“ขีปนาวุธเกาหลีเหนือ” เครื่องมือต่อรองนานาชาติ ? และการผูกสัมพันธ์รัสเซีย

เมื่อพูดถึงเกาหลีเหนือ แน่นอนว่า เราต้องนึกถึง “ขีปนาวุธ” ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก็คงเคยเห็นภาพการทดสอบขีปนาวุธชนิดต่าง ๆ จากประเทศนี้ จนเรียกได้ว่า แทบจะเป็นเรื่องปกติของที่นี่
แม้จะถูกนานาชาติคว่ำบาตร แต่ “คิม จองอึน” ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ ก็ประกาศมุ่งมั่นจะพัฒนาโครงการนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศได้ขึ้นเป็น “มหาอำนาจนิวเคลียร์”
เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธครั้งที่ 4 ในปี 2025
ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม เกาหลีเหนือเพิ่งได้ทำการทดสอบขีปนาวุธยุทธวิธีพิสัยใกล้ ฮวาซอง-11 และปืนใหญ่พิสัยไกล เพื่อเตรียมความพร้อมทางทหารให้เข้มงวดยิ่งขึ้น และย้ำถึงความจำเป็นในการขยายบทบาทของกองกำลังนิวเคลียร์ทั้งในสถานการณ์ยับยั้ง และการต่อสู้
การทดสอบครั้งนี้ นับได้ว่า เป็นการทดสอบครั้งที่ 4 ของปี 2025 หลังจากยิงทดสอบครั้งแรก เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยหลายฝ่ายมองว่า การยิงทดสอบขีปนาวุธ อาจเป็นการทดสอบ เพื่อส่งอาวุธออกไปยังรัสเซีย เนื่องจากตอนนี้ เกาหลีเหนือก็ได้เข้ามามีบทบาทบนความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครนแล้ว
มุ่งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ดันประเทศก้าวสู่มหาอำนาจ
สิ่งที่เกาหลีเหนือให้ความสำคัญ และกำลังพัฒนาอย่างหนัก นั่นคือ “อาวุธนิวเคลียร์” ที่ตัว คิม จองอึน เอง ก็ประกาศจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปสู่การเป็น “มหาอำนาจนิวเคลียร์” ให้ได้ และบ่อยครั้งก็มีการขู่ว่า จะใช้อาวุธนิวเคลียร์อยู่เรื่อย ๆ
การทดสอบขีปนาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ เกิดขึ้นทั้งหมด 6 ครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2006 หลังเกาหลีเหนือ ถอนตัวออกจากสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ หรือ NPT ได้เพียง 3 ปี โดยครั้งล่าสุด ที่มีการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเกิดขึ้นในปี 2017 สร้างความหวั่นวิตกบนคาบสมุทรเกาหลีอย่างมาก
ด้านสมาคมควบคุมอาวุธ ประมาณการณ์ไว้ว่า ปี 2024 เกาหลีเหนือมีหัวรบนิวเคลียร์ประมาณ 50 ลูก
ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญจากโครงการนโยบายนิวเคลียร์ของมูลนิธิคาร์เนกี เผยว่า เกาหลีเหนืออาจมีอาวุธนิวเคลียร์ครอบครองมากถึง 300 ลูกภายในอีก 10 ปีข้างหน้า
ทำไมเกาหลีเหนือต้องพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
คำถามต่อมาคือ ทำไมเกาหลีเหนือถึงต้องทุ่มเทให้กับการพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์
สำนักข่าว BBC เผยว่า เกาหลีเหนือขาดแหล่งเงินทุน และอาวุธ หลังสหภาพโซเวียตล่มสลายลงในปี 1991 เมื่อประเทศขาดเงินทุน และประสบกับภัยพิบัติหลายครั้ง ทำให้สถานการณ์เกาหลีเหนือเลวร้ายลง ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนอาหารรุนแรงต่อเนื่องหลายปี ทำให้ประชาชนเสียชีวิต 3 ล้านคน
เมื่อถูกนานาชาติโดดเดี่ยว เกาหลีเหนือจึงหันไปลงทุนด้านอาวุธนิวเคลียร์เพื่อความอยู่รอด
ส่วนทางด้าน Heritage Foundation ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยนโยบายสาธารณะแนวอนุรักษ์นิยมของอเมริกา วิเคราะห์ถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
1. ต้องการปกป้องระบอบการปกครอง เกาหลีเหนือเชื่อว่า การมีอาวุธนิวเคลียร์จะช่วยปกป้องพวกเขาจากการโจมตีได้ โดยเฉพาะสหรัฐฯ
2. มีไว้เพื่อเป็นอำนาจต่อรองกับนานาชาติ แม้ตัวผู้นำคิมจะบอกว่า อาวุธนิวเคลียร์ไม่ได้มีไว้เพื่อการต่อรอง แต่ออกแบบมาเพื่อใช้ในการรบ แต่การข่มขู่ว่า จะใช้อาวุธนิวเคลียร์หลายครั้งของเกาหลีเหนือ ก็ทำให้หลายชาติต่างเฝ้าระวังเรื่องนี้อย่างมาก และบางครั้งเกาหลีเหนือก็ได้รับในสิ่งที่ตนเองต้องการ
3. เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับผู้นำ การมีอาวุธนิวเคลียร์ จะทำให้ภาพลักษณ์ของผู้นำดูแข็งแกร่ง และสำคัญต่อประเทศ
4. เพื่อทำให้พันธมิตรสหรัฐฯ-เกาหลีใต้อ่อนแอลง หากสหรัฐฯ กลัวที่จะถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ เกาหลีเหนือหวังว่าสหรัฐฯ อาจลังเลที่จะปกป้องเกาหลีใต้
เกาหลีเหนือ-รัสเซีย มิตรภาพใหม่บนความขัดแย้ง
ท่ามกลางความขัดแย้งโลกที่เพิ่มขึ้น 2 ชาติที่มีอาวุธนิวเคลียร์อย่าง รัสเซีย และเกาหลีเหนือ กลับผูกสัมพันธ์แน่นแฟ้นมากขึ้น
ผลจากมาตรการคว่ำบาตร จึงทำให้พวกเขาโดดเดี่ยวมากขึ้น นั่นจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัสเซีย และเกาหลีหันมาจับมือกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความต้องการร่วมกัน และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากชาติตะวัน
เกาหลีเหนือส่งทหารไปร่วมรบในสงครามยูเครน ขณะที่ รัสเซียจะส่งอาหาร, ช่วยเหลือทั้งทางการเงิน และทางทหารให้กับเกาหลีเหนือ ซึ่งคาดว่า เกาหลีเหนืออาจขอให้รัสเซียช่วยพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อบรรลุเป้าหมายของตน
โดย วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เดินทางเยือนเกาหลีเหนือด้วยตนเองเมื่อปี 2024 พร้อมลงนามบังคับใช้กฏหมายที่ให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญาความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมกับเกาหลีเหนือ ที่รวมทั้งคำมั่นที่จะให้การช่วยเหลือทางการทหารระหว่างกัน ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกโจมตี
ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ ยิ่งทำให้ทั่วโลกมองว่า เป็นความสัมพันธ์ที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงโลก เพราะอาจทำให้การสู้รบขยายตัวเพิ่มขึ้นในภูมิภาค, ท้าทายกฎเกณฑ์และระบบที่โลกใช้เพื่อรักษาสันติภาพ รวมถึงยังอาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนสหรัฐฯ และพันธมิตรให้ถือเอาความร่วมมือระหว่าง “คิม-ปูติน” อย่างจริงจัง และเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นต่อไป
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
https://www.heritage.org/insider/summer-2018-insider/why-does-north-korea-want-nukes
https://www.rt.com/news/616690-north-koreans-russia-kursk/
https://www.rfa.org/english/korea/2025/03/03/north-korea-ankit-panda-interview-nuclear-capabilities/