นักวิทย์ฯ พบเวลา 1 วันบนดาวยูเรนัสใหม่ นานกว่าเวลาเดิม 28 วิ

นักวิทย์ฯ ค้นพบ เวลาที่แท้จริง 1 วัน บนดาวยูเรนัสแล้ว ไขข้อสงสัยที่ยาวนานเกือบ 40 ปี
ผลการศึกษานี้ ใช้ข้อมูลการวิเคราะห์ที่ยาวนานถึง 11 ปี จากกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิล และพบว่า ในหนึ่งวันของดาวยูเรนัส ใช้เวลาทั้งหมด 17 ชั่วโมง 14 นาที 52 วินาที ซึ่งนั่นเป็นเวลาที่ยาวกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคำนวณไว้ก่อนหน้านี้เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ถึง 28 วินาที
ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ใช้ข้อมูลสนามแม่เหล็ก และสัญญาณวิทยุจากแสงเหนือ ที่ได้จากยานอวกาศโวเอเจอร์ 2 รวบรวมได้ มาคำนวณหาเวลาหนึ่งวันบนดาวยูเรนัส แต่ก็พบว่า การคำนวณนั้นไม่สมบูรณ์แบบ เนื่องจากมีข้อผิดพลาดประมาณ 36 วินาที เมื่อเวลาผ่านไปจึงทำให้ยากต่อการติดตามการหมุนของดาวดวงนี้อย่างแม่นยำ
ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์จีงตัดสินใจใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลเพื่อศึกษาใหม่ โดยตั้งแต่ปี 2011-2022 พวกเขาเฝ้าสังเกตการณ์แสงเหนือที่บริเวณขั้วสนามแม่เหล็กของดาวยูเรนัว เพื่อติดตามการหมุนของดาวเคราะห์นี้ได้ดีขึ้น
ด้วยข้อมูลที่เก็บสะสมมาอย่างยาวนาน จึงทำให้พวกเขาได้เวลาการหมุนรอบตัวเองของดาวยูเรนัสที่แม่นยำมากขึ้น มีเพียงความไม่แน่นอนแค่ 0.04 วินาทีเท่านั้น
ทั้งนี้ ดาวยูเรนัส หรือรู้จักกันอีกชื่อว่า ดาวมฤตยู เป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ลำดับที่ 7 เป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 50,724 กิโลเมตร มีดวงจันทร์บริวารทั้งหมด 27 ดวง ก่อนหน้านี้ เคยมีงานวิจัยออกมาเผยว่า ดาวยูเรนัสอาจมีสิ่งมีชีวิตอยู่ จากเดิมที่เคยเชื่อว่า เป็นดวงดาวที่ไร้สิ่งมีชีวิต
การค้นพบใหม่นี้ จะช่วยทำให้ภารกิจสำรวจดาวยูเรนัสดำเนินการได้ดีขึ้น เพราะช่วยให้หน่วยงานอวกาศต่าง ๆ หาตำแหน่งดาวดวงนี้ได้แม่นยำขึ้น และสามารถวางแผนเรื่องต่าง ๆ ได้ เช่น จุดของการลงจอด เป็นต้น
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
https://www.livescience.com/space/uranus/scientists-finally-know-how-long-a-day-on-uranus-is