กกร. ถกมาตรการอุ้มธุรกิจ เล็งชงรัฐ “ปรับปรุง ฟื้นฟู เปลี่ยนแปลง” ต่อลมหายใจกิจการอยู่รอด
กกร. ถกมาตรการอุ้มธุรกิจ - นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ ภายใต้แนวคิด “ปรับปรุง ฟื้นฟู เปลี่ยนแปลง” เพื่อประคองและรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ ตามข้อเสนอที่สมาคมธนาคารไทยได้ประสานการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังอย่างใกล้ชิด คาดว่าจะได้ข้อสรุปและมีผลบังคับใช้ภายใน 2 เดือนนี้
โดยในส่วนของการ “ปรับปรุง” จะดำเนินการผ่าน “โครงการพักทรัพย์ พักหนี้” ซึ่งเป็นโครงการภาคสมัครใจที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ยังมีศักยภาพที่จะฟื้นตัวอยู่รอดได้ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถลดภาระทางการเงินได้ชั่วคราว ด้วยการโอนทรัพย์ไว้กับธนาคารโดยมีสัญญาซื้อคืน เพื่อรอการฟื้นตัวของธุรกิจโดยไม่สูญเสียกิจการไป
สำหรับการ “ฟื้นฟู” สำหรับธุรกิจที่ฟื้นตัวและมีความต้องการวงเงินสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติมนั้น เป็นการเพิ่มวงเงินสินเชื่อที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งการเสริมสภาพคล่อง เพื่อรองรับการกลับมาดำเนินธุรกิจแบบปกติ โดยเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึง
ส่วนการ “เปลี่ยนแปลง” จะใช้ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Invoicing) บนแพลตฟอร์ม โดยให้มีมาตรฐานกลางทั้งในเรื่องรูปแบบของใบกำกับภาษี ระยะเวลาที่เหมาะสมของระยะเวลาการให้สินเชื่อระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย (Credit terms) ซึ่งจะรวมถึงการร้องเรียนและการคืนสินทรัพย์ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินเพื่อการค้าที่โปร่งใสและเป็นธรรมกับผู้ประกอบการทุกรายและจะทำให้ระบบเครดิตทางการค้าเชื่อมโยงอย่างเต็มประสิทธิภาพสามารถแข่งขันได้
“ขอให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับการเร่งรัดแก้ไขกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ และเร่งตั้งหน่วยงานเพื่อทำงานตั้งต่างๆ ของภาครัฐและเอกชนในการแก้ไข ซึ่งหากประเทศไทยมีการแก้ไขได้รวดเร็วจะช่วยเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมาก”
นอกจากนี้ เสนอให้ภาครัฐเร่งเปิดมาตรการจับคู่ท่องเที่ยว (Travel Bubble) กับประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลางเพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยว นักธุรกิจที่มีวัคซีนพาสปอร์ตเข้ามาในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมเร่งรัดให้ภาครัฐจัดซื้อวัคซีนให้มากขึ้นจากหลายแหล่งทั่วโลก ให้ครอบคลุมประชาชนคนไทยทั้งหมด แรงงานต่างด้าว นักธุรกิจต่างประเทศที่อยู่ในไทย และให้องค์การอาหารและยา (อย.) อนุมัติวัคซีนที่มีนำเข้าแล้วให้ผ่านเกณฑ์เร็วขึ้น และขอให้ภาครัฐอนุญาตให้ภาคเอกชนซื้อวัคซีนเองแบ่งเบาภาระภาครัฐและช่วยให้การฉีดวัคซีนเร็วขึ้น ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้รวดเร็ว
นายสุพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. ความสามารถในการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งยังคงต้องเฝ้าระวังหลังผ่อนคลายมาตรการ 2. การกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และ 3. มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด-19 รวมถึงการประคับประคองกำลังซื้อในประเทศ
อย่างไรก็ตาม กกร. จึงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวได้ในกรอบ 1.5-3.5% การส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 3-5% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดอยู่ในกรอบ 0.8-1% เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวชัดเจนขึ้น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศเริ่มดีขึ้น ขณะเดียวกันทางการก็เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคพร้อมกับความคาดหวังต่อการกระจายที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและผู้ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุดจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น