รีเซต

ประวัติ "วันบุรฉัตร" 14 กันยายน 2564

ประวัติ "วันบุรฉัตร"  14 กันยายน 2564
TrueID
8 กันยายน 2564 ( 13:29 )
1.6K

"วันบุรฉัตร" วันที่ 14 กันยายน ของทุกปี  เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน อดีตผู้บัญชาการรถไฟ โดยทางราชการได้กำหนดให้เป็นวัน “บุรฉัตร” เพื่อเป็นการน้อมรำลึก ถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงประกอบพระกรณียกิจที่สำคัญ อันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาตินานัปการ เมื่อวันพุธที่ 14 กันยายน 2559 ณ บริเวณลานพระอนุสาวรีย์ฯ หน้าตึกบัญชาการ การรถไฟแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร ในวันนี้ trueID ได้รวบรวมความเป็นมาของวันบุรฉัตรมาให้ทุกคนได้ทราบแล้ว

 

 

 

 

พระประวัติ

 

นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระนามเดิม พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร อดีตองคมนตรี แม่ทัพภาคที่ 1 พระองค์แรก จเรทหารช่าง ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม และผู้ริเริ่มการค้นหาปิโตรเลียมในสยามเป็นครั้งแรก ต้นราชสกุล"ฉัตรไชย"

 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยโยธิน ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2425 พระนามเดิม พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 38 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาวาด

 

ขณะทรงพระเยาว์เริ่มศึกษาที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ปี พ.ศ. 2437 เสด็จไปทรงศึกษาต่อด้านโยธาธิการที่โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ และทรงศึกษาต่อวิชาวิศวกรรมที่ทรินิทีคอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และวิชาทหารช่างที่ แชทแฮม

 

จากนั้นเสด็จศึกษาเพิ่มเติมในประเทศฝรั่งเศส ทรงศึกษาการทำทำนบและขุดคลอง ในประเทศเนเธอร์แลนด์ และเสด็จกลับมาทรงงานและศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ จนได้เป็นสมาชิก M.I.C.E. (Member of the Institution of Civil Engineer) (เทียบเท่า วิศวกรรมสถาน)

 

พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากรเสด็จกลับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2447 ทรงรับราชการทหาร เหล่าทหารช่าง กรมยุทธนาธิการทหารบก จนได้รับพระราชทานสัญญาบัตรองคมนตรีเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2449 ทรงดำรงตำแหน่งจเรทหารช่างพระองค์แรกในปี พ.ศ. 2451 และทรงดำรงตำแหน่งนี้เป็นระยะเวลา 17 ปี

 

ทรงนำความรู้ในวิชาการทหารแผนใหม่ตามแบบอย่างประเทศตะวันตกมาปรับปรุงกิจการทหารช่าง จนได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานกิจการทหารช่างแผนใหม่ และกองทัพ ต่อมาปี พ.ศ. 2452 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์

 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ทรงถือน้ำพระพิพัฒนสัตยาตั้งเป็นองคมนตรีในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2453 และดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 พระองค์แรก

 

เมื่อปี พ.ศ. 2454 ต่อมาวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 โปรดให้เลื่อนเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพชรอรรคโยธิน

 

และวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 โปรดให้เลื่อนเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน

 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ยุบรวมกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงคมนาคม จึงโปรดให้กรมหลวงกำแพงเพ็ชรฯ รับตำแหน่งผู้รั้งสนาบดีกระทรวงคมนาคมและพาณิชยการตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2468

 

จนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 จึงทรงตั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม และทำการในตำแหน่งผู้บัญชาการรถไฟหลวงแห่งกรุงสยามด้วย

 

ต่อมาวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 โปรดให้เลื่อนเป็นพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ประชาธิบดินทรเจษฎภาดา ปิยมหาราชวงศ์วิศิษฎ์ อเนกยนตรวิจิตรกฤตยโกศล วิมลรัตนมหาโยธาธิบดี ราชธุรันธรีมโหฬาร พาณิชยการคมนาคม อุดมรัตนตรัยสรณธาดา มัททวเมตตาชวาศรัย ฉัตรชัยดิลกบพิตร ทรงศักดินา 15000

 

และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นอภิรัฐมนตรีในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2474 ทรงเป็นองคมนตรีในสมัยรัชกาลที่ 7 จนถึงปี พ.ศ. 2475 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงลาออกจากราชการและเสด็จไปประทับ ณ ประเทศสิงคโปร์ พร้อมกับครอบครัวเมื่อ พ.ศ. 2476

 

ต่อมาประชวรจนกระทั่งวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2479 จึงสิ้นพระชนม์ที่โรงพยาบาลในประเทศสิงคโปร์ สิริพระชันษาได้ 55 ปี พระชายาได้เชิญพระศพกลับกรุงเทพฯ

 

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลโปรดให้ประดิษฐานพระศพ ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร แล้วประกอบการพระราชกุศลทักษิณานุปทานในวันที่ 8-9 ตุลาคม

 

มีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 ณ พระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาส

 

 

 

 

พระกรณียกิจ

 

การดำเนินกิจการรถไฟในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงให้ชาวต่างประเทศเป็นผู้ควบคุมการบริหารกิจการทั้งหมด

 

กระทั่งปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร รักษาการตำแหน่งเจ้ากรมรถไฟสายเหนือ ในปี พ.ศ. 2460 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมรถไฟสายเหนือกับสายใต้เข้าเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า "กรมรถไฟหลวง" ภายหลังจึงทรงได้รับสมญานามว่า "พระบิดาแห่งรถไฟไทย"

 

และให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมขุนกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง และทรงบุกเบิกพัฒนากิจการต่างๆ ของกรมรถไฟหลวง ขยายเส้นทางเดินรถไฟสายเหนือและสายใต้เข้าด้วยกัน สายตะวันออกเฉียงเหนือทรงสร้างทางรถไฟจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี สายตะวันออกจากฉะเชิงเทราถึงอรัญประเทศ

 

และในปี พ.ศ. 2471 พระองค์ยังได้ทรงสั่งซื้อรถจักรดีเซล จำนวน 2 คัน (หมายเลข 21 และ 22) จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยมีกำลัง 180 แรงม้า เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่า รถจักรไอน้ำลากจูงขบวนรถไม่สะดวก และไม่ประหยัด อีกทั้งลูกไฟที่กระจายออกมาเป็นอันตรายต่อผู้โดยสาร และอาจทำให้เกิดไฟไหม้ไม้หมอนอีกด้วย

 

ซึ่งรถจักรดีเซลทั้งสองคันดังกล่าว เป็นรถจักรดีเซลคันแรกในทวีปเอเชีย และถือว่าประเทศไทยนำรถจักรดีเซลเข้ามาใช้งานเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียด้วย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบรวมกรมทางไปขึ้นกับกรมรถไฟหลวง

 

โดยให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมขุนกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ทรงรับผิดชอบงานสร้างถนนและสะพานทั่วประเทศ เช่น สะพานกษัตริย์ศึก เป็นสะพานลอยข้ามทางรถไฟแห่งแรก และสะพานรัษฎาภิเศก จังหวัดลำปาง สะพานพุทธ สะพานพระราม 6

 

ในปี พ.ศ. 2464 ขณะทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ได้ทรงริเริ่มนำเอาเครื่องเจาะมาทำการเจาะสำรวจหาน้ำมันดิบ ในบริเวณที่มีผู้พบน้ำมันดิบไหลขึ้นมาบนผิวดินที่บ่อหลวง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ทรงว่าจ้างนักธรณีวิทยาชาวอเมริกันเข้ามาสำรวจทางธรณีวิทยา เพื่อค้นหาน้ำมันดิบและถ่านหินในประเทศไทย

 

ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร พระองค์ทรงริเริ่มนำวิทยาการด้านการสื่อสารเข้ามาใช้การพัฒนาประเทศ ทรงตั้งเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงทดลองขนาดเล็ก และสั่งเครื่องวิทยุกระจายเสียงคลื่นสั้นเข้ามาทดลอง ทรงเปิดการกิจการส่งวิทยุกระจายเสียงเป็นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2473 ใช้ชื่อสถานีว่า "สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท" และถือว่าเป็นบุคคลแรกของสยาม ที่ต้องการให้ประเทศสยาม มีการส่ง เทเลวิชั่น หรือ วิทยุโทรทัศน์ขึ้นครั้งแรกในประเทศสยาม

 

แต่ความคิดที่จะต้องการส่งแพร่ภาพโทรทัศน์ เมื่อขณะดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมในขณะนั้น ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากสยามได้เปลื่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ทำให้การกำเนิดโทรทัศน์จึงล้มเลิกไปในระยะหนึ่ง (หากประสบความสำเร็จ ประเทศสยาม อาจเป็นประเทศแรกของเอเชีย ที่มีการส่งโทรทัศน์)

 

ด้านการสื่อสาร ทรงให้ความสำคัญการสื่อสาร โดยจัดตั้งที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขทั่วประเทศ ให้บริการรับส่งจดหมาย พัสดุ ไปรษณีย์ ธนาณัติ และโทรเลข รวมทั้งการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์และวิทยุโทรเลขภายในและภายนอกประเทศ

 

ด้านการคมนาคม ทรงสนพระทัยกิจการบิน โดยทรงทดลองขับเครื่องบินสาธิต จนได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นคนไทยคนแรกที่มีโอกาสขึ้นเครื่องบิน และทรงวางรากฐานกิจการการบินขึ้นในประเทศไทย และการจัดการบินพาณิชย์ระหว่างประเทศ จัดตั้งบริษัทเดินอากาศและเปิดเส้นทางพาณิชย์ ด้านอื่น ๆ

 

1 เมษายน พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงคมนาคมเข้าเป็นกระทรวงเดียวกัน และให้ นายพลเอก กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน (พระอิสริยยศในขณะนั้น) รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม และเป็นนายกสภาเผยแผ่พาณิชย์

 

21 ตุลาคม พ.ศ. 2474 ทรงดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีสภา ทำหน้าที่ปรึกษาราชการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทรงปฏิบัติราชการแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในงานพระราชพิธีเป็นครั้งคราว

 

17 กันยายน พ.ศ. 2473 ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบในอุดมการณ์ของโรตารี จึงได้รับการก่อตั้งสโมสรโรตารีแห่งแรกในประเทศไทยขึ้น เรียกชื่อว่า "สโมสรโรตารีกรุงเทพ" มีสมาชิกก่อตั้งรวม 69 ท่าน ซึ่งมีสัญชาติต่างๆ อยู่ถึง 15 ชาติด้วยกัน โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดานายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทยเป็นสมาชิกก่อตั้งท่านหนึ่ง

 

การประชุมก่อตั้งได้จัดทำขึ้น ณ พระราชวังพญาไท (ปัจจุบันคือ โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ถนนราชวิถี กรุงเทพมหานคร) โดยเสด็จในกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้ทรงรับเป็นนายกก่อตั้งสโมสร ทรงริเริ่มการค้นหาปิโตรเลียมในประเทศสยามเป็นครั้งแรก

 

ลานพระอนุสาวรีย์ฯ / Cr.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร

 

กิจกกรรมที่จัดขึ้นทุกปี

 

ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ สนข. จะร่วมวางพวงดอกไม้ถวายความเคารพพระอนุสาวรีย์ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เพื่อเป็นการน้อมรำลึก ถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงประกอบพระกรณียกิจที่สำคัญ อันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาตินานัปการ  ณ บริเวณลานพระอนุสาวรีย์ฯ หน้าตึกบัญชาการ การรถไฟแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร

 

ด้วยพระเกียรติคุณนานับประการของพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร การทางราชการจึงได้กำหนดเอาวันที่ 14 กันยายนของทุกปีเป็น "วันบุรฉัตร" ภายหลังเมื่อมีการตัดถนนเชื่อมระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนวิภาวดีในพื้นที่ของการรถไฟในปี 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชทานนามว่า "ถนนกำแพงเพชร” เพื่อระลึกถึงพระองค์

 

 

ข้อมูล : สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร , การรถไฟแห่งประเทศไทย , wikipedia

ภาพโดย Squiddy Eak จาก Pixabay 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง