รีเซต

ทำความรู้จัก “ซัน เดย์” วัน “เชิดชูดวงอาทิตย์” ของสหรัฐฯ ที่ย้อนแย้งกับช่วงภาวะโลกเดือด

ทำความรู้จัก “ซัน เดย์” วัน “เชิดชูดวงอาทิตย์” ของสหรัฐฯ ที่ย้อนแย้งกับช่วงภาวะโลกเดือด
TNN ช่อง16
3 พฤษภาคม 2567 ( 18:29 )
85
ทำความรู้จัก “ซัน เดย์” วัน “เชิดชูดวงอาทิตย์” ของสหรัฐฯ ที่ย้อนแย้งกับช่วงภาวะโลกเดือด

ประชาชนต่างวิพากษ์อากาศร้อนของไทยมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น ประเทศไทยมี 3 ฤดู การทำโฆษนาอากาศร้อน ชอบกินของร้อน หรือกระทั่ง “การทำมีม” ว่าดวงอาทิตย์รักประเทศไทยเป็นพิเศษ


แต่นั่น ไม่ใช่กับสหรัฐอเมริกา เพราะในวันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี ตามกฎหมายแล้ว มีระบุว่าเป็นวัน “ซัน เดย์” หรือเป็นวัน “เชิดชูสรรเสริญพลังงานจากดวงอาทิตย์” เลยทีเดียว


การเชิดชูดังกล่าว ไม่ได้ทำกันเพื่อตลกขบขัน เพราะจริง ๆ แล้ว มีรอยทางมาจาก “ยุคขาดแคลนพลังงาน” ของสหรัฐฯ อย่างไม่น่าเชื่อ


น้ำมันขาดแคลน


เรื่องราวนี้ เริ่มต้นขึ้นในสมัยของ “จิมมี คาร์เตอร์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ณ ขณะนั้น ถือได้ว่าประเทศประสบปัญหาด้านพลังงานอย่างมาก นั่นเพราะ สหรัฐฯ และทั่วทั้งโลก อยู่ในบริบทของ “วิกฤตการณ์น้ำมัน (Oil Shock)” ในปี 1973 


โดยเริ่มจากการที่ซีเรียและอียิปต์เปิดฉากรบกับอิสราเอล เพราะไม่พอใจที่อิสราเอลตีกินดินแดนของตนเพื่อขยายขนาดอาณาเขตใน “สงคราม 6 วัน” ในปี ค.ศ. 1967 ซึ่งสงครามดังกล่าวถูกเรียกกันว่า “สงครามยมกิปปูร์” หรือสงครามเดือนรอมฎอน


ตอนนั้น โลกยังคงอยู่ในบรรยากาศของสงครามเย็น สองขั้วอำนาจยักษ์ใหญ่ของโลกจึงเข้าสนับสนุนกันคนละฝ่ายเพื่อปะทะกันในฐานะ “สงครามตัวแทน” โดยสหภาพโซเวียตถือหางซีเรียและอียิปต์ ส่วนสหรัฐอเมริกาแน่นอนว่าต้องสนับสนุนอิสราเอล ความวุ่นวายจึงเกิดขึ้น


เพราะกลุ่มประเทศ Organization of Arab Petroleum Exporting Countries หรือ OAPEC อันเป็นกลุ่มย่อยเฉพาะประเทศอาหรับเท่านั้นของ โอเปค (OPEC) 3 ประเทศ ได้แก่ คูเวต ลิเบีย และ ซาอุดีอาระเบีย ได้ออกมาบีบสหรัฐฯ ด้วยการงดส่งออกน้ำมันไปให้ทั้งสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ที่สนับสนุนอิสราเอลทั่วทุกมุมโลก


การกระทำของ OAPEC เสมือนการ “จับน้ำมันเป็นตัวประกัน” เป็นแต้มต่อที่พวกเขามีที่พอจะทำให้สหรัฐฯ และพันธมิตรอื่น ๆ เป็นลูกไก่ในกำมือได้ เพราะขณะนั้นสหรัฐฯ ย่ามใจเห็นว่าตนผลิตน้ำมันได้ในระดับสูง จึงกำหนดเพดานนำเข้าและกดราคาน้ำมันในประเทศให้ต่ำ แต่กลายเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด เพราะในภายหลัง สหรัฐฯ ขาดน้ำมันสำรอง จนกลายเป็นวิกฤตของประเทศ


รัฐบาลคาร์เตอร์ทำทุกวิถีทางที่จะดำเนินห่วงโซ่อุปทานของน้ำมันในประเทศ หากแต่ยังไม่เป็นผล การประท้วงได้เกิดขึ้นไปทุกที่ ถึงการบริหารจัดการของประธานาธิบดีที่ได้สมญาอีกชื่อว่า “ชาวสวนถั่ว” ท่านนี้ 


แต่ในอีกการเคลื่อนไหวหนึ่ง คือการเสนอทางออกกลาย ๆ ให้กับคาร์เตอร์ ที่หันไปใช้ “พลังงานทดแทน” โดยเฉพาะ “พลังงานแสงอาทิตย์” 


รู้ค่าพลังงาน


ในบางพื้นที่ของสหรัฐฯ อาทิ ยูเอ็น พลาซา ลินคอล์น เมโมเรียล หรือภูเขาคาดิแล็ค ที่รัฐเมน มีการเคลื่อนไหวที่ใช้ชื่อว่า “ซัน เดย์” (Sun Day) โดยเรียกร้องให้คาร์เตอร์หันไปให้ความสนใจกับ “พลังงานแสงอาทิตย์” เพื่อแก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องพึ่งน้ำมันจากชาติอาหรับอย่างเดียว


“หากคาร์เตอร์และชเลสซิงเกอร์ [รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ณ ขณะนั้น] ไม่ยอมให้ความสำคัญกับพลังงานแสงอาทิตย์ ก็ถึงเวลาของพวกเราที่จะกระทำการ” โรเบิร์ต เรดฟอร์ด นักแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง กล่าวไว้กับ The Deseret News 


“เรามัวแต่ไปเสียเวลากับพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป ยิ่งทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อ การตกงาน และการเสียดุลเศรษฐกิจให้กับพวกต่างชาติ ทางออกเดียว คือใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพราะมีเรื่อย ๆ ไม่ต้องกังวลเรื่องราคา”


“ดวงอาทิตย์มีแต่ทำให้เราได้กับได้ ประชาชนจะไม่ต้องกังวลเรื่องบิลค่าไฟแพงอีกเลย”


แน่นอน การดึงพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้งานในทุกครัวเรือนของสหรัฐฯ ย่อมเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะในยุค 70 ที่ยังไม่มีการวิจัยและพัฒนาโซลาร์เซลล์ตามครัวเรือน แต่เมื่อกระแสกดดันมากมายขนาดนี้ ย่อมทำให้คาร์เตอร์ต้องทำอะไรบางอย่างที่ “ไม่เปลืองตัว” จนเกินไป


คำตอบที่ได้ก็คือ การตั้ง “ซัน เดย์” เป็นวันเชิดชูพลังงานดวงอาทิตย์ แบบที่สหประชาชาติเคยตั้ง “เอิร์ธ เดย์” มาแล้ว


เรื่องนี้ ถึงขนาดว่าต้องผ่านสภาคองเกรส เพื่อให้ออกเป็น “กฎหมายทั่วไป” โดยผลสรุปออกมาว่า จะให้ “ทุกวันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี” เป็นวัน ซัน เดย์ โดยออกเป็นประกาศ [คล้ายราชกิจจานุเบกษา] เนื้อความ ดังนี้


“บัดนี้ ข้าพเจ้า จิมมี คาร์เตอร์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ขอประกาศว่า 3 พฤษภาคม เป็นวัน ซัน เดย์ นับตั้งแต่บัดนี้ และขอให้ประชาชนถือเอาวันนี้ทำกิจกรรมและรณรงค์ให้เหมาะสมแก่วัน ซัน เดย์ และขอให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติตามนี้ต่อไป”


ในวัน ซัน เดย์ นี้ ส่วนใหญ่ชาวอเมริกันมักจะออกมารณรงค์เรื่องพลังงานทดแทน มีการจัด Forum พูดคุย รวมถึงปลูกฝังให้เยาวชนตระหนักถึง “คุณค่าของพลังงาน” ว่ามีความสำคัญต่อชีวิตมากกว่าที่คิด


เมื่อมาถึงตรงนี้ ทำให้คิดได้ว่า วัน ๆ หนึ่งอย่าง 3 พ.ค. ซึ่งเป็นวันเสรีภาพสื่อด้วยนั้น แม้ใครหลายคนอาจจะคิดว่าไม่สำคัญ หากแต่พิจารณาตาม “ประวัติศาสตร์” แล้ว จะเห็นได้ถึงที่มาที่น่าสนใจไม่น้อย


แหล่งอ้างอิง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง