รีเซต

เกิดจากถูก"เห็บ"กัด? ญี่ปุ่นพบโรคติดเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ ติดจากสัตว์สู่คน

เกิดจากถูก"เห็บ"กัด? ญี่ปุ่นพบโรคติดเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ ติดจากสัตว์สู่คน
TNN ช่อง16
7 ตุลาคม 2564 ( 17:22 )
185

วันนี้( 7 ต.ค.64) คณะนักวิจัยญี่ปุ่น ค้นพบไวรัสตัวหนึ่งที่ไม่เป็นที่รู้จักมาก่อน โดยจากการศึกษาชี้ว่า ไวรัสอุบัติใหม่เรียกว่า ไวรัสเยโซ (Yezo virus) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดไข้เลือดออกไครเมียน-คองโก ซึ่ง ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ ท้องเสีย มีเลือดออกใต้ผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ และสัมพันธ์กับเชื้อโรคแกะไนโรบี โดยเคสแรกที่เกี่ยวข้องกับไวรัสใหม่นี้ ปรากฏเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี 2019 หลังจากชายวัย 41 ปีคนหนึ่งเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ด้วยอาการไข้และปวดขา หลังถูกเห็บกัดระหว่างเข้าไปเดินเล่นในป่าบนเกาะฮอกไกโดทางภาคเหนือของญี่ปุ่น 

โดยผลตรวจออกมาเป็นลบ ในการตรวจหาเชื้อไวรัสที่มีเห็บเป็นพาหะทุกๆโรค เท่าที่รู้จักกันอยู่ในขณะนั้น และต่อมาชายคนดังกล่าวได้ออกจากโรงพยาบาล หลังพักรักษาตัวนาน 2 สัปดาห์ ในปีถัดมามีคนไข้อีกคนหนึ่ง เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการคล้ายกัน ภายหลังถูกเห็บกัดเช่นกัน

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮอกไกโด ซึ่งรวมถึงนายแพทย์เคอิตะ มัตสึโนะ นักไวรัสวิทยาแห่งสถาบันควบคุมโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ได้วิเคราะห์ทางพันธุกรรมตัวอย่างเลือดของคนไข้ 2 รายนี้ และค้นพบไวรัสชนิดใหม่นี้ โดยนำเสนอในวารสาร Nature Communications ในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่า ไวรัสเยโซนี้ เป็นส่วนหนึ่งของไวรัสสกุลหนึ่ง ที่เรียกว่า ไนโรไวรัส ซึ่งมีด้วยกัน 15 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์ในนั้นสามารถก่อการติดเชื้อในมนุษย์ 

ไวรัสใหม่ "เยโซ" นี้ อาจทำให้ผู้ป่วยมีไข้สูงถึง 39 องศาเซลเซียส และลดจำนวนเกล็ดเลือดและเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งมีหน้าที่ในการเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค เพื่อป้องกันร่างกายให้ปลอดภัย

นักวิจัย ยังได้วิเคราะห์ตัวอย่างเลือดของคนไข้รายอื่นที่มีอาการแบบเดียวกัน ซึ่งเริ่มพบเห็นมาตั้งแต่ปี 2014 และพบร่องรอยของ เยโซ ในคนไข้อีกอย่างน้อย 5 คน รวมแล้วมีอย่างน้อย 7 คน ที่ติดเชื้อไวรัสใหม่นี้ในญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2014 แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต 

นักวิจัยยังพยายามค้นคว้าหาแหล่งที่มาของไวรัสใหม่นี้ โดยที่พบอาร์เอ็นเอ (RNA) ของไวรัสเยโซ ในเห็บ 3 สายพันธุ์ บริเวณตอนเหนือของเกาะฮอกไกโด นอกจากนี้ ยังพบแอนติบอดีต้านไวรัสตัวนี้ในกวางซีกาฮอกไกโด และตัวแรคคูนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย ทำให้มีความจำเป็นต้องแกะรอยหาเชื้อโรคติดเชื้อใหม่นี้ ในพื้นที่อื่นนอกจากฮอกไกโด เพราะมีความเป็นไปได้ที่ไวรัสตัวนี้ อาจแพร่กระจายเชื้อทั้งในมนุษย์และสัตว์ทั่วประเทศญี่ปุ่น


ภาพประกอบจาก getty

          

ข่าวที่เกี่ยวข้อง