จับชีพจรท่องเที่ยวไทย หลังโควิดป่วนอุตสาหกรรม ทัวร์-ททท.ตั้งหลักรีสตาร์ตใหม่
ตั้งแต่ 1 มิถุนายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ได้คลายล็อกระยะที่ 3 ให้ธุรกิจกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ในรอบนี้หลายธุรกิจตั้งอยู่ในศูนย์การค้า ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ สนามพระเครื่อง ศูนย์พระเครื่อง ร้านเสริมสวย ทำสีผม แต่งผม หรือตัดผม ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กคลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สปา นวดแผนไทย ฟิตเนส สนามกีฬา สถาบันลีลาศ โรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ สวนสัตว์
นอกจากนี้ ปรับเวลาเคอร์ฟิวอีก 1 ชั่วโมง มาอยู่ช่วง 23.00-03.00 น. แทน 23.00-04.00 น. เพื่อให้ประชาชนดำรงชีพและประกอบอาชีพได้สะดวกมากขึ้น
ตีปี๊บ!!รีสตาร์ตธุรกิจเฟส3
ซึ่งการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐ สร้างความหวังให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นกลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะการกลับมาเริ่มต้นเปิดร้านค้าของพ่อค้าแม่ค้าตัวเล็กตัวน้อย ส่งผลให้ประชาชนกลับมามีรายได้อีกครั้ง ที่จะส่งผลต่อถึงภาคการผลิตสินค้าได้มากขึ้น แรงงานกลับเข้าตลาดแรงงาน โดยเฉพาะภาคบริการที่ต้องหยุดมาแล้ว 2 เดือน
ที่ว่างงานมากเป็นอันดับต้นๆ คือ ธุรกิจเกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว แม้เริ่มคลายล็อกเพื่อเกิดการเดินทาง เกิดการพักผ่อน การเข้าพัก แต่ก็ไม่ใช่การเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ เมื่อเปิดให้จำกัดจากมาตรการเว้นระยะห่าง และจำนวนนักท่องเที่ยวยังต่ำไม่ถึง 1 ใน 3 ดังนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ จึงเลือกปิดชั่วคราวไปอีกระยะ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ จนซ้ำเติมสภาพคล่องทางการเงินแย่ลงไปอีก
แต่ก็มีผู้ประกอบการบางส่วน หวังหลังจากคลายล็อกธุรกิจเฟส 3 และอีก 14 วัน เปิดให้เฟส 4 จนครบทั้งหมดในเดือนมิถุนายน การเดินทางข้ามจังหวัดและการจัดกิจกรรมของคนในประเทศ จากนั้นตามมาด้วยการเปิดน่านฟ้าให้สายการบินได้ตามปกติ และการกลับมาทำงานของนักธุรกิจต่างชาติและนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ถึงเวลาหันพึ่งพาไทยเที่ยวไทย
ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว แต่เมื่อภาคท่องเที่ยวไทยปี 2563 เผชิญปัญหาการระบาดโควิด และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เดิมนั้นไทยเน้นทำการตลาดและพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ จนมีสัดส่วนรายได้ 70% ส่วนไทยเที่ยวไทยเพียง 30% แต่จากนี้แนวโน้มพึ่งพาตนเอง เชื่อว่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ทุกประเทศใช้ รวมถึงไทย เพราะไทยเที่ยวไทย เงินใช้จ่ายก็จะหมุนเวียนเศรษฐกิจกันเองในประเทศ ซึ่งก็เป็นทิศทางเดียวกับการพึ่งพาบริโภคในประเทศ แทนส่งออกที่ถดถอยอย่างรุนแรง เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตต่างๆ
ทำให้กระทรวงท่องเที่ยว ปรับเป้าหมายใหม่ ลดสัดส่วนรายได้จากต่างชาติ 65% มาเพิ่มที่คนไทย 35% ให้ได้ภายในปี 2563 และผลักดันปี 2564 สัดส่วนต่างชาติเหลือ 60% และเพิ่มสัดส่วนคนไทยถึง 40% ครั้งแรก ก็ต้องติดตามว่าจะทำได้ดั่งเป้าหมายหรือไม่ !!
การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 สร้างผลกระทบให้กับทุกภาคส่วนและทุกประเทศอย่างเท่าเทียมกัน เพียงหนักหรือเบาขึ้นอยู่กับประเทศนั้นปรับตัวและรับมือได้อย่างไร ดังนั้น เสมือนรีสตาร์ตภาคการท่องเที่ยวใหม่อีกครั้ง
ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ฉายภาพ ภาคการท่องเที่ยวไทยต่อจากนี้ไว้ว่า จากนี้เราต้องพึ่งพาตลาดในประเทศ ดังนั้น การกระตุ้นตลาดในประเทศ จะเน้นใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม และทรัพยากรทางธรรมชาติ ที่ฟื้นฟูตัวเองในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงกิจกรรมที่ทำให้เกิดความผ่อนคลายต่าง อาทิ การเปิดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และการอนุรักษ์ เป็นจุดขายการท่องเที่ยวไทย ซึ่งที่ผ่านมาก็สามารถเข้าไปอยู่ในใจของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติได้หลากหลายประเทศ
โดยธรรมชาติที่ถูกฟื้นฟูกลับมาแล้ว ทั้งทางบก ทางน้ำ และภูเขาต่างๆ ทำให้อุทยานทางประวัติศาสตร์ และอุทยานทางทะเล ถูกพูดถึงและถูกคิดถึงเยอะมาก การเริ่มต้นกลับมาเดินทางอีกครั้ง จึงจะใช้จุดเด่นและกลับมาแข็งแกร่งตรงนี้เป็นตัวขายท่องเที่ยวไทย แต่การท่องเที่ยวทางน้ำ จะต้องบริหารจัดการให้ดี รองรับจำนวนนักท่องเที่ยวให้เหมาะสม ผ่านการเที่ยวแบบพอดี จำกัดปริมาณคน ไม่ปล่อยให้เกิดการแออัดหรือการเบียดเสียดขึ้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส รวมถึงสร้างความปลอดภัยให้เป็นมาตรฐานใหม่ในภาคการท่องเที่ยวด้วย โดยจะเริ่มใช้ในส่วนของคนไทย ก่อนจะเริ่มบริหารจัดการกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาต่อไป
รองผู้ว่าฯ ททท. การจัดอันดับความสำคัญของแผนการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว ต้องเริ่มต้นที่การซ่อมสร้าง ได้แก่ บุคลากรในด้านการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการในแต่ละด้าน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน และพนักงาน ซึ่งจะมีการหามาตรการที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพของแรงงานท่องเที่ยวไทยมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาและซ่อมสร้างแหล่งท่องเที่ยว
ขณะนี้ได้เริ่มต้นทำในหลายพื้นที่ไปบ้างแล้ว นอกจากนี้ จะต้องสร้างพื้นฐานความเข้าใจใหม่ในส่วนของความปกติวิถีใหม่ หรือนิวนอร์มอล จึงเป็นที่มาของโครงการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration หรือ (เอสเอชเอ) ซึ่งจะเข้ามาเป็นส่วนยกระดับมาตรฐานคุณภาพท่องเที่ยวไทยทั้งอุตสาหกรรม เพราะประกอบไปด้วยมาตรฐานด้านการท่องเที่ยว ที่พัก แหล่งท่องเที่ยว และการบริการ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องพัฒนาทุกอย่าง เพื่อให้ได้รับตราสัญลักษณ์เอสเอชเอ ซึ่งจะเป็นการการันตีคุณภาพที่พัก หรือแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ไปในตัว
โหมแคมเปญ-เพิ่มแรงจูงใจ
ต่อมาจะเป็นการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างชาติ ที่จะเข้ามาในช่วงถัดไป โดยจะสร้างมาตรฐานความปลอดภัยและสาธารณสุข เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวที่จะเริ่มออกเดินทาง รวมถึง ททท. แต่ละสำนักงานในทุกจังหวัดทั่วประเทศได้จัดทำแคมเปญ คิด (แล้วไปให้) ถึงในรูปแบบการประชาสัมพันธ์ภาพถ่ายแหล่งท่องเที่ยวจริงของแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด เพื่อสะท้อนความสวยงาม และความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวแล้ว หลังจากนั้นจะเป็นการเริ่มต้นทำตลาดใหม่ เพื่อกระตุ้นให้ตลาดไทยเที่ยวไทยกลับมาเดินทางในประเทศ ก่อนจะดึงดูดให้ตลาดต่างชาติดีดตัวกลับเข้ามา (รีบาวด์)
ซึ่งจะต้องดูประเมินจากความพร้อมของประเทศไทยและประเทศต้นทางด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงกลับมาอีกครั้ง โดยจะมีการประเมินว่า อาจมีการพิจรารณาความต้องการในการท่องเที่ยวแต่ละพื้นที่ แล้วปิดพื้นที่นั้นให้ท่องเที่ยวเป็นกลุ่มๆ ไปเลย ซึ่งอาจเริ่มต้นจากตลาดไทยเที่ยวไทยก่อน จากนั้นจะเริ่มสำรวจความต้องการของตลาดต่างชาติ และจัดลำดับความเหมาะสมต่อไป โดยจะพิจารณาว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยงน้อย มีมาตรการจัดการที่รัดกุม ปลอดภัย และประเภทของแหล่งท่องเที่ยวมีความเหมาะสม อาทิ ชายหาด น้ำตก ภูเขาต่างๆ
ตอกย้ำอีกว่า ขั้นต่อไป ททท.จะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในการออกแคมเปญพาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และบุคลากรทางการแพทย์ ท่องเที่ยวในประเทศไทย ผ่านผู้ประกอบการนำเที่ยว หรือทัวร์นำเที่ยว เป็นผู้พาเดินทางเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ ซึ่งรัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ส่วนหนึ่ง โดยจะสามารถช่วยได้ 2 ส่วน ทั้งทำให้บุคลากรทางการแพทย์เกิดความผ่อนคลาย และเครียดน้อยลง จากภาระหน้าที่ที่เจออยู่ทุกวัน รวมถึงยังช่วยผู้ประกอบการให้ขายแพคเกจท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้น เป็นการเสริมรายได้ และเพิ่มสภาพคล่องด้วย
สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ใช้แคมเปญบายนาว ทราเวลเลเตอร์ เป็นการศึกษาและซื้อแพคเกจท่องเที่ยวไว้ก่อนในราคาที่พิเศษสุดๆ แบบหาไม่ได้อีกแล้ว ในช่วงเวลาปกติ โดยสามารถซื้อได้ทันที หลังจากนั้นจะเที่ยวในช่วงใดก็ได้ ซึ่งระยะเวลาในการใช้แพคเกจจะใช้ได้ยาวขึ้น อาจใช้ได้จนถึงปี 2564 เพื่อสร้างแรงจูงใจมากขึ้น โดยขณะนี้ ททท.อาจทำการตลาดมากไม่ได้นัก เพราะภาพการท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไป หลังจากโควิด-19 เข้ามาส่งผลกระทบทำให้ท่องเที่ยวทั้งโลกสั่นสะเทือน ซึ่งขณะนี้จะเน้นไปที่การสร้างภาพลักษณ์ สร้างความมั่นใจในการเดินทางท่องเที่ยว และสร้างมาตรฐานด้านระบบสาธารณสุข ให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น
ดึง12ล้านคนไทยเที่ยวในประเทศ
“ททท.จะพยายามกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวไทยที่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยแต่ละปีมีออกไปประมาณ 12 ล้านคน กลับมาเดินทางในประเทศไทย เพราะคนกลุ่มนี้มีศักยภาพในการใช้จ่าย หากกลับมาใช้จ่ายในประเทศ จะเป็นการหมุนเวียนรายได้ในประเทศมากขึ้น แต่จะต้องสร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทย ให้มีราคาเหมาะสม เพื่อดึงดูดให้คนไทยอยากเที่ยวเมืองไทย และรักเมืองไทยมากขึ้น” ฐาปนีย์กล่าวทิ้งท้าย
ในระยะถัดไป ประเมินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเริ่มต้นเดินทางอีกครั้งในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นพอดี ทำให้ต้องเร่งพัฒนา เพิ่มมาตรฐานการท่องเที่ยวให้เต็มที่ เพื่อรองรับการกลับมาอีกครั้งของนักท่องเที่ยวเหล่านั้น ซึ่งการต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเปลี่ยนแปลงไป ไม่สามารถต้อนรับในปริมาณมากๆ ได้เท่าที่ผ่านมา ถือเป็นการคัดเลือกกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพไปในตัว ซึ่งในระยะเริ่มต้น น่าจะเป็นการกลับมาของนักท่องเที่ยวระยะใกล้ ในประเทศแถบเอเซียก่อน เพราะเป็นประเทศที่สามารถควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสได้ดีไม่แตกต่างจากไทย และสามารถเดินทางเข้ามาได้ใช้เวลาไม่นานนัก จึงน่าจะสะดวกในการไปมาหาสู่กันอีกครั้ง
2ปัจจัยคืนชีพนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการ ด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า การกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทย เบื้องต้นขึ้นอยู่กับ 2 เรื่องหลักคือ 1.การเปิดน่านฟ้า อนุญาตให้เครื่องบินทำการบินได้ เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นวันที่ 1 กรกรฎาคมนี้ และ 2.ความต้องการในการกลับมาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติเอง ซึ่งเท่าที่สำรวจก็พบว่า มีต่างชาติต้องการมาเที่ยวพักผ่อนในประเทศไทยจำนวนมาก เพราะที่ผ่านมา การปิดประเทศก็ทำให้เกิดการอั้นและเก็บกดไว้ก่อน หากเปิดมากขึ้น เชื่อว่าจะเกิดการเดินทางเข้ามาในปริมาณไม่น้อยอย่างแน่นอน รวมถึงขึ้นอยู่กับมาตรการทางสาธารณสุขทั้งของประเทศต้นทางและประเทศไทยเองว่า หากเดินทางเข้ามาจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ต้องแสดงใบตรวจเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะหรือไม่ หรือต้องกักตัวดูเชื้อ 14 วันหรือไม่ ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้ก็มีผลต่อการตัดสินใจการเดินทางมาก
3กลุ่มมาได้ไวหลังโควิดคลี่คลาย
กลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเบื้องต้นมองไว้ว่ามี 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มนักธุรกิจ 2.กลุ่มวัยรุ่นหรือเจนมิลเลนเนียล และ 3.กลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป ซึ่งในทั้ง 3 กลุ่มนี้ กลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป จะยังไม่สามารถกลับมาได้เร็วมากนัก จึงต้องหันมาให้ความสนใจและเน้นทำการตลาดกับนักท่องเที่ยวกลุ่มนักธุรกิจและกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น เพราะนักธุรกิจไม่สามารถที่จะหยุดการเดินทางได้ เนื่องจากต้องเข้ามาเจรจาธุรกิจ และบริหารจัดการภาพรวมธุรกิจตลอดเวลา แม้จะสามารถทำทุกอย่างผ่านช่องทางออนไลน์ได้ แต่ก็ต้องเข้ามาดูแลกิจการในภาพรวมบ้าง ซึ่งปกติแล้วกลุ่มนักธุรกิจเหล่านี้ จะสามารถกลับมาได้ง่าย เนื่องจากไม่ต้องจ่ายค่าเดินทางเอง เพราะส่วนใหญ่จะถูกรับผิดชอบโดยบริษัทต้นสังกัดอยู่แล้ว หรือหากใช้จ่ายเอง ก็จะมีศักยภาพในการใช้จ่ายได้อยู่
ส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มวัยรุ่น แม้จะไม่ได้มีเงินมาก เหมือนกลุ่มผู้ใหญ่ หรือมีศักยภาพในการใช้จ่ายมากนัก แต่ส่วนใหญ่จะเป็นพวกขาลุย ต้องการพบเจอประสบการณ์ใหม่ๆ มีการเดินทางอยู่ตลอดเวลา มีพลังในการเดินทางและมีความอยากเดินทาง หลังจากอัดอั้นมาเป็นเวลานาน จึงทำให้นักท่องเที่ยวทั้ง 2 กลุ่มนี้ น่าจะเป็นกลุ่มที่สามารถเข้าไปกระตุ้น หรือดึงดูดการเดินทางได้ง่ายสุด
การทำตลาดต่อจากนี้ จะเน้นกระตุ้นตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นอีก จากที่ผ่านมาก็มีการทำตลาดผ่านช่องทางนี้อยู่แล้ว เพื่อกระตุ้นกลุ่มนักท่องเที่ยววัยรุ่น ให้ต้องการเข้ามามากขึ้น เพราะกลุ่มวัยรุ่นจะนิยมใช้สื่อโซเชียลมีเดีย การทำการตลาดผ่านช่องทางนี้ จึงคาดว่าจะตรงกลุ่มเป้าหมาย และมีศักยภาพสูงมาก
ส่วนอีกกลุ่มที่อาจไม่ได้เข้ามามากนัก แต่เริ่มดีขึ้นจากปี 2562 คือ กลุ่มนักกอล์ฟ ที่ต้องการเข้ามาเล่นกอล์ฟในสนามเมืองไทย เพราะมีมาตรฐาน และมีการอำนวยความสะดวกสบายมาก ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ มักมีศักยภาพในการใช้จ่าย เน้นการท่องเที่ยวพักผ่อนแบบต้องการได้รับการบริการที่ดี และมีความสามารถในการจ่ายได้สูง ช่วงที่ไทยปิดประเทศเชื่อว่าน่าจะทำให้คนกลุ่มนี้อั้นมากพอสมควร หากเปิดประเทศแล้ว และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้ เชื่อว่าจะเห็นการกลับมาเข้าจำนวนไม่แตกต่างจากปีก่อน
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือกลุ่มที่ต้องการใช้บริการสาธารณสุขไทย ซึ่ง ททท.ได้หารือกับโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย พบว่ากลุ่มคนเหล่านี้ต้องการใช้บริการในโรงพยาบาลในไทยมาก ทั้งการผ่าตัด การตรวจสุขภาพ หรือการรักษาพยาบาลต่างๆ เนื่องจากต้องบอกว่า ระบบด้านสาธารณสุขไทยมีศักยภาพสูงมาก ความต้องการจึงมีมากไม่แตกต่างกัน โดยกลุ่มที่เข้ามาเป็นประเทศในแถบอาเซียน อาทิ เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม ที่มาเที่ยวพักผ่อนและใช้บริการด้านสาธารณสุขไปในตัวด้วย
นักท่องเที่ยวในแถบเอเชียแปซิฟิก หากจะเห็นการเดินทางกลับเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย แบบเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนจริงๆ จะเกิดขึ้นเดือนตุลาคม คาดการณ์เข้ามามากที่สุดแต่ประมาณ 70% เทียบเดือนตุลาคมปีก่อน โดยเฉพาะจีน เนื่องจากเดือนตุลาคมเป็นวันหยุดยาวของจีน (โกลเด้นวีค) ชาวจีนนิยมเดินทางออกนอกประเทศมากที่สุด และเดินทางเข้าประเทศไทยมากที่สุดด้วย ประเมินมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนหนึ่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม แต่ขึ้นอยู่กับความนิ่งของสถานการณ์ในประเทศ โควิดไม่ระบาดระลอก 2 เปิดน่านฟ้าทำการบินระหว่างประเทศได้มากแล้ว
“เชื่อว่ากว่าจะถึงเดือนตุลาคม หลายประเทศน่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่โควิด-19ได้ หากไม่ปลอดไวรัสจริงๆ ก็น่าจะเหลือความเสี่ยงน้อยมาก จึงไม่น่าจะกระทบกับการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ หากเดือนตุลาคม นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับมา จะส่งผลกระทบการท่องเที่ยวหน้าหนาวเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม หากเป็นอย่างนั้น คงต้องมองข้ามไปปี 2564 กว่าจะมีนักท่องเที่ยวอีกครั้งก็ช่วงเทศกาลตรุษจีน ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ไม่แค่ชาวจีน ชาวฮ่องกง แต่ชาติอื่นก็นิยมเดินทางเข้ามาไทยช่วงนี้ด้วย”
ธุรกิจนำเที่ยวฟิตพร้อมบริการ
การขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวในยุคหลังโควิด-19 คลายตัวหรือสามารถจบลงได้ ภาครัฐวางแผนไว้แล้วเบื้องต้น แต่แผนการทั้งหมดขึ้นอยู่กับสถานการณ์ถัดไปด้วย ว่าจะสามารถเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวไปได้ในทิศทางใด และไปได้ไกลมากน้อยเท่าใด
วิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนเตรียมตัวรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทยไว้พร้อมแล้ว ทั้งด้านความปลอดภัยและระบบสาธารณสุข หากไทยสามารถเปิดน่านฟ้าได้เดือนกรกฎาคม เชื่อว่าจะสามารถฟื้นการท่องเที่ยวไทยกลับมาได้เร็วขึ้น อาจเริ่มต้นให้เข้ามาในประเทศที่มีการดูแลการระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ดีภายในก่อน อาทิ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนาม นิวซีแลนด์ ลาว กัมพูชา เมียนมา ก่อนขยายไปประเทศอื่น แม้จะอยากให้ต่างชาติฟื้นกลับมาเร็วที่สุด แต่ชีวิตและความปลอดภัยของคนไทยเป็นเรื่องสำคัญอันดับ 1 จึงต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานใหม่ด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเข็มแข็ง เพื่อไม่ให้ไวรัสโควิด-19 กลับมาระบาดระลอก 2
ย้อนหลังเศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนผ่านเครื่องยนต์การส่งออก และการลงทุนของต่างชาติ แต่หลังจากโควิด-19 สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก เครื่องยนต์ขับเคลื่อนตัวสำคัญที่เหลืออยู่คือ ภาคการท่องเที่ยว เชื่อว่าหลังไวรัสจบลง ทุกประเทศจะต้อนนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวในประเทศตัวเอง และเกิดการแข่งขันที่สูงมากขึ้นอย่างแน่นอน