี่ยงก็ยังอยู่รวมกับสังคมไทย โดยผู้นำกะเหรี่ยงส่งเครื่องบรรณาการต่อพระมหากษัตริย์ไทยทุกๆ 3 ปี
ในรัชกาลที่ 5 กะเหรี่ยงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ได้อยู่รวมกันเป็นกลุ่มและให้การยอมรับฐานะของผู้นำกะเหรี่ยง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตา ทั้งทรงประกาศไว้ว่า พระองค์ก็ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินของพวกกะเหรี่ยงด้วย เมื่อมีการตั้งหน่วยงานราชการอย่าง “กองตำรวจภูธร” สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็รับสั่งว่ากะเหรี่ยงที่เคยทำงานในกองอาทมาต หากสนใจจะเข้าทำราชการในกองงานดังกล่าวได้
นอกจากนี้พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ พระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเคยเสด็จชุมชนกะเหรี่ยงในจังหวัดกาญจนบุรี และสนพระทัยการรำของกะเหรี่ยง ได้ขอสาวกะเหรี่ยง 2 นาง คือ นั่งมิ่นกง และหนองเดงเค่ง มาเป็นข้าหลวงเพื่อฝึกสอนการรำกะเหรี่ยงในวัง
ข้อมูล : Wikipedia และ silpa-mag
++++++++++