รีเซต

สัมพันธ์ไทย-กัมพูชาร้าวลึก ลดระดับสัมพันธ์การทูต ความขัดแย้งที่ยังไร้ทางลง

สัมพันธ์ไทย-กัมพูชาร้าวลึก ลดระดับสัมพันธ์การทูต ความขัดแย้งที่ยังไร้ทางลง
TNN ช่อง16
24 กรกฎาคม 2568 ( 15:12 )
41

เป็นข่าวร้อนแรง ระหว่างประเทศแบบข้ามคืนทันที เมื่อไทยประกาศเรียกตัวเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงพนมเปญ กลับประเทศ พร้อมส่งทูตกัมพูชา กลับไปประเทศตนเองเช่นกัน หลังทหารไทยได้รับบาดเจ็บสาหัสจากทุ่นระเบิดของกัมพูชาอีกครั้ง 


กัมพูชาตอบโต้ด้วยการเรียกเอกอัครราชทูต และเจ้าหน้าที่กัมพูชาทั้งหมดกลับประเทศ ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต เหลือเพียงแต่อัครราชทูตที่ปรึกษา ลำดับที่ 2 เท่านั้น ถือเป็นการลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตที่เกือบต่ำสุด ตามอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยความสัมพันะ์ทางการทูต ปี 1961


แล้วขั้นตอนการลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตมีอะไรบ้าง ที่สำคัญคือ ไทยและกัมพูชาจะสามารถกลับมาฟื้นสัมพันธ์กันได้ไหม


ทำความรู้จัก “อนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต”


หากพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ทางการทูต เราจะไม่พูดถึง “อนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต” ไม่ได้ เพราะอนุสัญญานี้ มีขึ้น เพื่อมุ่งพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลต่าง ๆ โดยจัดทำชุดแนวปฏิบัติและหลักการที่เป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับการโต้ตอบทางการทูต 


มีขึ้นเมื่อปี 1961 มีประเทศภาคี ทั้งหมด 193 ประเทศ และมีข้อปฏิบัติทั้งหมด 53 มาตรา เพื่อให้นักการทูต สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีอุปสรรคในประเทศเจ้าบ้าน 


อนุสัญญาเวียนนา ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะช่วยให้หลายประเทศสามารถพูดคุยกันได้อย่างสันติ แม้ว่า ต่างฝ่ายจะมีปัญหาความขัดแย้งต่อกัน หากปราศจากอนุสัญญานี้ การเจรจา หรือการปฏิบัติทางการทูต ก็จะเกิดความวุ่นวาย

ขั้นตอนการลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต 


แน่นอนว่า เมื่อประเทศหนึ่งละเมิดอีกฝ่าย ย่อมมีขั้นตอน และมาตรการตอบโต้ นั่นคือ การลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งแต่ละขั้นก็จะมีระดับความรุนแรงแตกต่างกันออกไป แล้วแต่ละขั้นตอนนั้น มีอะไรบ้าง


เริ่มด้วยขั้นตอนแรก คือ การออกแถลงการณ์ประท้วง เป็นเหมือนการเตือนอีกฝ่ายว่า ตนเองไม่พอใจกับการกระทำของประเทศคู่ขัดแย้ง เช่น ตอนที่มีคลิปเสียงสนทนาระหว่างผู้นไทย และฮุน เซน หลุดออกมา ทางกระทรวงต่างประเทศก็เรียกเอกอัครราชทูตกัมพูชา มารับหนังสือประท้วง เพื่อแสดงจุดยืนของไทย 


ต่อมา คือ เรียกเอกอัครราชทูตกลับประเทศ เป็นการลดระดับความสัมพันธ์ที่มากขึ้นอีก และเป็นรูปแบบที่นิยมใช้มากสุด สื่อถึงความไม่พอใจอย่างจริงจังต่อประเทศคู่ขัดแย้ง 


ขั้นตอนที่ 3 คือ สั่งเอกอัครราชทูตของประเทศคู่ขัดแย้งออกจากประเทศ เป็นการประกาศให้เอกอัครราชทูตคนนั้นเป็น “persona non grata” หรือ "บุคคลที่ไม่พึงปรารถนา" ตามมาตรา 9 ถือเป็นการลงโทษรุนแรงสุด ที่ประเทศหนึ่งจะสามารถกระทำต่อนักการทูตอีกประเทศหนึ่งได้ 


ขั้นตอนที่ 4 คือ ลดระดับสถานเอกอัครราชทูต และยกเลิกกิจกรรมทางการทูตบางประเภท มาตรการนี้คือการลดระดับจากสถานเอกอัครราชทูตที่มี “เอกอัครราชทูต” ประจำการอยู่เป็นเพียง สถานทูตหรือสถานกงสุลในระดับที่ต่ำกว่า 


หากความสัมพันธ์ 2 ฝ่าย ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ และย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ ขั้นตอนต่อไป จะเป็นการสั่งปิดสถานเอกอัครราชทูต ถือว่า เป็นขั้นตอน “เกือบ” ต่ำสุดของการลดระดับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ 


ท้ายสุด เมื่อยังหาทางออกร่วมกันไม่ได้ ก็จะเป็นการ “ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตโดยสิ้นเชิง” ถือเป็นการลดระดับความสัมพันธ์ที่หนักสุด จะไม่มีการติดต่อทางการทูตใด ๆ ระหว่าง 2 ประเทศนี้อีก จนกว่าจะหาทางออกและจุดยืนร่วมกัน 

ไทย-กัมพูชา ยังกลับไปฟื้นความสัมพันธ์ได้ไหม ?


แล้วความสัมพันธ์ของไทย-กัมพูชา จะสามารถกลับมาฟื้นกันได้ไหม คำตอบคือ “ยังพอเป็นไปได้” เพราะ 2 ฝ่ายยังไม่ถือว่า ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตโดยสิ้นเชิง และในอดีต ทั้ง 2 ประเทศก็เคยลดระดับความสัมพันธ์ไปถึงจุดที่ต่ำสุดมาแล้ว


ครั้งแรกเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ปี 1958 กัมพูชาประกาศตัดความสัมพันธ์ทางทูตโดยสิ้นเชิงกับไทย จากความขัดแย้งกรณีปราสาทเขาพระวิหาร และไม่พอใจต่อการนำเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์ของไทย 


ครั้งที่ 2 กัมพูชาตัดความสัมพันธ์ทางการทูตโดยสิ้นเชิงกับไทยอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 1961 โดยอ้างว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีไทย ณ ขณะนั้น ดูหมิ่นเกียรติยศของกัมพูชา ซึ่งการตัดสัมพันธ์ครั้งนี้ เชื่อว่า มีบริบทเรื่องความขัดแย้งคดีปราสาทพระวิหารเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเกิดขึ้นก่อนจะมีคำตัดสินคดีจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพียงไม่กี่เดือน 


ต่อมา คือปี 2003 หลังเกิดเหตุจลาจลเผาสถานทูตไทยในกัมพูชา ไทยก็ประกาศลดระดับความสัมพันธ์ด้วยการขับนักการทูตกัมพูชาทั้งหมดออกจากไทย และส่งเครื่องบินไปอพยพคนไทย และนักการทูตไทยกลับประเทศ 


การลดระดับความสัมพันธ์ทั้ง 3 เหตุการณ์นั้น ภายหลัง 2 ประเทศต่างก็กลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์กันอีกครั้งในแต่ละครั้ง แต่ก็มักจะอยู่ได้ไม่นาน เพราะปัญหาเรื่องดินแดนพิพาทมีมาอย่างนานหลายทศวรรษ สร้างความตึงเครียดแก่ 2 ฝ่าย จนกระตุ้นให้เกิดการปะทะกันหลายครั้ง 


ส่วนสำหรับเหตุการณ์ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตล่าสุด ถือว่า เป็นการลดที่เกือบต่ำสุดของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ แต่ก็ยังมีช่องทางที่เปิดให้ 2 ฝ่ายเจรจากันได้อยู่ แต่ความตึงเครียดที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ ยังไม่สามารถที่จะตอบได้แน่ชัดว่า ไทย และกัมพูชา จะหันกลับมาพูดคุยด้วยสันติวิธีเมื่อใด


แหล่งข้อมูลอ้างอิง: 


https://image.mfa.go.th/mfa/0/6p4M7ae5k9/VCDR_Thai.pdf

https://treaties.un.org/pages/ViewDetails.aspx?src=TREATY&mtdsg_no=III-3&chapter=3&clang=_en

https://www.jurist.org/features/2024/04/09/explainer-what-is-the-vienna-convention-on-diplomatic-relations-and-how-does-it-relate-to-the-mexico-ecuador-incident/

https://www.finearts.go.th/promotion/view/24343-%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B9%E0%B8%8A%E0%B8%B2

https://www.khmertimeskh.com/501723314/cambodia-downgrades-diplomatic-ties-with-thailand-to-lowest-level/

https://www.tnnthailand.com/world/202971/

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง