รีเซต

เมื่อหุ่นยนต์เข้ามา ตำแหน่งที่อาจจะต้องโบกมือลาคือ “ผู้จัดการ”

เมื่อหุ่นยนต์เข้ามา ตำแหน่งที่อาจจะต้องโบกมือลาคือ “ผู้จัดการ”
TNN ช่อง16
17 พฤศจิกายน 2563 ( 22:50 )
184
เมื่อหุ่นยนต์เข้ามา ตำแหน่งที่อาจจะต้องโบกมือลาคือ “ผู้จัดการ”

โลกหมุนไป เทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็หมุนตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์ระบาดของโควิดก็ทำให้หลาย ๆ ธุรกิจหันมาใช้คอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการทำงานมากขึ้น จนทำให้หลาย ๆ คนเกิดความกังวลว่างานที่ทำอยู่จะถูกหุ่นยนต์แย่งไปหรือไม่? แล้วตำแหน่งอะไรที่ควรจะกังวลมากที่สุด?

จากผลการสำรวจของมหาวิทยาลัย University of Pennsylvania Wharton School พบว่า ตำแหน่งที่อาจจะถูกแทนที่ด้วยเอไอหรือหุ่นยนต์ต่าง ๆ มากที่สุดคือตำแหน่งระดับ “Managers” หรือระดับผู้จัดการ มากกว่าที่จะเป็นตำแหน่งพนักงานหรือแรงงานทั่วไป โดย Lynn Wu ศาสตราจารย์จาก The Wharton School และ AIB Affiliated Faculty ได้กล่าวไว้ว่า ถึงแม้ว่าหลายฝ่ายอาจจะคิดว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ แต่จากผลการศึกษากลับพบว่าหลายบริษัทที่มีการปรับมาใช้แรงงานหุ่นยนต์กลับมีอัตราการจ้างงานแรงงานคนเพิ่มมากขึ้น ส่วนบริษัทที่ไม่ได้ปรับตัวมาใช้แรงงานหุ่นยนต์หลาย ๆ แห่งก็กลายเป็นว่าขาดความสามารถในการแข่งขันจนนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงานมนุษย์ในที่สุด


นอกจากนี้เธอยังค้นพบประเด็นที่น่าสนใจอีกว่า การปรับมาใช้ AI และหุ่นยนต์ส่งผลต่อการลดลงของตำแหน่งงานด้านการจัดการและงานเกี่ยวกับการควบคุมดูแล (management and supervisory) ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เมื่อเราใช้งาน AI หรือหุ่นยนต์มากขึ้น งานที่จะไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานคนกลับกลายเป็นงานที่ต้องคอยตรวจตราหรือจัดควบคุมดูแลการทำงาน เพราะเอไอและหุ่นยนต์ต่างก็มีความสามารถในการทำงานโดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือหรือต้องให้มีคนมาคอยควบคุมแต่อย่างได ยกตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์ไม่จำเป็นต้องรอให้เราตรวจสอบเวลาการทำงานว่ามาตรงเวลาหรือไม่ ไม่ป่วย ไม่ลา ไม่ขาด ไม่สาย และยังบันทึกผลการทำงานหรือสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้เราตรวจสอบย้อนหลังได้เสมอ ดังนั้นงานในระดับผู้จัดการหรือผู้ควบคุมดูแลจึงกลายเป็นงานที่น่าจะโดนลดความสำคัญลงได้ ดังนั้นงานในตำแหน่งที่กลับกลายเป็นว่าอาจจะมีความต้องการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น จึงกลายเป็นงานที่ใช้ทักษะสูงหรือต่ำ มากกว่าจะจ้างงานคนที่มีทักษะกลาง ๆ ซึ่งอาจทดแทนได้ด้วยการใช้ระบบเอไอคอมพิวเตอร์หรือหุ่นยนต์นั่นเอง



และสำหรับคำถามสำคัญที่ว่า แล้วเราจะทำอย่างไรกับแรงงานที่ถูกทดแทนไปโดยเอไอและหุ่นยนต์? ศาสตราจารย์ Wu ได้ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่าในตอนนี้หุ่นยนต์ยังไม่ได้ถูกนำมาปรับใช้ทุกที่ ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้คือการปรับรูปแบบการทำงานใหม่ให้ใช้ประโยชน์จากมนุษย์ให้ได้มากที่สุด โดยอาจจะปรับปรุงผ่านการฝึกอบรมใหม่ หรือการทำให้พนักงานมีความรู้สึกเป็นผู้ประกอบการร่วมกัน ดึงเอาศักยภาพของแรงงานมนุษย์ที่หุ่นยนต์ยังสู้ไม่ได้มาใช้ เพราะอย่างไรก็ตามหุ่นยนต์ก็ยังมีข้อจำกัดและทำสิ่งที่มนุษย์ทำไม่ได้ทั้งหมดเช่นกัน

ผลการศึกษาค้นคว้าของเธอยังพบอีกว่าแรงจูงใจเบื้องตันที่ทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องการปรับมาใช้หุ่นยนต์นั้นไม่ได้มาจากความต้องการที่จะลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน แต่มักมาจากความต้องการที่จะพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์และคุณภาพการบริการต่าง ๆ มากกว่า ซึ่งการที่จะใช้หุ่นยนต์เข้ามาทำงานได้ บริษัทจะต้องมีการออกแบบกระบวนการทำงานใหม่เพื่อที่จะได้ใช้ประโยชน์จากหุ่นยนต์ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นถ้าบริษัทใดคิดว่าอยากจะลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานลงด้วยการหันมาใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนอาจจะผิดหวังกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นได้


ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่บริษัทต่าง ๆ ควรจะพิจารณานำไปปรับใช้นั่นก็คือแผนการพัฒนาบุคลากรใหม่อีกครั้ง เช่น การทำให้แรงงานชั้นกลางมีทักษะหรือหน้าที่ ที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์มากขึ้น เช่น อาจจะสามารถช่วยสร้าง ซ่อม หรือฝึกหัดหุ่นยนต์ได้ เพราะสุดท้ายแล้วถึงแม้ว่าแรงงานหุ่นยนต์อาจจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอีกไม่ช้านี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทักษะและความสามารถของมนุษย์หลายอย่างก็ไม่สามารถทดแทนด้วยการทำงานของคอมพิวเตอร์ได้ และเรายังมีอีกหลากหลายหนทางที่จะพัฒนาตนเองไปเรื่อย ๆ เพื่อที่จะสามารถทำงานร่วมกันกับหุ่นยนต์ ดีกว่าการแทนที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปทั้งหมด

ขอบคุณข้อมูลจาก

เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง