"Skechers"ถูกซื้อกิจการ 9.4 พันล้านดอลล์ เซ่นพิษ "ภาษีทรัมป์" l การตลาดเงินล้าน

สเกชเชอร์ ยูเอสเอ อิงค์ (Skechers USA Inc.) ประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา บอกว่า บริษัทฯ ได้บรรลุข้อตกลง ให้บริษัท 3จี แคปปิตอล เข้าซื้อกิจการ รวมเป็นมูลค่ากว่า 9,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ผู้นำทีมบริหารจะยังคงเดิม คือ โรเบิร์ต กรีนเบิร์ก (Robert Greenberg) มีตำแหน่งเป็นประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธาน อีกคน คือ ไมเคิล กรีนเบิร์ก (Michael Greenberg) ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ ก็จะอยู่ที่เดิมเช่นกัน คือที่แมนฮัตตัน บีช รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
ซึ่งคาดว่าการดำเนินการตามข้อตกลงนี้ จะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ รวมถึงการถอนบริษัทออกจากตลาดหุ้น โดยตระกูลกรีนเบิร์ก จะยังคงถือหุ้นบางส่วนไว้อยู่
หลังจากการประกาศข่าวดังกล่าว มีผลให้ราคาหุ้นของ สเกชเชอร์ เมื่อวันจันทร์ พุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 25 ถือเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 7 ปี ทำให้บริษัทฯ มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 9,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ด้าน จอห์น เคอร์แนน (John Kernan) น้กวิเคราะห์กลุ่มค้าปลีกของ ทีดี โคเวน (TD Cowen) ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ โดยเชื่อว่าข้อตกลงดังกล่าว จะประสบความสำเร็จ เนื่องจากคณะกรรมการของ สเกชเชอร์ ได้ให้การอนุมัติแล้ว และยังถือว่าเป็นข้อตกลงที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของภาคการค้าปลีกของกลุ่มธุรกิจเครื่องแต่งกายและรองเท้า อีกด้วย
เมื่อเทียบกับดีลก่อนหน้าในอุตสาหกรรมนี้ คือ รีบ็อก (Reebok) มีมูลค่าอยู่ที่ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
เคอร์แนน บอกด้วยว่า ข้อตกลงนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่ราคาหุ้นของอุตสาหกรรมรองเท้าอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี และอยู่ในช่วงที่ตลาดมีความไม่แน่นอน
ด้าน ทอม นิค (Tom Nikic) จาก นีดแฮม แอนด์ โค (Needham & Co.) บอกว่าค่อนข้างประหลาดใจกับข่าวนี้ เนื่องจาก สเกชเชอร์ มักถูกมองว่าเป็นธุรกิจครอบครัว เพราะมีสมาชิกในครอบครัวหลายคนทำงานอยู่ในบริษัทฯ อย่างไรก็ตาม โรเบิร์ต กรีนเบิร์ก ในวัย 85 ปี ยังคงบริหารอยู่ในบริษัทฯที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งมา
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าการตัดสินในนี้ อาจถูกกระตุ้นให้เกิดเร็วขึ้น เนื่องจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาค เช่น เรื่องภาษีศุลกากร ความรู้สึกของผู้บริโภค และความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทำให้บริษัทฯ ต้องรับมือกับความท้าทายนี้ และการที่บริษัทฯ อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ ก็จะสามารถจัดการอะไรได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบจากผู้ลงทุนในตลาดหุ้น
เช่นเดียวกับที่ บลูมเบิร์ก รายงานว่า การเปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์นั้น จะช่วยให้ สเกชเชอร์ สามารถรับมือกับสงครามการค้า ได้โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้แรงกดดันจากตลาดหุ้น และไม่จำเป็นต้องรายงานข้อมูลบริษัทฯ อีกต่อไป
ดังนั้น สเกชเชอร์ จะสามารถดำเนินมาตรการปกป้องธุรกิจจากผลกระทบของภาษีศุลกากร และจะสามารถดำเนินกลยุทธ์ได้อย่างอิสระมากขึ้น
โดย อาบิเกล กิลมาร์ติน (Abigail Gilmartin) นักวิเคราะห์จาก บลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ (Bloomberg Intelligence) คาดการณ์ว่า ข้อตกลงนี้จะทำให้บริษัทฯ สามารถเติบโตได้มากขึ้นโดยไม่ต้องมีการตรวจสอบจากนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางความไม่แน่นอนที่มีมากขึ้นของเศรษฐกิจมหภาค จากความตึงเครียดทางการค้า
ทั้งนี้ การทำธุรกรรมดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับภาคค้าปลีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมรองเท้า ที่ต้องพึ่งพาการใช้จ่ายของผู้บริโภค และพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากต่างประเทศ และขณะนี้กำลังตกเป็นเป้าหมายของสงครามกาาค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อีกด้วย
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สเกชเชอร์ เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการอีกหลายราย รวมถึง ไนกี้ และอาดิดาส อเมริกา ได้ร่วมลงนามในจดหมายซึ่งเขียนโดย กลุ่มการค้า ผู้จัดจำหน่ายและผู้ค้าปลีกรองเท้าแห่งอเมริกา (Footwear Distributors and Retailers of America) เรียกร้องให้ประธานาธิบดีทรัมป์ ยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับ รองเท้า
อย่างไรก็ดี สเกชเชอร์ ไม่ได้บอกว่าห่วงโซ่อุปทานของบริษัทอยู่ในประเทศจีนมากเพียงใด บอกเพียงว่าธุรกิจ 2 ใน 3 ส่วนของบริษัทอยู่นอกสหรัฐฯ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเช่นกัน สเกชเชอร์ ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ อีกหลายราย ได้ยกเลิกการให้คำแนะนำ หรือคาดการณ์ผลประกอบการสำหรับปี 2025 โดยอ้างถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจมหภาคที่เกิดจากนโยบายการค้าโลก โดยบริษัทต่าง ๆ ต้องรับมือกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อกลุ่มรองเท้าและเครื่องแต่งกายจากภาษีศุลกากร
สำหรับ สเกชเชอร์ ก่อตั้งขึ้นโดยตระกูล กรีนเบิร์ก เมื่อปี 1992 และนับจนถึงปัจจุบันแบรนด์มีอายุถึง 33 ปี แล้ว โดยธุรกิจ เริ่มต้นมาจากการขายรองเท้าบู๊ตเพื่อใช้ในงานป่าไม้ก่อน จากนั้นก็ขยายไปเป็นรองเท้าผ้าใบสำหรับทั้งผู้ใหญ่และเด็ก และเข้าสู่กลุ่มรองเท้ากีฬาหลากหลายประเภท เช่น วิ่ง กอล์ฟ และฟุตบอล เน้นสไตล์ที่สวมใส่สบายและราคาต่ำกว่า ไนกี้ และอาดิดาส ที่เป็นคู่แข่ง
ปัจจุบัน เป็นบริษัทผลิตรองเท้าที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก ไนกี้ และอาดิดาส ผลิตภัณฑ์ของ สเกชเชอร์ มีจำหน่ายอยู่ใน 180 ประเทศและเขตแดน ผ่านช่องทางของห้างสรรพสินค้า ร้านค้าพิเศษ รวมถึงช่องทางขายตรงถึงผู้บริโภคทางเว็บไซต์ สเกชเชอร์ ดอทคอม (skechers.com) และร้านค้า สเกชเชอร์ ที่มีกว่า 5,300 สาขาทั่วโลก
ด้าน โรเบิร์ต กรีนเบิร์ก กล่าวในแถลงการณ์ บอกว่า สเกชเชอร์ กำลังจะก้าวเข้าสู่บทต่อไป ที่ความร่วมมือครั้งนี้ จะสนับสนุนทีมงานที่มีความสามารถ บวกกับความเชี่ยวชาญของ 3จี แคปปิตอล ทำให้บริษัทฯ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและลูกค้าได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้บริษัทฯ เติบโตในระยะยาวได้
ส่วน 3จี แคปปิตอล เป็นบริษัทการลงทุนในนิวยอร์ก ที่มีรากฐานมาจากบราซิล ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2004 โดยหุ้นส่วนมหาเศรษฐีชาวบราซิล 3 ราย แต่ปัจจุบัน บริหารงานโดย อเล็กซ์ เบอห์ริง (Alex Behring) และ แดเนียล ชวาร์ตซ์ (Daniel Schwartz) ที่เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการร่วม
ปัจจุบันมีพอร์ตการลงทุนอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพากลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยปี 2010 3จี ได้เข้าซื้อกิจการ เบอร์เกอร์ คิง (Burger King) และต่อมาได้ควบรวมกิจการกับ ทิม ฮอร์ตันส์ (Tim Hortons) จนปัจจุบันทั้ง 2 แบรนด์ อยู่ภายใต้บริษัท เรสเตอรองต์ แบรนด์ส อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งได้สร้างผลตอบแทนที่งอกเงยตลอด 15 ปีที่ผ่านมา
แต่การเข้าซื้อกิจการ ไฮนซ์ (Heinz) และ คราฟต์ (Kraft) ร่วมกับ วอร์เรน บัฟเฟต กลับไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง จึงได้ถอนการลงทุนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังเข้าไปซื้อหุ้นร้อยละ 75 ของ ฮันเตอร์ ดักลาส (Hunter Douglas) ที่เป็นบริษัทติดตั้งกระจกหน้าต่าง และล่าสุด ข้อตกลงการเข้าซื้อกิจการ สเกชเชอร์ ในครั้งนี้ ถือเป็นข้อตกลงครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปีของ 3จี