รีเซต

ดาวเทียมขับดันด้วยไอน้ำ ครั้งแรกของโลกจากญี่ปุ่น

ดาวเทียมขับดันด้วยไอน้ำ ครั้งแรกของโลกจากญี่ปุ่น
TNN ช่อง16
27 มีนาคม 2566 ( 15:33 )
117

บริษัท เพล บลู (Pale Blue) สตาร์ตอัปด้านพลังงานขับดันด้วยไอน้ำจากประเทศญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จในทดสอบติดตั้งระบบขับดันด้วยไอน้ำ (Vapor Propulsion) กับดาวเทียมสตาร์ สเฟียร์ 1 (Star Sphere 1) หรืออาย (EYE) ดาวเทียมขนาดจิ๋ว (Nano-Satellite) ของบริษัท โซนี่ (Sony) และปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งทำให้ดาวเทียมดวงนี้กลายเป็นดาวเทียมขนาดจิ๋วที่ใช้ระบบขับดันด้วยไอน้ำเป็นดวงแรกของโลก


โดยปกติเมื่อดาวเทียมถูกปล่อยจากฐานยิงขึ้นสู่วงโคจรแล้วตัวดาวเทียมเองจะต้องมีระบบขับดันภายในตัวเองเพื่อเคลื่อนตัวทำมุมหรือเปลี่ยนทิศทาง ทั้งหมดนี้เพื่อการรักษาระดับวงโคจรที่กำหนดไว้ โดยระบบนี้จะเป็นเชื้อเพลิงเคมีหรือระบบเครื่องยนต์กำลังสูง 


แต่เทคโนโลยีใหม่ของดาวเทียมอาย (EYE) เป็นการเริ่มทดสอบระบบขับดันด้วยไอน้ำ ซึ่งผลการทดสอบเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมพบว่า การขับดันดังกล่าวสามารถสร้างแรงขับดันได้เป็นระยะเวลาประมาณ 2 นาที 


ดังนั้น ทางบริษัท เพล บลู ได้ต่อยอดให้การวิธีการนี้ใช้งานได้จริงแล้วเป็นที่เรียบร้อย ด้วยโมดูล (Module) ขนาดกว้าง 9 เซนติเมตร ยาวและสูง 12.1 เซนติเมตร น้ำหนัก 1.4 กิโลกรัม ใช้พลังงานทั้งหมด 22 วัตต์ (W) และสร้างแรงขับดันได้ 5.6 มิลลินิวตัน (mN) ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานกับดาวเทียมขนาดจิ๋ว


โดยดาวเทียมขนาดจิ๋วอาย (EYE) ถูกยิงขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจากจรวดขนส่งฟอลคอน 9 (Falcon 9) ของสเปซเอกซ์ (SpaceX) ร่วมกับดาวเทียมอื่น ๆ อีก 113 ดวง ในลักษณะการทำปฏิบัติการที่ใช้จรวดขนส่งร่วมกัน (Rideshare Mission) โดยดาวเทียมขนาดจิ๋วอาย ได้ติดตั้งกล้องสำหรับการทำงานตามที่กำหนด ที่ระดับความสูงประมาณ 500-600 กิโลเมตร เหนือพื้นโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 


ปัจจุบันดาวเทียมขนาดจิ๋วอาย (EYE) เหลือขั้นตอนเพียงแค่การเคลื่อนตัวไปสู่ระดับวงโคจรที่ต้องการด้วยระบบขับดันแบบใหม่และคาดว่าจะเริ่มปฏิบัติภารกิจภายในปีนี้ โดยดาวเทียมมีอายุการทำงานของทั้งระบบขับดันและตัวดาวเทียมอยู่ที่ 2.5 ปี



ที่มาข้อมูล Interesting Engineering

ที่มารูปภาพ Pale Blue

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง