รีเซต

สินค้าสวมสิทธิ Made in Thailand ส่งออกจริงหรือแค่ทางผ่าน ? และปมปัญหาเจรจาภาษีทรัมป์

สินค้าสวมสิทธิ Made in Thailand ส่งออกจริงหรือแค่ทางผ่าน ? และปมปัญหาเจรจาภาษีทรัมป์
TNN ช่อง16
14 กรกฎาคม 2568 ( 14:20 )
40

ในระหว่างที่ไทยยังเจรจาข้อตกลงภาษีกับสหรัฐฯ ยังไม่สำเร็จ หนึ่งในข้อแนะนำที่นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญหลายคนพูดตรงกันคือ รัฐบาลไทยต้องจัดการกับสินค้าสวมสิทธิจากจีนให้เด็ดขาด และเห็นได้ชัดว่านี่คือสิ่งที่สหรัฐฯ ไม่พอใจ 

ทั้งจากความสำเร็จของเวียดนาม ชาติแรกในอาเซียน และเพียงไม่กี่ประเทศที่เจรจาข้อตกลงกับสหรัฐฯ สำเร็จแล้วนั้น ก็เห็นได้ว่า ประเด็นสินค้าสวมสิทธิก็อยู่ในการเจรจาด้วย โดยเวียดนามจะโดนเก็บภาษีสูงถึง 40% สำหรับภาษีสินค้าสวมสิทธิ

แล้วไทยมีสินค้าสวมสิทธิเยอะแค่ไหน รัฐบาลจะจัดการอย่างไร และเวียดนามที่บรรลุข้อตกลงสำเร็จแล้ว จะจัดการอย่างไรบ้าง ? 


สินค้าสวมสิทธิในไทย เมื่อไทยเป็นแค่ทางผ่าน และเสียประโยชน์

สินค้าสวมสิทธิคือสินค้าที่พยายามสวม หรือปลอมแปลงว่า Made in Thailand แต่จริงๆ แล้วเป็นธุรกิจหลบกฎหมายที่ไทยกำลังเผชิญ จากการที่ทุนต่างชาติมาใช้ไทยเป็นทางผ่าน ส่งออกสินค้าแบบเนียนๆ เพื่อหวังประโยชน์ทางภาษีจากประเทศที่ไทยมี FTA (ข้อตกลงเขตการค้าเสรี) ด้วย โดยมี 2 วิธีหลัก ๆ คือ

  1. ตั้งโรงงานแบบศูนย์เหรียญ
    ต่างชาติตั้งโรงงานในไทย แต่แอบใช้ชื่อคนไทย หรือ ‘นอมินี’  ถือหุ้นเกินครึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายธุรกิจคนต่างชาติ แล้วนำวัตถุดิบจากประเทศตัวเองมาผลิตในไทย แปะป้าย Made in Thailand ส่งออกให้เหมือนเป็นสินค้าจากไทย ทั้งที่จริง ๆ ไม่ได้ผลิตโดยไทยแท้ ๆ

  2. เอาสินค้าเข้ามาแปะป้ายเฉย ๆ
    นำสินค้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศเข้ามาพักไว้ในไทย ก่อนขอใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) แล้วแปะป้ายว่า Made in Thailand จากนั้นก็ส่งออกไปขาย

ประเด็นนี้ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เคยใให้สัมภาษณ์กับ TNN Online ไว้ว่า สินค้าสวมสิทธิเหล่านี้ เกิดจากการทำสงครามการค้าของสหรัฐฯ 

“เมื่อเกิดสงครามการค้าในยุคทรัมป์สมัยแรก กับสงครามการค้าที่ต่อเนื่องมาในสมัยของโจ ไบเดน มันทําให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Trade diversion ก็คือมาตรการกีดกันทางการค้าโดยตรงกับจีน เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการจีนก็เลยไหลออกจากประเทศจีน ไปลงทุนในประเทศที่ 3 แล้วใช้ประเทศที่ 3 เนี่ยเป็นสปริงบอร์ดในการเข้าสหรัฐอเมริกา แน่นอนชื่อที่เราเห็นเยอะๆ ก็คือ แคนาดา เม็กซิโก เวียดนาม ไทย

เพราะฉะนั้นการค้าที่มันเกิดขึ้นในประเทศของเรา มันก็เลยกลายเป็นการค้าแบบที่เราเรียกว่า Trade creation มันถูกสร้างขึ้นมาจากการที่มันเกิด Trade diversion ตอนนี้” 

เมื่อต้นปีนี้ ก่อนการประกาศขึ้นภาษีศุลกากรของทรัมป์ พบว่าการส่งออกของจีนไปยังเวียดนาม และไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งนักวิเคราะห์ของบรูกิงส์ชี้ว่า ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้ ไม่น่าจะมาจากความต้องการในประเทศที่มากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะสะท้อนถึงการขนส่งไปยังสหรัฐอเมริกามากกว่า

สอดคล้องกับที่ พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสวมสิทธิ์สินค้าไทยเกิดขึ้นอยู่รุนแรงตั้งแต่ยุคทรัมป์ 1.0 ซึ่งสงครามการค้าทำให้มีสินค้าจากนอกประเทศไหลทะลักเข้ามาสวมสิทธิเป็นสินค้าไทยแล้วส่งออกไป ซึ่งปัจจุบัน วิธีการเดิมก็ยังอยู่ มีการสวมสิทธิสินค้าเกิดขึ้น แต่เปลี่ยนแปลงบ้างเช่นการนำวัตถุดิบหลักจากต่างประเทศเข้ามาผลิตในไทยแต่ใช้ Local Content หรือวัตถุดิบในประเทศน้อยมาก ซึ่งกรณีแบบนี้ทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์จากการผลิตในประเทศ 

การสวมสิทธิที่ยังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็เห็นได้ชัดจากตัวเลขส่งออกไปสหรัฐฯ และการผลิตในไทยที่ไม่สอดคล้องกัน ซึ่งเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงหลักฐานตัวเลขที่ชัดเจนในงาน "Mission Thailand ภารกิจพลิกฟื้นเศรษฐกิจ" ของทาง TNN เมื่อปลายเดือนเมษายนว่า 

“เมื่อเรามีการแยกตัวเลขออกมา ที่เราส่งออก และเราได้ดุลการค้าในปี 2567 สูงถึง 45,000 กว่าล้านเหรียญสหรัฐ โตกว่าทรัมป์ 1.0 ตอนนั้น เราอยู่อันดับ 14 เราได้ดุลการค้า 20,000 ล้านต่อปี แต่ตอนนี้ เราพุ่งขึ้นมาเท่ากว่า 

ส่วนหนึ่งคืออุตสาหกรรมของอเมริกาที่มันตั้งฐานใช้ประเทศไทยเป็นฐาน พวกฮาร์ดดิส แล้วส่งกลับไปอเมริกา อันนี้โต เพราะ AI โต ส่วนที่สอง เป็นของคนไทย และเป็นคนไทยที่ร่วมทุนกับต่างชาติ ซึ่งถ้าเป็นของคนไทยล้วนๆ มีไม่มาก แต่เป็นของต่างชาติจะสูงกว่า 

แต่อีกส่วนนึงครับก็เป็นการลักษณะของ transshipment หรือว่าการสวมสิทธิ์ผ่านไป ซึ่งตัวนี้เนี่ยมันสอดคล้องกับเรื่องของดัชนีภาคการผลิต เพราะว่าถ้าการผลิตลดลง แต่การส่งออกโตขึ้น ไปอเมริกาก็โตขึ้นเยอะ สอดคล้องกับตัวเลขศุลกากรว่า การนำเข้าของจีนเพิ่มขึ้นมาก เพราะอันนี้เป็นจุดที่ทำให้ เราจะต้องหาทางแก้ไขอย่างจริงจัง” 


รัฐบาลจัดการอย่างไร กับสินค้าสวมสิทธิเหล่านี้ ?

หลังจากประเด็นสินค้าสวมสิทธิเกิดขึ้น และเป็นที่แน่ชัดว่าไทยเสียเปรียบ ทั้งยังเป็นการสร้างความไม่พอใจให้กับสหรัฐฯ รัฐบาลไทยเพิ่มความเข้มงวดสกัดการสวมสิทธิ์สินค้า โดยเฉพาะสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ที่อยู่ในรายการเฝ้าระวัง 65 รายการ โดยกรมการค้าต่างประเทศได้ออกมาตรการคุมเข้มการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) เพียงหน่วยงานเดียว จากที่เคยออกเอกสารได้จาก 3 หน่วยงานรัฐ ทั้งการตรวจโรงงาน ตรวจเอกสาร และทำงานร่วมกับกรมศุลกากรเพื่อป้องกันการยื่นเอกสารปลอม พร้อมเสนอรายชื่อสินค้าเฝ้าระวังให้สหรัฐฯ เพื่อหวังลดการเก็บภาษีตอบโต้ที่สูงถึง 36%

ขณะเดียวกัน รัฐยังขับเคลื่อนการจัดการธุรกิจต่างชาติที่แอบอ้างใช้ชื่อไทย (นอมินี) ผ่านคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงพาณิชย์และมหาดไทยในระดับจังหวัด ตรวจสอบนิติบุคคลเป้าหมายเกือบ 47,000 ราย ภายใน 3 เดือน เพื่อสกัดธุรกิจที่ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยเฉพาะกลุ่มทุนที่ใช้คนไทยบังหน้า แต่แท้จริงควบคุมโดยต่างชาติ 

ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งปิดช่องโหว่ กวาดล้างอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญอย่างจริงจัง ทั้งการตรวจสอบโรงงานนอมินี ลักลอบนำเข้าสินค้าที่ไม่ผ่าน มอก. และการสวมสิทธิ์ว่าเป็นสินค้าไทย ส่งออกผิดกฎหมาย โดยเฉพาะสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา รัฐสามารถยึดสินค้าไม่ได้มาตรฐานได้มูลค่ากว่า 692 ล้านบาท และยังเดินหน้าขยายผลร่วมกับตำรวจเพื่อจัดการอย่างเป็นระบบ

ซึ่งแม้จะเห็นการทำงานแล้ว แต่สิ่งที่สหรัฐฯ อาจต้องการมากกว่านี้คือการจัดการอย่างเด็ดขาด ทั้งในการบังคับใช้กฎหมาย และการลงโทษด้วย 


บทเรียนจากเวียดนาม เมื่อถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสวมสิทธิ 40%

การบรรลุข้อตกลงภาษีของเวียดนาม และสหรัฐฯ นั้น รวมไปถึงการขึ้นภาษี Transshipment หรือภาษีสวมสิทธิที่สหรัฐฯ พิจารณาว่าถูกส่งมาอย่างผิดกฎหมายผ่านเวียดนาม ในจำนวน 40% 

เวียดนามเองก็เหมือนกับไทย ที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพิ่มข้ึนอย่างมาก หลังสงครามการค้าจีน และสหรัฐฯ ในรอบแรก โดยพบว่าเวียดนามเพิ่มการส่งออกถึง 3 เท่าตั้งแต่ปี 2018 และในขณะเดียวกัน ก็ขยายการนำเข้าจากจีนอย่างมาก ซึ่งหลังการเจรจา รัฐบาลเวียดนามได้ประกาศกําลังเตรียมบทลงโทษที่เข้มงวดขึ้นเพื่อปราบปรามการฉ้อโกงทางการค้า และการขนส่งสินค้าอย่างผิดกฎหมาย และมุ่งเน้นการตรวจสอบผลิตภัณฑ์จีน

โดยรัฐบาลเวียดนามจะออกพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ที่จะ "กําหนดระดับการลงโทษเพิ่มเติมสําหรับการฉ้อโกงแหล่งกําเนิดสินค้า" และแนะนํามาตรการและการตรวจสอบที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันการฉ้อโกงสำหรับเวียดนาม สินค้าที่ถูกระบุว่าเป็นสินค้าสวมสิทธินั้นได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ไม้ ไม้อัด ชิ้นส่วนเครื่องจักรเหล็ก จักรยาน แบตเตอรี่ หูฟังไร้สาย และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เป็นต้น

รอยเตอร์ยังรายงานว่า สหรัฐฯ กําลังผลักดันให้เวียดนามลดการพึ่งพาส่วนประกอบที่นําเข้าจากจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสําหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วย 

ซึ่งการประกาศจริงจังกับการจัดการกับสินค้าสวมสิทธิ และเตรียมออกกฎหมายลงโทษ ควบคุมอย่างจริงจังนั้น อาจเป็นสิ่งที่ไทยอาจมองเวียดนามในฐานะผู้ที่เจรจาสำเร็จก่อนเป็นบทเรียนได้ 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง