รีเซต

“ต๊ะ นารากร ” เล่าวินาที iTV ถูกปิด คำสั่งถูกเซ็นต์ส่งมาทางแฟกซ์

“ต๊ะ นารากร ” เล่าวินาที  iTV ถูกปิด คำสั่งถูกเซ็นต์ส่งมาทางแฟกซ์
TNN ช่อง16
11 พฤษภาคม 2566 ( 15:11 )
144

วันนี้ (  11 พ.ค. 66 ) ต๊ะ นารากร ติยายน พิธีกรชื่อดัง  ในฐานะที่เคยร่วมงานกับ สถานีโทรทัศน์ iTV  ได้โพสต์เล่าเรื่องราววินาทีที่ iTV โดนปิดโดยระบุข้อความว่า  “เย็นวันนั้นที่กระดาษแผ่นหนึ่งไหลออกจากเครื่องรับแฟกซ์  ต๊ะจำได้ว่ากำลังเดินขึ้นบันไดไปห้องแต่งตัว  เพื่อเตรียมอ่านข่าว HotNews ตามปกติ  พอเห็นกระดาษแฟกซ์ก็เอื้อมมือไปหยิบ คิดว่าจะได้เอาไปให้บก. ที่ห้องข่าว

ใครจะคิดว่าอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในสมัยนั้น จะเซ็นต์คำสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ และส่งมาทางแฟกซ์  ในคำสั่งนั้นระบุว่า “ ปิดสถานีภายในเวลา 24.00 น.”

พวกเราทุกคนรับรู้คำสั่งนั้นพร้อมกัน   ในเวลาที่เร่งรีบกับการเตรียมออกอากาศข่าวค่ำ  แน่นอนว่าพวกเราไม่ละทิ้งหน้าที่ ทุกคนตั้งใจทำงานของตัวเองอย่างดีที่สุด  อาจจะดีกว่าคืนที่ผ่านมาด้วยซ้ำ  เพราะรู้ดีว่าเป็นครั้งสุดท้ายของพวกเรา  กับงานที่รัก และทีวีเสรีที่เป็นดั่งชีวิตของคนข่าวไอทีวีทุกคน

ต๊ะเริ่มต้นการอ่านข่าวคืนนั้นด้วยการทักทายผู้ชมตามปกติ  อ่านข่าวตามลำดับรันดาวน์  พอถึงเบรคสุดท้ายต๊ะก็เริ่มบอกผู้ชมว่า

“นี่เป็นคืนสุดท้ายของทีไอทีวี (ตอนนั้นไอทีวีถูกเปลี่ยนเป็น TITV) พวกเราทุกคนเก็บของหมดแล้ว พอถึงเวลาเที่ยงคืนพวกเราจะต้องออกจากสถานีแห่งนี้ตามคำสั่ง  เราไม่รู้จะได้กลับมาอีกมั้ย  ดิฉันขอเป็นตัวแทนเพื่อนๆทุกคนกล่าวคำว่า ลาก่อน ”

ขณะที่นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยไทยพีบีเอส ด้านปฏิบัติการและเทคโนโลยี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า 

“สรุปสาระสำคัญของบริษัทไอทีวี จากรายงานประจำปี 2565 (ที่มา https://www.intouchcompany.com/.../ITV_Annual%20Report... )

1 หยุดประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ไอทีวีตั้งแต่ 24.00 น.วันที่ 7 มีนาคม 2550 สืบเนื่องจากการบอกเลืกสัญญาร่วมงานของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

2 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย delist ถอดหุ้นไอทีวีจากการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 24 กค.2557

3.ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการฟ้องร้องพิพาททางกฏหมายกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สืบเนื่องจากกรณีที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดว่า

-การบอกเลิกสัญญาของ สปน. ไม่ชอบด้วยกฏหมาย

-ให้ สปน.ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2,890 ล้านบาท

3.1 ต่อมา สปน.ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอานุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้องของ สปน.

3.2 มกราคม 2564 สปน.ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา

4.ปีบัญชี 2565 ไอทีวี มีรายได้จากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ 20.5 ล้านบาท (ผลตอบแทนจากตราสารหนี้และตราสารทุน) กำไรสุทธิ 8.5 ล้านบาท

5.ไอทีวี มีบริษัทย่อย 1 บริษัท คือบ.อาร์ตแวร์มีเดีย ให้เช่าอุปกรณืผลืตรายการวิทยุโทรทัศน์ ผลิตรายการโทรทัศน์ ซื้อขายลิขสิทธิ์ภาพยนต์และรายการโทรทัศน์ และกิจกรรมการตลาดอื่นๆ สถานะปัจจุบันของบริษัท คือ หยุดประกอบกิจการ

6.กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่โดยพฤติการณ์มีอิทธิพบต่อการกำหนดนโยบายและการดำเนนิงานบ.ไอทีวีในปัจจุบัน คือบ.อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

7.การรักษาสถานะความเป็นนิติบุคคลของบ.ไอทีวี เพื่อดำเนินการฟ้องร้องกับสปน. (ความเห็นผู้เขียน)

หมายเหตุ ข้อ 7 เป็นความเห็นส่วนตัว / ส่วนข้อ 1-6 เป็นข้อมูลจากรายงานประจำปี 2565 ของ ITV”

ประวัติสถานีโทรทัศน์ iTV 

สถานีโทรทัศน์ไอทีวี (Independent Television ชื่อย่อ: itv) เป็นสถานีโทรทัศน์ทีวีเสรี และเป็นอดีตสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินที่ออกอากาศในระบบยูเอชเอฟ ก่อตั้งโดย บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) สถานีโทรทัศน์ในยุคปัจจุบันนี้คือ "สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส" (Thai PBS) (องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย) (ส.ส.ท.)

สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ได้เริ่มต้นออกอากาศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 เวลา 19.00 น. โดยเริ่มต้นจากการนำเสนอ ข่าวภาคค่ำประจำวัน เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรก ที่เรียกรายการข่าวโดยไม่มีคำว่าภาคและมีชื่อสถานีเรียกทุกครั้ง เช่น ข่าวเช้าไอทีวี ข่าวเที่ยงไอทีวี ข่าวค่ำไอทีวี เป็นต้น เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์การเป็นสถานีข่าวและสาระความรู้ โดยผู้ประกาศข่าวคู่แรกของสถานี คือ กิตติ สิงหาปัด และ เทพชัย หย่อง ออกอากาศทางช่อง หมายเลข 26  และต่อมาได้ย้ายไปออกอากาศทางช่องหมายเลข 29 โดยมีสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เป็นเจ้าของคลื่นความถี่ และผู้กำกับสัมปทาน เป็นสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินที่ก่อตั้งเป็นแห่งที่ 6 ของประเทศไทย จนกระทั่งต้องยุติการออกอากาศ ตั้งแต่เวลา 00.00 น. ของวันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2550 เนื่องจากไม่สามารถจ่ายค่าสัมปทานส่วนต่าง ๆ และค่าปรับแก่ สปน.ได้ตามเวลาที่กำหนด


ข้อมูลจาก  : เฟซบุ๊ก ต๊ะ นารากร ติยายนอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก  อนุพงษ์ ไชยฤทธิ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง