รีเซต

ลูกจ้างอุ่นใจ! เจ็บ-ป่วยจากงาน “กองทุนเงินทดแทน” ดูแลเต็มที่

ลูกจ้างอุ่นใจ! เจ็บ-ป่วยจากงาน “กองทุนเงินทดแทน” ดูแลเต็มที่
TNN ช่อง16
27 พฤษภาคม 2564 ( 14:16 )
61
ลูกจ้างอุ่นใจ! เจ็บ-ป่วยจากงาน “กองทุนเงินทดแทน” ดูแลเต็มที่

วันนี้( 27 พ.ค.64) นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าเมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จะได้รับการดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาล และเงินทดแทนจากกองทุนตามกฎหมาย ซึ่งจากผลการวินิจฉัยเรื่องการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงานประจำปี 2563 พบว่ามีลูกจ้างที่มีสิทธิ ได้รับเงินทดแทนไปแล้วจำนวน 25,518 ราย ส่วนในปี 2564 หรือ ตั้งแต่เดือน มกราคม ถึงเดือนเมษายน มีลูกจ้างที่อยู่ในข่ายได้รับเงินทดแทนแล้วจำนวน 26,673 ราย 

ทั้งนี้หากเป็นเหตุการณ์แก่ลูกจ้าง นายจ้างมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย ตายหรือสูญหาย และคำร้องขอรับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน ปี 2537 หรือ กท.16 แล้วส่งให้สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ ประจำจังหวัด/สาขา ที่นายจ้างขึ้นทะเบียนไว้ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบการประสบอันตรายของลูกจ้าง 

กรณีลูกจ้างประสบอันตรายเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน สำนักงานประกันสังคม ขอแนะนำให้นายจ้าง ส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลในความตกลงของ “กองทุนเงินทดแทน” โดยที่นายจ้างไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาล่วงหน้าและสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นตามกฎกระทรวง ค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย ปี 2563 ซึ่งค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท ต่อการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 1 ครั้ง  

หากมีการบาดเจ็บรุนแรงหรือเรื้อรังตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนดในกฎกระทรวงให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มได้อีก 100,000 บาท รวมแล้วไม่เกิน 300,000 บาท หรือหากไม่เพียงพอ สามารถจ่ายเพิ่มขึ้นได้รวมแล้วไม่เกิน 500,000 บาท และสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มได้อีกแต่รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,000,000 บาท โดยตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์พิจารณา คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนให้ความเห็นชอบ 

เว้นแต่ลูกจ้างเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ ตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษาหรือมีเหตุสมควรที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาล ในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรกแต่ภายหลังได้เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง