วิกฤตการเงิน “วัยเกษียณ” คนไทย “อยากทำงาน” หรือ “ไม่พร้อม” l What's up Wealth

มีผลสำรวจจากนิด้าโพล ออกมา ในการสอบถามผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในประเด็นที่ว่า “ผู้สูงอายุไทยอายุ 60 ปี แล้วยังต้องการทำงานหาเงินเลี้ยงชีพต่ออีกหรือ ?”
โดยผลสำรวจระบุว่า คนไทยมากกว่า 57% ยังอยากทำงานต่อ ยังไม่อยากเกษียณ รวมถึงอยากให้ขยายอายุเกษียณงานจากอายุ 60 ปี เป็น 65 ปี โดยเกือบ 80% ของผู้ที่เห็นด้วยนั้นให้เหตุผลเพราะว่า สุขภาพยังดี ยังสามารถทำงานสร้างประโยชน์ได้ รองลงมา 77% ระบุว่ามีเวลาทำงานพอที่จะสร้างรายได้ได้ต่อเนื่อง และ 36% ระบุว่า สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลลูกหลานได้ ไม่กลายเป็นภาระ
ส่วนกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย และอยากเกษียณอายุนั้น เกือบ 70% ให้เหตุผลว่า ปัญหาสุขภาพ รองลงมา 37% ระบุว่า เสียโอกาสทำในสิ่งที่ตนเองชอบ ถ้าหากต้องทำงานต่อ 34% ระบุว่า เวลาในการได้รับสิทธิประโยชน์เงินประกันชราภาพ/เงินบำเหน็จ/เงินบำนาญต้องเลื่อนออกไป และ 7% ระบุว่าเป็นการตัดโอกาสการเข้ามาทำงานของคนรุ่นใหม่
เมื่อนำมาเทียบเคียงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ แล้วในปี 2567 ที่ผ่านมาเนื่องจากมีสัดส่วนประชากรสูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 20% ของประชากรทั้งหมด หรือราว ๆ 14 ล้านคน นอกจากนี้ผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้หลังเกษียณมีสัดส่วนถึง 21% หรือเกือบ 3 ล้านคน และมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปีถึง 84% หรือเกือบ 12 ล้านคน ซึ่งแน่นอนว่าการไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ที่ตำกว่าปีละ 30,000 บาทต่อปี อาจจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ