รีเซต

ทุเรียนไทย' จากผลไม้เฉพาะกลุ่มสู่สินค้าชั้นนำ-ผลิตภัณฑ์ยอดนิยม หนุนการค้าจีน-ไทย

ทุเรียนไทย' จากผลไม้เฉพาะกลุ่มสู่สินค้าชั้นนำ-ผลิตภัณฑ์ยอดนิยม หนุนการค้าจีน-ไทย
Xinhua
18 มกราคม 2567 ( 22:20 )
32

(แฟ้มภาพซินหัว : ทุเรียนหมอนทองของไทยจัดจำหน่ายที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน)

หนานหนิง, 18 ม.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันจันทร์ (15 ม.ค.) รายงานภาพรวมการซื้อขายสินค้าเกษตรไทย ระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2023 ที่เผยแพร่โดยหอการค้าจีนเพื่อการนำเข้าและส่งออกอาหาร ผลิตภัณฑ์พื้นเมือง และผลิตผลพลอยได้จากสัตว์ (CFNA) ระบุโดยอ้างอิงข้อมูลจากกรมศุลกากรไทย ว่าจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่อันดับหนึ่งของไทยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2023 โดยมียอดการส่งออกสะสมสูงถึง 1.11 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.96 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นร้อยละ 26.5 ของยอดส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดของไทย โดยทุเรียนสดของไทยถูกส่งออกขายในต่างประเทศเป็นมูลค่าเกือบ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.42 แสนล้านบาท) ซึ่ง 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.38 แสนล้านบาท) ในจำนวนนี้ล้วนเป็นการนำเข้าจากจีนแผ่นดินใหญ่ ข้อมูลข้างต้นนี้กระตุ้นความสนใจของผู้ประกอบการและประชาชนชาวจีนและชาวไทย ทั้งยังเพิ่มความเชื่อมั่นในความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศไม่กี่ปีมานี้ สินค้าเกษตรของไทยกลายเป็น "ดาวเด่น" ในตลาดจีน เพราะความสดใหม่ รสชาติดี และมีคุณภาพสูง เนื่องจากได้รับประโยชน์จากแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) การเปิดบริการทางรถไฟจีน-ลาว ระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor) และการดำเนินตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อย่างรอบด้าน ปัจจุบัน การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยสู่จีนจึงได้รับการ "เหยียบคันเร่ง" ระยะทางหลายพันกิโลเมตรถูกย่นย่อด้วยช่องทางการขนส่งที่ราบรื่น ชนิดที่ว่าทุเรียนจากสวนในจังหวัดจันทบุรี สามารถถูกวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตจีนได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วันยอดจำหน่ายทุเรียนที่โตเร็วในปี 2023 ช่วยให้ผู้ค้าวางแผนการจัดจำหน่ายในปี 2024 ได้อย่างเต็มกำลัง ไล่ผิงเซิง ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารในเครือเจริญโภคภัณฑ์ในกว่างซี กล่าวว่าในปี 2023 ทุเรียนไทยของบริษัทฯ ถูกส่งมาจีนราว 1,000 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยจัดจำหน่ายในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน 40 ตัน เพิ่มขึ้นกว่า 20.9 ตันจากปีก่อน และมียอดจำหน่าย 2.21 ล้านหยวน (ราว 11.18 ล้านบาท) ไล่เสริมว่าบริษัทฯ วางแผนนำเข้าทุเรียนไทย 3,000 ตู้ในปี 2024 โดยจะจัดจำหน่ายในกว่างซี 324 ตัน ซึ่งจะวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ จำนวน 600 แห่งขณะที่รายงานอีกฉบับระบุว่ากว่างตง (กวางตุ้ง) เป็นมณฑลของจีนที่นำเข้าสินค้าเกษตรไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยยอดนำเข้าช่วง 11 เดือนแรกของปี 2023 ที่ 3.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.22 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ในบรรดามณฑลและภูมิภาคผู้นำเข้า 10 อันดับแรก กว่างซีนำเข้าสินค้าเกษตรไทยเพิ่มมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.1 เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นมูลค่า 923 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.28 หมื่นล้านบาท)เบญจมาศ ตันเวทยานนท์ กงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง กล่าวว่ากว่างซีเป็นเมืองท่าที่สำคัญในการส่งออกทุเรียน มังคุด ลำไย และผลไม้อื่นๆ จากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยสู่จีน ขณะเดียวกันผลไม้ไทยมักเป็นสินค้าขายดีในกว่างซี ซึ่งมีผลไม้สดจากไทยวางขายตลอดทั้งปี ตั้งแต่ร้านรวงในตลาดกลางคืนไปจนถึงร้านค้าขนาดใหญ่กวนไฉ่เสีย เจ้าของแผงขายผลไม้ในตลาดไห่จี๋ซิง ตลาดค้าส่งผลไม้ใหญ่ที่สุดในนครหนานหนิง กล่าวว่าเธอรู้สึกดีใจอย่างมากที่คนจีนนิยมกินผลไม้ไทยมากขึ้น และรู้สึกเชื่อมั่นว่าจะทำยอดจำหน่ายได้ดีในฤดูทุเรียนที่กำลังจะมาถึง กวนเล่าว่าย้อนกลับไปเมื่อปี 2003 การซื้อขายทุเรียนในตลาดยังค่อนข้างน้อย แต่กลับเป็นที่นิยมสูงมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ค้าและยอดจำหน่ายล้วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุเรียนไทยนั้นมีข้อได้เปรียบทั้งในด้านผลผลิต รสชาติ และความร่วมมือระหว่างสองประเทศ และในอนาคตทุเรียนไทยจะยังคงเป็นทุเรียนจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ครองส่วนแบ่งตลาดในจีนมากที่สุดเทศกาลตรุษจีนใกล้มาถึง สินค้าอาหารแปรรูปจากทุเรียน อาทิ ลูกอม คุกกี้ และขนมอบรสทุเรียน กลายเป็นทางเลือกใหม่สำหรับซื้อเป็นของฝากญาติสนิทและเพื่อนฝูง อีกทั้งยังมีเมนูสร้างสรรค์ใหม่ๆ ผุดขึ้นมากมาย ทั้งทุเรียนลาเต้ เค้กทุเรียน เป็นต้น เห็นได้ว่าสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทุเรียนถูกพลิกโฉมจากผลไม้ที่มีคนกินแค่เฉพาะกลุ่ม สู่สินค้า "ชั้นเลิศ" ที่ใครๆ ก็ล้วนต้องการเผิงเสวี่ยเยี่ยน ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของบริษัท กว่างซี หม่าอี่หยางฮั่ว ซัพพลาย เชน เมเนจเมนต์ จำกัด กล่าวว่า ทุเรียน ผลิตภัณฑ์จากทุเรียน และ รังนก ล้วนเป็นสินค้าขายดีของหม่าอี่หยางฮั่ว แพลตฟอร์มอีคอมเมิรซ์ข้ามพรมแดนของกว่างซี โดยทุเรียนและสินค้าแปรรูปจากทุเรียนเหมาะให้เป็นของขวัญชั้นดีในช่วงเทศกาล และได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนมาโดยตลอด ขณะที่ขนมจากทุเรียนเช่น เครปเค้กทุเรียน ไอศกรีมทุเรียน ได้รับความนิยมทุกวัน และช่วงเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึงนี้ ตนคาดว่าอุปทานทุเรียนจะยังคงไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคชาวจีน

(แฟ้มภาพซินหัว : เครือเจริญโภคภัณฑ์จัดจำหน่ายทุเรียนที่ถนนคนเดินในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน)

(แฟ้มภาพซินหัว : ชาวเมืองกำลังเลือกซื้อทุเรียนไทยที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน)

(แฟ้มภาพซินหัว : ผู้ค้ากำลังขนถ่ายทุเรียน ด้านหน้าแผงขายผลไม้ของกวนไฉ่เสีย เจ้าของแผงขายผลไม้ในตลาดไห่จี๋ซิง ตลาดค้าส่งผลไม้ใหญ่ที่สุดในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน)

(แฟ้มภาพซินหัว : หญิงสาวชาวไทยโปรโมตทุเรียนไทยที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง ในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง