ย้อนรอย ‘งูเห่าส้ม’ เปอร์เซ็นต์สอบตก 100 แม้ย้ายไปพรรคใหม่ และลงเลือกตั้งอีก

‘งูเห่า’ ศัพท์ที่ไว้เรียกนักการเมือง หรือ สส.ที่โหวตสวนมติพรรค ข้ามขั้ว ย้ายค่าย เปรียบเปรยว่าเป็นการเนรคุณพรรคต้นสังกัดนั้น กลายมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลัง สส.พรรคประชาชน กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ สส.ชลบุรี ขอยุติบทบาทกับพรรค และขอให้พรรคขับออกเพื่อไปอยู่พรรคกล้าธรรม
ตั้งแต่ยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ มาถึงก้าวไกล และประชาชน งูเห่าส้มนั้น แม้จะย้ายพรรคไป แต่สุดท้ายก็พบชะตากรรมสอบตกหมด และถึงแม้ว่าปรากฎการณ์งูเห่า ไม่ได้เพิ่งจะเกิดเป็นครั้งแรกในยุคนี้ แต่ก็มีการมองว่า เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เปิดทางให้พรรคการเมืองควบคุม สส.ได้น้อยลง ทั้งยังเปิดทางให้เกิดงูเห่าได้ง่ายกว่าเดิมด้วย
งูเห่าส้มที่เนรคุณผู้มีพระคุณ กับเปอร์เซ็นต์สอบตก 100%
‘งูเห่า’ คำศัพท์ที่เกิดขึ้นจากอดีตนายกฯ สมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทยในขณะนั้น ถูกกลุ่ม สส.ปากน้ำของวัฒนา อัศวเหมโหวตสวนมติ โหวตเลือกชวน หลีกภัยเป็นนายกฯ แทน ซึ่งเขาได้เปรียบว่าตนเป็นชาวนา ที่รับงูเห่าเข้ามา แต่สุดท้ายงูเห่าก็ได้แว้งกัดตัวเอง จนคำๆ นี้กลายเป็นคำแพร่หลายที่ใช้ในทางการเมือง
ภายหลัง สส.กลุ่มนี้ ได้ถูกมติขับออกจากพรรค แต่ก็ได้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินัจฉัยบทบาทหน้าที่ ซึ่งศาลชี้ว่าการดำรงตำแหน่งไม่ได้สิ้นสุด เพราะ สส.มีความเป็นอิสระ ไม่จำเป็นต้องทำตามมติพรรค ทำให้ยังดำรงตำแหน่ง สส.ต่อไปได้
ในสมัยพรรคอนาคตใหม่ ก็เกิดกระแสงูเห่าขึ้น สส.บางส่วนเริ่มโหวตมติพรรค ซึ่งในช่วงนั้น พรรคได้ใช้วิธีการขับออกจากพรรคทั้งหมด 4 รายได้แก่
น.ส.ศรีนวล บุญลือ สส.เชียงใหม่ ที่ย้ายเข้าสังกัดพรรคภูมิใจไทย
พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา สส.จันทบุรี ย้ายเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ และย้ายไปลงเลือกตั้งในนามพรรค ภูมิใจไทย
น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ สส.ชลบุรี ย้ายเข้าสังกัดพรรคพลังท้องถิ่นไท และย้ายไปลงเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชารัฐ
นายจารึก ศรีอ่อน สส.จันทบุรี เข้าสังกัดพรรคพลังท้องถิ่นไท และย้ายไปลงเลือกตั้งในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)
แต่นอกจากทั้ง 4 คนนี้ พรรคอนาคตใหม่รวมไปถึงก้าวไกล ก็ไม่เคยใช้วิธีการขับ สส.ออกจากพรรค ในกรณีที่มีการโหวตสวน หรือสงสัยว่าเป็นงูเห่าอีกเลย แต่แม้ว่าจะมีสังกัดพรรคใหม่ ทั้ง 4 สส. ต่างก็สอบตกในการเลือกตั้งปี 2566 โดยกวินนาถ ตาคีย์ที่ลงเลือกตั้งในเขตเดิม คว้าคะแนนได้ไป 807 คะแนน หรือเพียง 1.06% หรือเรียกว่าแพ้ราบคาบ
หลังจากนั้น กระแสงูเห่าก็เกิดขึ้นอีกระลอกเมื่อ สส.บางส่วนโหวตสวนมติพรรค โดยมี 10 สส. ที่โหวตไว้วางใจให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีรวม 6 คน รวมถึงเมื่อพรรคอนาคตใหม่โดยยุบ ทั้ง 10 สส.นั้นไม่ย้ายชื่อเข้าพรรคก้าวไกล กระจายไปอยู่กับพรรคฝั่งรัฐบาล
จำนวน 8 ใน 10 คนนี้ ลงเลือกตั้งในปี 2566 อีกครั้ง แต่ต่างก็แพ้ในสนามเดิมของตัวเอง ขณะที่อีก 2 คน ลงในฐานะบัญชีรายชื่อ แต่ 1 ในนั้นไม่ได้รับที่นั่ง ส่วนอีกรายขาดคุณสมบัติไป
กระแสงูเห่ายังไม่หมดจากพรรคส้มอีก เมื่อมี 5 สส.พรรคก้าวไกล โหวตสวนมติพรรค โหวตไว้วางใจให้กับ อนุทิน ชาญวีรกุล ในการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล
ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคในตอนนั้น ได้ประกาศว่า จะแบน สส.เหล่านี้ เป็นการภายใน ด้วยการไม่ส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง, ไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมพรรค และตัดสิทธิในสภาที่พึงมีในนามพรรค แต่ก็ประกาศว่า จะไม่ใช้มติพรรคขับคนเหล่านี้ออกจากพรรค เพราะไม่ต้องการเติมเสียงให้รัฐบาลอย่างเป็นทางการ จนสุดท้ายงูเห่าเหล่านี้ ลาออกปลายปี 2565 ก่อนยุบสภา
ซึ่งในช่วงเวลานั้น นอกจากงูเห่าของก้าวไกลแล้ว ยังมี สส.พรรคอื่นๆ รวมกันถึง 34 คน ที่ ย้ายไปสังกัดพรรค ภูมิใจไทย และลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่งูเห่าส้มที่ย้ายไปทั้ง 5 คนนั้น จำนวน 4 คนที่ลงสมัคร สส.เขต ต่างก็แพ้ในทุกพื้นที่ ขณะที่อีก 1 สส.ซึ่งลงในนามบัญชีรายชื่อ ก็ไม่ได้รับที่นั่ง
จึงเรียกได้ว่า งูเห่าส้มนั้น ไม่ว่าจะมาจากยุคของอนาคตใหม่ หรือก้าวไกลนั้น ก็สอบตกทั้งหมด 100% ไม่สามารถกลับเข้าสภาได้อีกครั้ง
‘ดองงูเห่า’ วิธีการของพรรคประชาชน ที่จะไม่ใช้การขับออก
แม้ว่าในครั้งนี้ กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ สส.ชลบุรี จะประกาศยุติบทบาทจากพรรค และขอให้พรรคขับออก แต่พรรคประชาชนก็ใช้วิธีการดองงูเห่า โดยณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ประกาศว่าพรรคได้ยื่นขอตีความว่า จดหมายประกาศยุติบทบาทของกฤษฎิ์นั้น ถือเป็นการลาออกหรือไม่
ทั้งพรรคก็ยืนยันว่าจะไม่ขับออก แต่จะใช้มาตรการในการดองงูเห่า รวมถึงการนำเข้ากรรมการวินัยของพรรค เพื่อตัดสิทธิพึงมีทุกอย่างในสถานะสมาชิกพรรคที่เขาแทน ซึ่งสุดท้ายแล้ว หากเป็นการลาออก จะทำให้สถานะ สส.ของกฤษฎิ์ สิ้นสุด และต้องมีการเลือกตั้งใหม่
เมื่อรัฐธรรมนูญ 60 ให้อำนาจงูเห่า และลดอำนาจกำกับ สส.ของพรรคการเมือง
แม้ว่ากระแสงูเห่าจะไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับพรรคอนาคตใหม่ ก้าวไกล และประชาชนเท่านั้น แต่มีมาตลอดในการเมืองไทย แต่หากไปดูรัฐธรรมนูญไทย ที่พูดถึงผลของการขับ สส.ออกจากพรรคการเมืองจะพบว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 นี้เปิดช่องให้งูเห่าย้ายไปพรรคอื่นได้ และพรรคเองก็มีอำนาจ และบทบาทในการคุม สส.ที่ลดลง
โดยในข้อนี้ รัฐธรรมนูญ 60 มีความคล้ายคลึงกับ รัฐธรรมนูญ 2517 ที่หากพรรคมีมติขับ สส.ออกนั้น ผลก็คือ สส.จะไม่พ้นสมาชิกภาพ สส. ถัาหาพรรคใหม่ได้ใน 60 วัน ซึ่งแตกต่างจาก รัฐธรรมนูญ 2521, 2534, 2540 และ 2550 ที่หากมีมติการขับ สส.ออกจากพรรค จะพ้นสมาชิกภาพ สส. ทันที แต่ ฉบับ 2540 และ 2550 เปิดช่องให้ สส.นั้น อุทธรณ์ได้ หากถูกขับ
เว็บไซต์ iLaw ได้วิเคราะห์ว่า นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งในปี 2562 นั้น มีเหตุการณ์โหวตพรรคสวนมติพรรคอยู่เรื่อยๆ และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมองหลักการที่ สส.ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติใดๆ ของผู้แทนปวงชน และสส.ทำหน้าที่ได้อย่างอิสระไม่ต้องตกอยู่ภายใต้คำสั่งของพรรค หรือคำสั่งอื่นใด
แต่ถึงอย่างนั้น ก็พบว่า สส.ที่โหวตสวนมติพรรคนั้น แม้ว่าจะอ้างว่าทำเพื่อประชาชน แต่สิ่งที่โหวตสวนไปนั้น ก็ผิดสัญญาจากที่เคยหาเสียง และพูดไว้กับประชาชนด้วย อย่างเช่น สส.กฤษฎิ์เอง ที่ก็บอกกับประชาชนไว้ว่าจะไม่ย้ายพรรคแน่นอนในช่วงหาเสียงปี 2566