รีเซต

ดีล"ภาษีทรัมป์" ลุ้นไทยเทหมดหน้าตัก?

ดีล"ภาษีทรัมป์" ลุ้นไทยเทหมดหน้าตัก?
TNN ช่อง16
17 กรกฎาคม 2568 ( 11:04 )
14

การเจรจาภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ  ล่าสุดประสบความสำเร็จอีกประเทศคือ  “อินโดนีเซีย”  โดยสามารถบรรลุข้อตกลงเจรจาภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เหลือร้อยละ 19 จากเดิมร้อยละ 32  ส่วนสินค้า Transhipment (ส่งผ่าน) จากประเทศอื่นๆ ไปสหรัฐฯ จะถูกเรียกเก็บภาษีของประเทศนั้นๆ   “แลกเปลี่ยน” กับข้อตกลงที่อินโดนีเซียจะเปิดตลาดสินค้าทุกรายการให้สหรัฐฯเป็นครั้งแรก โดยสินค้าสหรัฐฯ ส่งไปที่อินโดนีเซียจะปลอดภาษี หรือเก็บภาษีในอัตราร้อยละศูนย์ 

นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังตกลงที่จะซื้อสินค้าพลังงานจากสหรัฐฯ มูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์ สินค้าเกษตรมูลค่า 4,500 ล้านดอลลาร์ และเครื่องบินโบอิ้ง 50 ลำ ซึ่งหลายลำเป็นเครื่องบินโบอิ้ง 777 

 “อินโดนีเซีย” ยังเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ “โดนัลด์ ทรัมป์”  ส่งหนังสือแจ้งเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ใหม่ เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา  และนับเป็นประเทศที่สองในอาเซียนที่สหรัฐประสบความสำเร็จในการเจรจาลดภาษีนำเข้าสหรัฐฯหลังจากเวียดนาม ได้รับดีลปรับลดเหลือร้อยละ 20  จากร้อยละ 46  ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา (4 ก.ค.)

ดังนั้น การบรรลุข้อตกลงภาษีตอบโต้ของเวียดนามที่อัตราร้อยละ 20   และอินโดนีเซียที่ อัตราร้อยละ 19  ส่งผลให้ไทยที่ถูกขู่ว่าต้องเสียภาษีตอบโต้ในอัตราร้อยละ 36 กลายเป็นตัวเลขสูงที่สุดในกลุ่มอาเซียนที่เป็นคู่แข่งการค้าสำคัญของไทย 

ทั้งนี้ อัตราภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่จะเก็บฟิลิปปินส์อยู่ที่ร้อยละ  20  มาเลเซียที่ร้อยละ 25  สิงคโปร์ ร้อยละ 10 

อีกประเด็นที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดหลังเวียดนาม และอินโดนีเซีย เปิดตลาดสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ แบบปลอดภาษี  จะยิ่งสร้างแรงกดดันให้ไทยต้องยอมเปิดตลาดสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เหมือนกับทั้งสองประเทศด้วยหรือไม่ หลังจากข้อเสนอของไทยล่าสุดเปิดตลาดสินค้าให้สหรัฐฯเป็นส่วนใหญ่แล้ว ก็ตาม 

โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) เปิดเผยในงานเสวนาโต๊ะกลม ‘The Art of (Re) Deal’ จัดโดย ‘กรุงเทพธุรกิจ’ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา  (14 ก.ค.)  โดยระบุว่า “วันนี้ ได้พยายามทำข้อเสนอเปิดตลาดสินค้าให้สหรัฐฯเพิ่มมากขึ้น คิดเป็นระดับเกือบร้อยละ 90 ของมูลค่าสินค้าที่สหรัฐฯ ส่งมาไทย และกำลังพิจารณาให้เข้มข้นยิ่งขึ้น”  พร้อมระบุว่า  “สิ่งที่่เราเสนอไป เราได้ทบทวนหลายรอบ” 

ด้านนายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า สำหรับข้อเสนอเปิดตลาดสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ รอบที่สอง ซึ่งไทยส่งไปเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม อยู่ในอัตราภาษี “เกือบร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 0 ” ครอบคลุมกว่าร้อยละ 90 ของประมาณ 10,000 รายการ โดยยังรอคำตอบจากสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ ส่วนอีกร้อยละ 10 ไทยอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอ่อนไหว เช่น เกษตรกรรมและ SME ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

ขณะที่ล่าสุด นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อคืนนี้(16ก.ค.) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในฐานะหัวหน้าทีมไทยแลนด์ จะนำข้อเสนอลดภาษีนำเข้าสินค้าให้สหรัฐฯเป็นร้อยละ 0 ในสินค้าหลายหมื่นรายการ และข้อเสนอ อื่นๆ ไปพูดคุยกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ หรือUSTR ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งคาดว่าการเจรจาครั้งนี้อาจจะยังไม่ข้อสรุป อาจต้องมีการพูดคุยต่อเนื่อง 

สำหรับมุมมองของภาคเอกชน เริ่มมีความกังวลมากขึ้น  หลังจาก อินโดนีเซีย และเวียดนาม ยอมลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เหลือร้อยละ 0  

โดยนายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยอมรับว่ามี ความกังวลว่าในอนาคตไทยอาจมีโอกาสถูกให้ลดภาษีนำเข้าเป็นร้อยละ 0 ทุกรายการ อย่างอินโดนีเซียและเวียดนาม เนื่องจากมองว่า อินโดนีเซียซึ่งได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ น้อยกว่าไทย 2.5 เท่า ยังยอมลดภาษีนำเข้าเป็นร้อยละ 0 ทุกรายการ อย่างไรก็ตามอย่างต้องรอความชัดเจนจากฝั่งอินโดนีเซียว่าจะมีการชี้แจงข้อมูลตรงกับสหรัฐหรือไม่  และแม้ทีมเจรจาของไทยจะหนักใจ แต่เชื่อว่าทีมไทยแลนด์ทำได้


ทั้งนี้ จากการประชุมหารือของ  47 กลุ่มอุตสาหกรรมสมาชิก ส.อ.ท. ได้ข้อสรุปว่า กลุ่มอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยินดีให้ลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐเหลือร้อยละ 0  แต่มีเพียงบางกลุ่มอุตสาหกรรมยังมีความจำเป็นต้องเก็บภาษี เพราะหากเป็นร้อยละ 0 จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน 


โดยมองว่าสำหรับสินค้าที่สามารถลดภาษีได้ เช่น กลุ่มยา เพราะเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูง ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคไทย ขณะที่กลุ่มเคมี เป็นกลุ่มสินค้าที่มีการลงทุนสูงและยังอยู่ระหว่างการปรับตัวหากมีการลดภาษีนำเข้าเป็นร้อยละ 0 ทันทีจะยังไม่สามารถปรับตัวได้ทัน


"ได้ให้ข้อมูลทั้งหมดกับหน่วยงานภาครัฐเรียบร้อยแล้ว ขึ้นอยู่กับทีมไทยแลนด์ในการตัดสินใจและจัดลำดับความสำคัญในการเจรจา แต่มองว่า ยังไม่จำเป็นถึงขั้นต้องเทหมดหน้าตักอย่างเวียดนามหรืออินโดนีเซียที่ลดภาษีนำเข้าเป็นร้อยละ 0 " นายนาวากล่าว 

ขณะที่มุมมองจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC  หากไทยถูกกดดันให้เปิดตลาดเสรีให้สินค้าสหรัฐฯ โดยไม่มีเงื่อนไข ตลาดที่มีความอ่อนไหวต่อการเจรจากับสหรัฐฯ คือ ตลาดสินค้ากลุ่มปศุสัตว์และวัตถุดิบอาหารสัตว์

เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ มองว่า ได้รับการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากไทย ทั้งจากกำแพงภาษีสูงและข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barriers) ด้านต่าง ๆ  โดยจากการประเมินของ SCB EIC พบว่าอุตสาหกรรมสุกร ไก่เนื้อ และข้าวโพดของไทยมีความ “อ่อนไหวสูง”  หากภาครัฐจำเป็นต้องเปิดตลาดเสรีให้สหรัฐฯ โดยไม่มีเงื่อนไข (กรณีแย่สุด) เนื่องจากต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าสหรัฐฯ อย่างชัดเจน ประกอบกับโดยปกติแล้วไทยใช้ผลผลิตภายในประเทศเป็นหลักและมีผู้ผลิตที่เป็นเกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก 

ตัวอย่างเช่น ในปี 2567  ต้นทุนการเลี้ยงสุกรและไก่ในไทยสูงกว่าต้นทุนในสหรัฐฯ (รวมค่าขนส่งมาไทย) ค่อนข้างมากถึงราวร้อยละ 27 หรือต้นทุนผลิตข้าวโพดของไทยสูงกว่าสหรัฐฯ ราวร้อยละ 9  ทั้งนี้ในปี 2567  ไทยนำเข้าข้าวโพดเพียงร้อยละ 22 ของการบริโภคในประเทศเท่านั้น และไม่ได้นำเข้าเนื้อสุกรและไก่เลย 

ดังนั้น หากรัฐบาลยอมเปิดตลาดกลุ่มสินค้าเหล่านี้เพื่อแลกกับการลดอัตราภาษีตอบโต้ลง ผู้ผลิตในประเทศและผู้เล่นที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตจะได้รับผลกระทบในวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรรายย่อย  ที่มีต้นทุนสูงและเป็นผู้ผลิตส่วนใหญ่ในไทย เนื่องจากต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า 

กล่าวคือ การเปิดตลาดให้สหรัฐฯ จะทำให้ราคาสินค้าในประเทศปรับลดลงจากปริมาณการนำเข้าสินค้าราคาถูกที่เพิ่มขึ้น เช่น ราคาสุกรและข้าวโพดอาจปรับลดลงจากปริมาณการนำเข้าเนื้อสุกรและข้าวโพดราคาถูกจากสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่จะได้อานิสงส์จากราคาสินค้าและต้นทุนวัตถุดิบที่ถูกลง 

แต่ในทางกลับกัน ก็จะเป็นการ “เพิ่มความเสี่ยง”  ด้านความมั่นคงทางอาหารและวัตถุดิบสำหรับไทย เนื่องจากต้องพึ่งพาสินค้านำเข้าจากตลาดต่างประเทศมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ราคาที่ลดลงอาจจะทำให้รายได้เกษตรกรโดยรวมปรับลดลงและจะกดดันให้เกษตรกรที่ผลิตด้วยต้นทุนสูงอยู่แล้วต้องหยุดผลิตเพราะแข่งขันไม่ได้ และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังรายได้ของผู้ผลิตอาหารปศุสัตว์และเกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบ จากความต้องการใช้อาหารปศุสัตว์ในประเทศที่ลดลง  

ทั้งนี้ การเปิดเสรีนำเข้าแบบไม่มีเงื่อนไขให้สหรัฐฯ ในกรณีข้าวโพด  จะส่งผลลบต่อเกษตรกรราว 420,000   ครัวเรือน แต่จะส่งผลดีต่อผู้ผลิตอาหารสัตว์  ส่วนกรณีเนื้อสุกรและเครื่องใน จะส่งผลกระทบต่อเกษตรราว 150,000 ครัวเรือน และผู้ผลิตอาหารสุกร และกรณีเนื้อไก่และเครื่องใน จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ  

สำหรับกลุ่มเนื้อวัวเป็นสินค้าที่มีความ “อ่อนไหวในระดับปานกลาง”  เนื่องจากแม้ต้นทุนการผลิตในไทยจะสูงกว่าสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันไทยมีการนำเข้าเนื้อวัวและเครื่องในจากต่างประเทศอยู่แล้ว จากการทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับคู่ค้าอย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งหากไทยต้องเปิดตลาดให้สหรัฐฯ เพิ่มเติม ก็จะทำให้กลุ่มผู้ผลิตในประเทศต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในบางกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะเนื้อวัวเกรดพรีเมียม 

ในทางกลับกัน กลุ่มสินค้าที่มี “ความอ่อนไหวต่ำ”  เช่น ถั่วเหลือง, ก๊าซธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์นม เป็นสินค้าที่ในปัจจุบันไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าค่อนข้างมากอยู่แล้ว จึงจะได้รับผลกระทบค่อนข้างต่ำและในวงจำกัด

ขณะที่ผลไม้และพืชเมืองหนาว เช่น แอปเปิล เชอรี่ ข้าวสาลี  มีผลกระทบค่อนข้างน้อย เนื่องจากผู้ผลิตในไทยมีไม่มาก จากสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก


ด้าน วิจัยกรุงศรี  ประเมินว่า การเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐฯมากขึ้นเพื่อแลกกับการลดภาษีอาจนำไปสู่ภาวะ "Twin Influx" หรือ การไหลทะลักเข้าของสินค้าจากสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการไหลทะลักของสินค้าจีนเข้าสู่ไทย 

ซึ่งในท้ายที่สุด ภาวะ "Twin Influx" อาจบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขัน และส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในประเทศ โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่มีการจ้างงานถึงร้อยละ 28.6 ของกำลังแรงงาน (ปี 2567)

วิจัยกรุงศรีระบุว่า ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่รุนแรงขึ้น ประเทศไทยอาจมีทางเลือกตอบโต้ที่จำกัด ดังนั้น จึงควรเร่งขยายตลาดและเจรจาการค้ากับประเทศอื่นๆมากขึ้น และหันมาแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาวอย่างจริงจัง เพื่อลดแรงกดดันจากนโยบายการค้าของประเทศแกนหลัก

อย่างไรก็ดี ปัญหาเฉพาะหน้าที่ไทยต้องเร่งรับมือคือ การเจรจาภาษีการค้ากับสหรัฐฯ ให้ได้ดีลที่ที่สุด โดยไม่ต้องเทหมดหน้าตัก ถือเป็นโจทย์ยากและท้าทายทีมไทยแลนด์ 





ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง