รีเซต

เปิดรายละเอียด "ก้าวไกล" แถลงข่าว ปมหุ้นสื่อไอทีวี

เปิดรายละเอียด "ก้าวไกล" แถลงข่าว ปมหุ้นสื่อไอทีวี
TNN ช่อง16
12 มิถุนายน 2566 ( 16:46 )
77

เปิดรายละเอียด "ก้าวไกล" แถลงข่าว ปมหุ้นสื่อไอทีวี


พรรคก้าวไกล โดย ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค แถลงข่าวถึงกรณีที่สื่อมวลชน โดยทีมข่าวสามมิติ ได้เปิดโปงหลักฐานคลิปเสียงที่บ่งชี้ให้เห็นความน่าสงสัย ว่าอาจมีการแก้ไขข้อความบันทึกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 26 เม.ย.66 เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือเล่นงาน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล หรือไม่ โดยชัยธวัช ระบุว่าจากข้อมูลที่มีการเปิดโปงมานี้ มีข้อมูลที่มีนัยยะสำคัญสองประการ กล่าวคือ


ประการแรก คือความขัดแย้งระหว่างบันทึกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น กับรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ในประเด็นว่าไอทีวียังดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่ ในคลิปเสียงการประชุมปรากฏข้อเท็จจริงว่านานภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ในฐานะผู้ถือหุ้น ได้ถามในที่ประชุมว่าบริษัทมีการดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือทีวีหรือไม่ จากนั้นนายคิมห์ สิริทวีชัย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้น ได้ตอบอย่างชัดเจนว่าตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ต้องรอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน อย่างไรก็ตาม ในเอกสารการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น กลับมีการบันทึกไม่ตรงกับคลิปเสียงการประชุมอย่างสิ้นเชิง กลับมีการบันทึกว่านายคิมห์ ได้ตอบคำถามนายภาณุวัฒน์ ว่าบริษัทยังคงดำเนินกิจการอยู่ตามวัตถุประสงค์ และมีการส่งงบการเงินตามปกติ


สิ่งที่น่าสังเกต คือการที่ นายนิกม์ แสงศิรินาวิน อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กของตนเอง ก่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นไอทีวีเพียงสองวัน ว่านักการเมืองที่ถือหุ้นไอทีวีเตรียมประชุมและมอบตัวต่อ กกต. ด้วย มีหัวหน้าพรรคหนึ่งถือ 42,000 หุ้น ซึ่งหลังจากที่มีการจัดทำรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นดังกล่าวออกมา นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ก็ได้นำเอกสารนี้ไปใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการยื่นร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบการถือหุ้นของพิธา ในวันที่ 10 พ.ค. 66


ทำให้เป็นที่น่าสงสัยว่า มีการวางแผนให้นายภานุวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้รับโอนหุ้น บริษัท ไอทีวี มาจากนายนิกม์ และยังเป็นผู้จัดการคลินิกของครอบครัวนายนิกม์ ไปตั้งคำถามในที่ประชุมผู้ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี เพื่อให้ผู้บริหารตอบว่ายังดำเนินกิจการสื่อมวลชนอยู่ใช่หรือไม่? แต่เมื่อนายคิมห์ตอบคำถามว่าตอนนี้ไอทีวียังไม่มีการดำเนินการสื่อ แต่ภายหลังกลับมีการบันทึกการประชุมให้เข้าใจได้ว่าปัจจุบันไอทีวียังดำเนินกิจการสื่ออยู่ เป็นการเข้าข่ายการทำรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นเท็จด้วยหรือไม่?


ชัยธวัชกล่าวต่อไป ว่าต่อกรณีนี้ ผู้บริหาร บริษัท ไอทีวี โดยเฉพาะ นายจิตชาย มุสิกบุตร กรรมการผู้สอบทานและแก้ไขบันทึกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น และยังเป็นผู้บริหารสายงานด้านกฎหมายของ บริษัท อินทัช ผู้ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี ต้องออกมาตอบคำถามให้ชัดเจน ว่ารับรู้และเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรายงานให้ไม่ตรงกับการประชุมหรือไม่ นี่เป็นเพียงหนึ่งในข้อพิรุธ ที่พิธาเองได้เคยตั้งคำถาม ว่าเป็นกระบวนการความพยายามฟื้นคืนชีพไอทีวีให้กลับมาเป็นสื่อมวลชน เพื่อขัดขวางการจัดตั้งรัฐบาลตามมติของประชาชนหรือไม่? และเข้าข่ายการกระทำการอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้สมัคร ส.ส.ถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งหรือไม่?


ชัยธวัช แถลงต่อถึงข้อมูลที่มีนัยยะสำคัญประการที่สอง กล่าวคือความขัดแย้งระหว่างคลิปเสียงบันทึกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น กับแบบนำส่งงบการเงิน รอบปีบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค.65 ที่ไอทีวียื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 66 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่นายเรืองไกรไปยื่นคำร้องต่อ กกต. รวมถึงเอกสารงบไตรมาสแรกของปี 2566 ของ บริษัท ไอทีวี ด้วย 


หากพิจารณาใจความสำคัญของข้อความที่ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขในบันทึกรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น คือการแก้ไขคำตอบของนายคิมห์ ที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามา ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับแบบนำส่งงบการเงิน ที่ไอทีวีได้ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่มีการระบุประเภทธุรกิจสื่อ ว่าเป็นสื่อโทรทัศน์ และระบุสินค้าหรือบริการว่าสื่อโฆษณาและผลตอบแทนการลงทุน ซึ่งแตกต่างจากที่เคยระบุมาในปีก่อนๆ ที่ระบุประเภทสินค้าและบริการไว้ ว่าปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดคดีความ


การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ขัดแย้งกับการตอบของนายคิมห์ต่อข้อซักถามอีกข้อ ที่ผู้ถือหุ้นได้ถามว่า หากคดีความต่างๆ เสร็ตสิ้นเรียบร้อย บริษัทจะมีปันผลหรือไม่ จะมีแผนดำเนินธุรกิจหรือเข้าตลาดหลักทรัพย์ ชำระบัญชี คืนเงินผู้ถือหุ้นหรือไม่ เพราะนายคิมห์ได้ตอบข้อซักถามดังกล่าวว่า ผลของคดีเป็นจุดสำคัญที่สุดของบริษัท ถ้าผลคดียังไม่ออกมาจะเป็นการยากมากที่จะดำเนินการใดๆ กับไอทีวี ที่ผ่านมามีการจ้างที่ปรึกษาการเงินมาดูทางเลือกต่างๆ ก็ยังไม่พบทางเลือกใดๆ ที่เหมาะสม ต้องรอผลของคดีให้สิ้นสุดลงก่อนแล้วจึงพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมให้ผู้ถือหุ้นต่อไป


คำตอบของนายคิมห์ในที่ประชุม แสดงให้เห็นว่า ณ วันที่ 26 เม.ย.66 นายคิมห์มิได้ทราบข้อเท็จจริงที่ว่าไอทีวีประกอบกิจการสื่อโทรทัศน์และมีรายได้จากสื่อโฆษณาแต่อย่างไร แล้วจะเป็นไปได้อย่างไรว่าแบบนำส่งงบการเงินที่ไอทีวีนำส่งเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 66 จะระบุว่ารายได้ของไอทีวีในรอบปี 2565 มาจากสื่อโทรทัศน์? 


และจากข้อพิรุธนี้ยังทำให้เกิดข้อสงสัยต่อเอกสารรายงานแสดงฐานะการเงินของ บริษัท ไอทีวี ในหมายเหตุประกอบงบการเงินงวด 3 เดือน 31 มี.ค. 66 หน้าสุดท้าย ที่มีการระบุว่าในวันที่ 24 ก.พ. 66 บริษัทมีการลงสื่อโฆษณาให้กิจการที่เกี่ยวข้อง และเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 66 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ที่มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่มีการลงสื่อโฆษณา คำถามคือเป็นไปได้อย่างไรที่ไอทีวีจะมีรายได้จากการเป็นผู้ให้สื่อโฆษณาในไตรมาสสองของปีนี้ ในเมื่อในการประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกัน นายคิมห์ยังตอบผู้ถือหุ้นว่าไอทีวียังไม่มีการดำเนินการใดๆ และเป็นไปได้อย่างไรว่าหลังการประชุมผู้ถือหุ้น 26 เม.ย. 66 ประธานที่ประชุมตอบว่าไม่มีการดำเนินการใดๆ แต่ในหมายเหตุประกอบงบการเงินกลับระบุว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 2/66 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทโดยให้บริการลงสื่อโฆษณา?


ชัยธวัชกล่าวต่อไป ว่าจึงเป็นที่ชัดเจนว่าข้อความที่ระบุในเอกสารงบทั้งสองชิ้นข้างต้น ขัดแย้งกับสิ่งที่นายคิมห์ตอบคำถามผู้ถือหุ้นในที่ประชุม หากไอทีวีมีแผนธุรกิจดังกล่าวจริง ย่อมต้องแจ้งผู้ถือหุ้นตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. 66 แล้ว ถึงแผนในการดำเนินธุรกิจใหม่ แต่หลังการประชุมผู้ถือหุ้นเพียงสองวัน คณะกรรมการบริษัทกลับมีมติรับทราบแผนธุรกิจใหม่ ซึ่งผิดวิสัยอย่างยิ่ง


“จากเรื่องทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าทั้งพฤติการณ์ ข้อเท็จจริง มีความไม่สอดคล้องและขัดแย้งกันเองเป็นอย่างยิ่งกับรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น การดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในบันทึกรารงานการประชุมดังกล่าว จึงไม่น่าจะใช่ความผิดพลาดโดยบังเอิญ หรือการจัดทำรายงานการประชุมตามปกติ เมื่อวิญญูชนได้ทราบ ย่อมเข้าใจได้ว่านี่เป็นการจงใจแก้ไขให้สอดรับกับเอกสารต่างๆ ที่ได้ตบแต่งให้เกิดขึ้นในภายหลังใช่หรือไม่?” ชัยธวัชตั้งคำถาม


ชัยธวัชยังกล่าวต่อไป ว่าพรรคก้าวไกลขอยืนยันกับประชาชนว่าเราจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องรักษาเสียงของประชาชน แม้จะมีความพยายามจากบุคคลบางกลุ่มใช้ประเด็นหุ้นไอทีวี ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ หยุดยั้งการดำรงตำแหน่งว่างองหัวหน้าพรรคก้าวไกลและการจัดตั้งรัฐบาลของประชาชน แต่พรรคก้าวไกลเชื่อว่าอำนาจของประชาชนจะได้รับชัยชนะในที่สุด และ กกต. และองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและครรลองประชาธิปไตยต่อไป


ส่วนที่ กกต. จะดำเนินการตามมาตรา 151 ต่อพิธานั้น พรรคก้าวไกลมั่นใจว่าข้อกล่าวหานี้ไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอ เช่นเดียวกับที่อัยการสูงสุดเคยมีคำสั่งไม่ฟ้องธนาธรมาแล้วในคดีหุ้นวีลักส์


สุดท้ายนี้ ชัยธวัชระบุว่าพรรคก้าวไกลขอขอบคุณการทำงานอย่างหนักของสื่อมวชน ในการเปิดโปงให้เห็นถึงความพยายามปลุกผีไอทีวีที่เกิดขึ้น ซึ่งวันนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าแม้ไอทีวีจะยุติการดำเนินงานไปแล้วหลายปี แต่จิตวิญญาณของสื่อมวลชนมืออาชีพ ยังคงอยู่ในตัวของผู้สื่อข่าวเหล่านั้นเสมอ




ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง