เลื่อนภารกิจสำรวจดวงอาทิตย์ เหตุ NASA พบปัญหาทางเทคนิค
วันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NASA) ประกาศเลื่อนภารกิจ Interstellar Mapping and Acceleration Probe หรือ IMAP ภารกิจการปล่อยยานอวกาศ 3 ลำ เพื่อศึกษาดวงอาทิตย์ออกไป เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับการเตรียมอุปกรร์หลักของยานในภารกิจ โดยระบุว่าการเลื่อนครั้งนี้ คือ การให้เวลาเพิ่มเติมสำหรับการเตรียมระบบการบินของภารกิจ IMAP ก่อนส่งขึ้นสู่อวกาศ
ทำความรู้จักกับภารกิจ IMAP (Interstellar Mapping and Acceleration Probe)
ภารกิจ Interstellar Mapping and Acceleration Probe หรือ IMAP ภารกิจสำรวจอวกาศภายใต้โครงการ สาขาวิทยาศาสตร์เฉพาะที่จำเป็นต่อความก้าวหน้าในการทำความเข้าใจพื้นฐานของดวงอาทิตย์และการเชื่อมต่อกับระบบสุริยะ (Solar Terrestrial Probes - STP) แผนก สุริยฟิสิกส์ (Heliophysics) ของ NASA ซึ่งภารกิจ IMAP ถูกออกแบบมาเพื่อหาคำตอบที่สำคัญของฟิสิกส์ อาทิเช่นการเร่งอนุภาคพลังงานสูง และปฏิสัมพันธ์ระหว่างลมสุริยะกับสสารระหว่างดวงดาว
โดยภารกิจนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา วิวัฒนาการในแง่ของเวลาและพื้นที่ของขอบเขตระหว่างลมสุริยะและสสารระหว่างดวงดาว กระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ และสสารระหว่างดวงดาว องค์ประกอบของสสารระหว่างดวงดาว คุณสมบัติของสสารระหว่างดวงดาว และกระบวนการที่เกี่ยวกับการเร่งอนุภาคใกล้ดวงอาทิตย์ ในชั้นเฮลิโอสเฟียร์ (Heliosphere) หรือสุริยมณฑล ที่มีหน้าที่ปกป้องระบบสุริยะของเราจากรังสีคอสมิก (Cosmic ray) มีลักษณะคล้ายฟองอากาศที่ห่อหุ้มระบบสุริยะของเราไว้ และเฮลิโอชีท (Heliosheath) หรือ บริเวณส่วนนอกของเฮลิโอสเฟียร์ ที่ลมสุริยะเริ่มอ่อนกำลังลงอย่างกะทันหัน ร้อนและหนาแน่นขึ้นแล้ว ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสนามแม่เหล็กอย่างฉับพลัน
ภารกิจนี้เคยถูกประกาศว่าจะถูกส่งไปที่บริเวณจุดลากรองจ์ วัน (Lagrange L1) ซึ่งเป็นจุดที่จะเห็นดวงอาทิตย์ตลอดเวลาบนโลก โดยใช้จรวด Falcon 9 ของบริษัท SpaceX ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2025 โดยภารกิจ IMAP ปฏิบัติการจากจุด L-1 ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ห่างกัน 1.5 ล้านกิโลเมตร ในทิศทางของดวงอาทิตย์
หลังจากที่มีการเลื่อนภารกิจมาถึงสองครั้ง และผ่านกระบวนการทบทวนที่มีชื่อว่า "Key Decision Point D" จนสรุปได้ว่า "การเลื่อนในครั้งนี้ก็เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าทีมในโครงการมีทรัพยากรที่เพียงพอสำหรับการจัดการกับความเสี่ยง และความซับซ้อนทางเทคนิคในระหว่างการรวมระบบและการทดสอบหรือไม่" ซึ่งก็เป็นการตัดสินใจเพื่อเพิ่มความมั่นใจว่าภารกิจนี้จะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และข้อมูลที่จะได้จากการสำรวจจะมีความแม่นยำที่สูงขึ้น
เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีจรวดของบริษัท SpaceX สามารถส่งดาวเทียมพร้อมกันได้หลายดวงในการปล่อยจรวดครั้งเดียว ทำให้การปล่อยจรวดที่จะเกิดขึ้นมีดาวเทียมในภารกิจอื่น ๆ เดินทางขึ้นไปพร้อมกันด้วย เช่น Carruthers Geocorona Observatory และ Space Weather Follow-On L-1 ซึ่งเป็นภารกิจที่จะศึกษาชั้นบรรยากาศโลกชั้นนอกสุด และตรวจสอบสภาพแวดล้อมของอวกาศ ที่โดยสารไปพร้อมกับภารกิจ IMAP ก็ต้องเลื่อนออกไปด้วยเช่นเดียวกัน
แม้ว่าการเลื่อนภารกิจการปล่อยยานอวกาศ IMAP จะทำให้แผนการสำรวจดวงอาทิตย์ล่าช้าออกไป แต่การตัดสินใจครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของนาซาในการทำภารกิจให้สำเร็จลุล่วงอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพที่สุด แต่คาดว่าเร็วสุด การเลื่อนภารกิจนี้จะถูกเลื่อนไปเป็นเดือนกันยายน ปี 2025 อย่างไรก็ตามข้อมูลที่เราจะได้จากภารกิจนี้จะเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติอย่างแน่นอน เพื่อให้เราทำเข้าใจจักรวาลและการปกป้องโลกที่เปรียบเสมือนของเรามากขึ้น
ท้ายนี้คุณคิดว่าการเลื่อนการปล่อยยานอวกาศครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อการสำรวจอวกาศในอนาคตอย่างไร?
ที่มา Spacenews.com, NSSDCA NASA, NASA, Spaceth.co, NASA