ทีมวิจัยสวิสฯ พัฒนาแขนหุ่นยนต์ควบคุมโดยการหายใจเป็นมือที่ 3 ไว้ช่วยงาน
ทีมนักวิทยาศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์ ศึกษาวิธีการทำให้มนุษย์เราสามารถควบคุมการใช้งานแขนหุ่นยนต์เสริมได้จากการเคลื่อนไหวของดวงตาและการหายใจ เพื่อพิสูจน์ว่าเราสามารถใช้งานแขนหุ่นยนต์เสริมเหล่านี้ ไปพร้อมกับการทำส่ิงอื่น ๆ ในชีวิตได้ หวังต่อยอดสร้างเป็นมือที่ 3 สำหรับใช้ช่วยงานในอนาคต
ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสโลซาน หรือ อีพีเอฟแอล (EPFL) ซึ่งได้ตีพิมพ์แล้วบนวารสารด้านวิทยาการหุ่นยนต์ ไซแอนท์ โรโบติก (Science Robotics) โดยทีมวิจัยได้คิดค้นระบบควบคุม ที่ให้ผู้ร่วมทดสอบใช้งานสวมอุปกรณ์แว่นตาเสมือนจริง หรือแว่น VR (Virtual Reality) ที่ใช้เทคโนโลยีสร้างสิ่งแวดล้อมเสมือน ทำให้มองเห็นแขนแบบเสมือนจริงทั้งสามข้าง ได้แก่แขนซ้าย-แขนขวา และแขนที่สาม ซึ่งจะอยู่ตรงกลาง พร้อมกับติดอุปกรณ์เข็มขัดรอบเอว เพื่อวัดการเคลื่อนไหวของหน้าท้อง ขณะหายใจเข้าออก
จากนั้นผู้ร่วมทดสอบใช้งาน ก็จะควบคุมการเคลื่อนไหวของแขนข้างซ้าย และขวา ด้วยการใช้มือกำแท่งควบคุมในโลกจริง และควบคุมการทำงานของแขนที่สามในโลกเสมือนจริง ด้วยการหายใจเข้าและออกเพื่อให้เข็มขัดตรวจจับการเคลื่อนไหวหน้าท้อง และสั่งการเคลื่อนไหวของแขนเสมือนได้
และนอกจากศึกษาการทำงาน ของระบบควบคุมแบบเสมือนจริงแล้ว ทีมวิจัยยังได้ให้ผู้ร่วมทดสอบใช้งาน ได้ลองฝึกควบคุมแขนหุ่นยนต์บนโลกจริง ๆ ด้วยการติดตั้งแขนหุ่นยนต์จริงไว้ที่หน้าอก ซึ่งจะเคลื่อนไหวไปตามการขยายตัวเข้าและออกของกระบังลมขณะที่เราหายใจ
ซึ่งจากการทดสอบใช้งานทั้งสองแบบ ทีมวิจัยพบว่า อาสาสมัครจำนวน 65 คน สามารถฝึกฝนการหายใจ เพื่อควบคุมการทำงานของแขนหุ่นยนต์เสริม พร้อมกับทำอย่างอื่นไปด้วยได้ โดยที่ไม่รบกวนวิธีการหายใจ การพูด หรือการมองเห็นตามปกติ
สำหรับผลงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสวิส (Swiss National Science Foundation) เพื่อพัฒนาแขนหุ่นยนต์แบบสวมใส่ ที่เอื้อต่อการทั้งผู้ที่สูญเสียการเคลื่อนไหว รวมถึงคนทั่วไป สำหรับใช้ในการทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวัน
ข้อมูลจาก reutersconnect, miragenews, newscientist