ค้ำประกัน จำนอง จำนำ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
ในแวดวงสินเชื่อเรามักจะได้ยินคำว่า ค้ำประกัน จำนำ จำนอง อยู่บ่อยครั้ง ทราบหรือไม่ว่าสามคำนี้เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร trueID มีคำตอบมาให้ทุกคนได้ทราบแล้ววันนี้ ไปดูกันเลย
ค้ำประกัน จำนอง จำนำ มีกำหนดไว้เป็นตัวบทกฎหมายบัญญัติไว้ในประมวลแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ว่าด้วยเอกเทศสัญญา โดยทั้งสามเรื่องนี้มีหลักสำคัญที่นำมาเสนอให้เข้าใจได้พอสังเขป ดังนี้
1. ค้ำประกัน
การค้ำประกันเป็นการทำสัญญา ซึ่งต้องมีบุคคลภายนอก หรือที่เรียกว่า ผู้ค้ำประกัน โดยต้องเข้ามาผูกพันทางกฎหมายต่อเจ้าหนี้ เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้กรณีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามสัญญา ในการทำสัญญาค้ำประกันนี้ จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด พร้อมกับลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันไว้ด้วย มิฉะนั้นจะฟ้องบังคับคดีกันไม่ได้ สัญญาค้ำประกันจะต้องระบุหนี้หรือสัญญาค้ำประกันไว้โดยชัดแจ้ง และ
ผู้ค้ำประกันย่อมรับผิดเฉพาะหนี้หรือสัญญาที่ระบุไว้เท่านั้น
กรณีเมื่อลูกหนี้ผิดนัด เมื่อถึงกำหนดวันเวลาที่ต้องชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงกับเจ้าหนี้แล้ว กฎหมายกำหนดให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ในระหว่างนี้ห้ามเจ้าหนี้เรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกัน
หากผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้หมดแล้ว ผู้ค้ำประกันยังมีสิทธิ์ที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ เพื่อเงินต้นกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหาย หรือเสียหายไปอย่างใด ๆ เพราะการค้ำประกันนั้นได้ หรือหากเมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันสามารถขอชำระหนี้กับเจ้าหนี้ได้ตั้งแต่เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้
สาระสำคัญ
- เป็นการค้ำประกันหนี้ของบุคคลภายนอก โดยที่บุคคลภายนอกยินยอมเข้าผูกพันตนต่อหนี้ของบุคคลอื่น
- ต้องมีหนี้ที่เรียกกันว่าหนี้สัญญาประธาน ซึ่งจะเกิดจากสัญญาหรือมูลละเมิดก็ได้ (มูลละเมิดคือ ค่าเสียหายในทางแพ่งอันเกิดจากการกระทำโดยผิดกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ซึ่งจะกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม)
- สัญญาค้ำประกันจะทำด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือก็ได้ แต่หากไม่ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ
ผู้ค้ำประกันไว้ จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้
- ผู้ค้ำประกันมีสิทธิไล่เบี้ยจากลูกหนี้ได้
2. จำนำ
การจำนำเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนทรัพย์สินมาเป็นเงินได้รวดเร็วและทรัพย์ยังเป็นของผู้จำนำ เป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้จำนำกับผู้รับจำนำ โดยประการสำคัญคือต้องมีการส่งมอบทรัพย์สินเพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ ถือเป็นการนำทรัพย์สินที่เรียกประเภททรัพย์สินนั้นว่า สังหาริมทรัพย์ เช่น ทองคำ นาฬิกา รถยนต์ เป็นต้น ส่วนทรัพย์ที่ไม่สามารถนำมาจำนำได้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์นอกพาณิชย์
(ทรัพย์นอกพาณิชย์ คือ ทรัพย์ที่ไม่อาจนำมาชื้อขายแก่กันได้ หรือเป็นทรัพย์ที่ไม่อาจโอนแก่กันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น ดวงดาว ดวงอาทิตย์ ที่ธรณีสงฆ์) เป็นต้น
ผู้จำนำนั้นอาจเป็นลูกหนี้หรือบุคคลที่สามก็ได้ โดยการทำสัญญาจำนำ ไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือ หรือมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใด แต่ความสำคัญของการจำนำนั้นคือต้องตกลงกันให้ชัดเจนเพื่อเป็นหลักประกันในมูลหนี้ และต้องมีการนำส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้รับจำนำ หากเมื่อถึงกำหนดวันเวลาที่ต้องชำระหนี้แล้ว ผู้จำนำหรือลูกหนี้ไม่มาชำระหนี้ตามกำหนด เรียกว่าลูกหนี้ผิดนัด ผู้รับจำนำหรือเจ้าหนี้ผู้รับจำนำ สามารถนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดได้ โดยไม่ต้องฟ้องร้องต่อศาล
สาระสำคัญ
- ทรัพย์สินที่นำมาจำนำนั้นต้องเป็นสังหาริมทรัพย์ และผู้จำนำต้องเป็นเจ้าของหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้จำนำ
- ไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ
- มีการส่งมอบทรัพย์สินไว้เพื่อเป็นหลักประกัน
- ทรัพย์ที่จำนำ เป็นสังหาริมทรัพย์ หรือ สังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ
- ผู้จำนำต้องส่งมอบทรัพย์สินที่จำนำให้แก่ผู้รับจำนำ
- วงเงิน จำนำ บริษัทลิสซิ่ง ส่วนใหญ่ อนุมัติไม่เกิน 200,000 บาท
3. จำนอง
การจำนองมีลักษณะใกล้เคียงกับการจำนำอยู่อย่างหนึ่งคือ เป็นการที่นำทรัพย์สินส่งมอบให้แก่กันเพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ แต่ทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกันในการจำนองนั้น จะต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น เช่น ที่ดิน คอนโดมีเนียม เป็นต้น ดังนี้ การจำนอง เข้าใจอย่างสั้น ๆ ว่า การกำหนดความผูกพันทางกฎหมายระหว่างบุคคลของทั้งสองฝ่ายเพื่อให้เกิดความเชื่อใจ เชื่อมั่นในการชำระหนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทำสัญญากัน แล้วนำทรัพย์สินมอบไว้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ ซึ่งการจำนองนั้นเป็นสัญญาที่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยสัญญาจำนองเป็นสัญญาอุปกรณ์
ปกติแล้วทรัพย์สินที่นำมาจำนองต้องเป็นของผู้จำนอง ในกรณีที่ไม่ใช่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่แท้จริง ทรัพย์สินที่นำมาจำนอง ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ หมายรวมถึงที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน ที่มีลักษณะเป็นการถาวร หรือประกอบอันเดียวกันกับที่ดิน และหมายความรวมถึงทรัพย์สินอันเกี่ยวกับที่ดิน หรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน หรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย และทรัพย์สินอีกประเภทที่อาจนำมาจำนองได้ คือ สังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย คือ เรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป แพ สัตว์พาหนะ เครื่องจักรขนาดใหญ่ เป็นต้น
กรณีการบังคับจำนอง เมื่อหนี้ในสัญญาหลักหรือที่เรียกว่าหนี้ประธานถึงกำหนดชำระหนี้แล้ว และปรากฎว่าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด คือ ดำเนินการฟ้องร้องบังคับคดีต่อศาล ตามสัญญาจำนองที่ได้ทำกันไว้แล้ว โดยใช้คำพิพากษา ดำเนินการยึดทรัพย์สินที่มาจำนองนั้นออกขายทอดตลาดต่อไป เนื่องจากการจำนองนั้น กรรมสิทธิ์ยังคงเป็นของผู้จำนองอยู่
สาระสำคัญ
- เป็นสัญญาอุปกรณ์ที่ใช้ทรัพย์สินเป็นหลักประกันชำระหนี้
- ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่
- เมื่อถึงกำหนด ลูกหนี้ไม่มาชำระหนี้ตามสัญญา การบังคับจำนองต้องฟ้องร้องต่อศาลเพื่อบังคับจำนองนำทรัพย์สินขายทอดตลาดต่อไป
ข้อมูล : SCB , livinginsider , homebk4cash
รูปภาพโดย ฟอร์ม PxHere
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ทำความรู้จักกับ หุ้น IPO ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้
บิทคอยน์ : ทำความรู้จัก Staking การลงทุนเพื่อสร้าง Passive income แบบใหม่
ทำไมเราต้องถือครอง bitcoin ไว้บ้าง?