รีเซต

นักวิจัยกัมพูชา ศึกษาค้างคาว เพื่อหาต้นกำเนิดโควิด-19 หลังเชื้อคล้ายกันในสัตว์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว

นักวิจัยกัมพูชา ศึกษาค้างคาว เพื่อหาต้นกำเนิดโควิด-19 หลังเชื้อคล้ายกันในสัตว์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว
TNN World
20 กันยายน 2564 ( 15:43 )
91
นักวิจัยกัมพูชา ศึกษาค้างคาว เพื่อหาต้นกำเนิดโควิด-19 หลังเชื้อคล้ายกันในสัตว์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว

Cambodia: คณะนักวิจัยได้เก็บรวบรวมตัวอย่างจากค้างคาว ในจังหวัดทางตอนเหนือของกัมพูชา เพื่อทำความเข้าใจถึงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากภูมิภาคดังกล่าว เคยพบไวรัสที่คล้ายคลึงกันในสัตว์เมื่อ 10 ปีก่อน

 

 

เมื่อปี 2010 มีการเก็บตัวอย่าง 2 ตัวอย่างจากค้างคาวมงกุฎ ที่จังหวัดสตรึงเตรง ทางเหนือสุดของกัมพูชาใกล้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และนำไปเก็บไว้ในตู้แช่แข็งของสถาบันปาสเตอร์แห่งกัมพูชา (IPC) ขณะผลการทดสอบเมื่อปีที่แล้ว พบว่าตัวอย่างดังกล่าวใกล้เคียงกับเชื้อโควิด-19 ที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วกว่า 4.6 ล้านคน

 

 

คณะวิจัย IPC ซึ่งมีสมาชิก 8 คน ได้เก็บตัวอย่างต่าง ๆ จากค้างคาว ด้วยความหวังว่าผลจากการศึกษาชิ้นนี้ จะช่วยให้โลกเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งสปีชีส์ของโฮสต์ เช่น ค้างคาว มักไม่แสดงอาการของเชื้อโรค แต่อาจมีผลกระทบร้ายแรง หากเชื้อกระจายสู่มนุษย์หรือสัตว์อื่น ๆ

 

 

หัวหน้าภาคไวรัสวิทยาที่ IPC กล่าวว่า สถาบันลงพื้นที่ถึงสี่ครั้งในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยหวังว่าจะได้เบาะแสเกี่ยวกับต้นกำเนิด และวิวัฒนาการของไวรัสที่มีค้างคาวเป็นพาหะ เและว่า เราต้องการค้นหาว่าไวรัสชนิดนี้ยังมีอยู่หรือไม่ เพื่อจะได้รู้ว่าไวรัสมีวิวัฒนาการอย่างไร

 

 

ทั้งนี้ ตัวอย่างไวรัสร้ายแรงที่มาจากค้างคาว ได้แก่ อีโบลาและโคโรนาไวรัสอื่น ๆ เช่น โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) และโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS)

 

 

อย่างไรก็ตาม หัวหน้าภาคไวรัสวิทยาที่ IPC ยังกล่าวว่า มนุษย์มีส่วนรับผิดชอบต่อความหายนะที่เกิดจากโควิด-19 เนื่องจากมนุษย์รบกวน และทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ป่า พร้อมเสริมว่า หากมนุษย์พยายามเข้าใกล้สัตว์ป่า มีโอกาสที่ไวรัสจะแพร่ระบาดมากกว่าปกติ รวมถึงโอกาสกลายพันธุ์สู่มนุษย์ก็มากขึ้นตามไปด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง