รีเซต

ประมวลภาพ คนแห่ชม "ดาวเสาร์" ใกล้โลกที่สุดในรอบปี

ประมวลภาพ คนแห่ชม "ดาวเสาร์" ใกล้โลกที่สุดในรอบปี
TNN ช่อง16
22 กรกฎาคม 2563 ( 12:12 )
159
ประมวลภาพ คนแห่ชม "ดาวเสาร์" ใกล้โลกที่สุดในรอบปี

วันนี้ (22 ก.ค.63) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. เผยแพร่ภาพประชาชนแห่ชม ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่บริเวณ 4 จุดสังเกตการณ์หลัก เชียงใหม่ โคราช ฉะเชิงเทรา สงขลา ในรูปแบบ New Normal

ทั้งนี้ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ท้องฟ้ามีเมฆตั้งแต่ช่วงเย็น เริ่มสังเกตเห็นดาวเสาร์ได้ในเวลาประมาณ 20:00 น. ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมดาวพฤหัสบดีสุกสว่างอยู่ใกล้ ๆ ก่อนฟ้าปิดในช่วง 21:30 น. เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ในคืนดังกล่าวได้เปิดให้เข้าชมนิทรรศการดาราศาสตร์และท้องฟ้าจำลองรอบพิเศษ ตลอดจนเล่นเกมแจกของรางวัลดาราศาสตร์สุดพรีเมียม พร้อมเสียงดนตรีขับกล่อมตลอดงาน


ด้าน หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา สังเกตดาวเสาร์และดาวพฤหัสบดีได้ในช่วง 19:30 - 20:00 น. ก่อนมีเมฆเข้าบดบัง และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ดาวเสาร์เริ่มปรากฏให้เห็นเวลา 20:30 น. จนถึงเวลาประมาณ 21:10 น. ผู้มาร่วมงานพากันส่องกล้องชมวงแหวนดาวเสาร์อย่างคึกคัก


ส่วนหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ทัศนวิสัยท้องฟ้าดี เริ่มสังเกตเห็นดาวเสาร์และดาวพฤหัสบดี เวลาประมาณ 19:30 น. เป็นต้นไปจนจบกิจกรรม รวมทั้ง 4 จุดสังเกตการณ์หลักมีผู้คนให้ความสนใจร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง ซึ่ง NARIT ก็ได้ดำเนินมาตรการป้องกันด้านสุขอนามัยอย่างเคร่งครัดด้วยความใส่ใจในสุขภาพของผู้ร่วมงานทุกคน


ในคืนดังกล่าว ยังมีอีกหนึ่งวัตถุท้องฟ้าที่น่าติดตาม คือ #ดาวหางนีโอไวส์ หรือดาวหาง C/2020 F3 (NEOWISE) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ หากแต่น่าเสียดายที่มีเมฆบดบังในทุกพื้นที่จึงไม่สามารถสังเกตการณ์ได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากวันนี้ยังสามารถลุ้นชมดาวหางนีโอไวส์ได้จนถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ในช่วงหัวค่ำ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ก่อนที่ดาวหางดวงนี้จะสังเกตการณ์ได้ยากขึ้นเนื่องจากความสว่างของดาวหางจะค่อย ๆ ลดลงและมีแสงจันทร์รบกวน


หลังจากนี้ ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์จะยังคงปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้า จนกระทั่งในช่วงวันที่ 20-23 ธันวาคม 2563 ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏเคียงดาวเสาร์ ใกล้กันที่สุดในรอบ 397 ปี ห่างกันเพียง 0.1 องศา เรียก “The Great Conjunction” มองด้วยตาเปล่าเสมือนเป็นดาวดวงเดียวกัน และหากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 100 เท่า จะเห็นดาวเคราะห์ทั้งสองปรากฏอยู่ในช่องมองภาพเดียวกันอีกด้วย ถือเป็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยาก และ NARIT มีแผนจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดังกล่าว ติดตามข่าวสารและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในอนาคต

ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง